'ศศินันท์' ชี้กรณีฟ้อง 'โน้ส อุดม' สะท้อนปัญหาการบังคับใช้ ม.112

9 พ.ค. 2567 - 04:31

  • ‘ศศินันท์’ ชี้กรณีฟ้อง ‘โน้ส อุดม’ สะท้อนปัญหาการบังคับใช้ ม.112 ชัดเจน เอา ‘พอเพียง’คำเดียวมาตีความให้เข้าข่ายได้

Move-forward-Party-criticized-after-speaker-was-reported-in-Case-112-SPACEBAR-Hero.jpg

9 พฤษภาคม 2567 ‘ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์' สส.กรุงเทพฯ เขต 11 พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นถึงสถานการณ์การใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ล่าสุด หลังเกิดกรณีปารีณา ไกรคุปต์แจ้งความดำเนินคดีกับ ‘โน้ส’ อุดม แต้พานิช และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 4 ปีในคดีของ ‘ภาณุพงศ์ จาดนอก’ หรือ ‘ไมค์ ระยอง’ อดีตแกนนำกลุ่มราษฎร 

ศศินันท์ระบุว่า จากกรณีของโน้ส อุดม ยิ่งทำให้เห็นถึงปัญหาของการนำมาตรา 112 มาใช้ในการสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการที่ผู้มาแจ้งความดำเนินคดีจะเป็นใครก็ได้เนื่องจากอยู่ในหมวดความมั่นคง ยิ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ประชาชนฟ้องกันเอง และมีการนำมาตรานี้มาใช้ในการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยพร่ำเพรื่อเกินไป 

โดยหลักแล้ว การดำเนินคดีอาญาเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนมากที่สุด เพราะมีอัตราโทษจำคุก จึงไม่ควรถูกนำมาใช้โดยไม่จำเป็น อย่างกรณีของโน้ส อุดมเกิดจากเพียงแค่ใช้ถ้อยคำว่า ‘พอเพียง’ ซึ่งเป็นการนำคำคำเดียวมาตีความให้เป็นมาตรา 112 โดยผู้ที่จะถูกดำเนินคดีไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าการแสดงรูปแบบใดและระดับใดถึงเป็นความผิด  

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า ปกติแล้วตามหลักการดำเนินคดีอาญา อย่างน้อยคนที่ทำจะต้องรู้ว่าขณะที่กำลังทำสิ่งนั้นๆ ถือเป็นความผิด เช่น การฆ่าคนตาย แต่การบังคับใช้มาตรา 112 ที่ผ่านมาไม่ได้มีกรอบที่ชัดเจนขนาดนั้น จึงถูกตีความครอบคลุมในวงกว้างมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น การกระทำที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรา 112 เลย ก็อาจถูกตีความให้เข้าข่ายมาตรานี้ได้  

ส่วนกรณีคำพิพากษาของภาณุพงศ์ที่ถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี ก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาการใช้มาตรา 112 เช่นกัน ทั้งในประเด็นที่กฎหมายกำหนดให้คนเริ่มต้นคดีเป็นใครก็ได้ กรอบการตีความที่กว้างมาก รวมถึงอัตราโทษซึ่งมาตรา 112 แตกต่างจากกฎหมายอาญามาตราอื่นๆ เพราะมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุก 3 ปี ทำให้ศาลไม่สามารถพิพากษาโทษที่ต่ำกว่า 3 ปีได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับในคดีอื่น ๆ เช่น คดีของอานนท์ นำภาที่ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ศาลเป็นผู้กล่าวเองด้วยซ้ำว่าเพราะกฎหมายกำหนดโทษขั้นต่ำไว้อยู่ หมายความว่าต่อให้ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นที่จะต้องจำคุก 3 ปี แต่ก็ติดที่กรอบกฎหมาย 

ศศินันท์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นถึงบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ประชาชนคาดหวังให้เกิดขึ้นในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะยังคงมีการริเริ่มคดี การดำเนินคดี การตัดสินคดี และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกมาปรามเอง ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าบรรยากาศทางการเมืองยังไม่ดีขึ้นจากเดิม  

จุดนี้รัฐบาลต้องเร่งคลี่คลายบรรยากาศ ซึ่งในฐานะที่ตนอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญนิรโทษกรรมฯ ขณะที่เรากำลังพิจารณาศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมกันอยู่ แต่บรรยากาศทางการเมืองยังไม่คลี่คลายลง เช่นนี้แล้วการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร  

“การทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้นจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเรื่องการนิรโทษกรรมด้วย เพราะระหว่างที่มีการศึกษา แต่อีกฟากฝั่งยังคงถูกกระทำหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ยังร้อนอยู่แบบนี้ จะไม่ได้นำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์อย่างที่รัฐบาลต้องการในอนาคต” ศศินันท์ กล่าว 

ศศินันท์กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกได้จริงๆ ว่ามีการเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้วจากยุคเผด็จการมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย โดยต้องกำหนดทิศทางนโยบายให้ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้เปิดกว้างให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยจะไม่ถูกปิดปากเหมือนรัฐบาลที่แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์