ยุทธวิธี ‘หน้าใหม่ ก้าวไกล’ แบ่งบทเล่น ชำแหละ ‘กองทัพ’

23 ม.ค. 2567 - 08:46

  • เปิดยุทธวิธี ‘ก้าวไกล’ ในการสร้างคน ผ่านการสร้าง ‘สส.หน้าใหม่’ ให้ขึ้นมาเป็น ‘ดาวสภาฯ’ ตามสายงานต่างๆ

  • หนึ่งในองค์กรที่ ‘ก้าวไกล’ พุ่งเป้ามานาน คือ ‘กองทัพ’ มีการจัด ‘ขบวนทัพใหม่’ แบ่งหน้าที่ระหว่าง ‘สส.หน้าเก่า - หน้าใหม่’

  • เพื่อชำแหละ ‘กองทัพ’ ที่มีความ ‘เป็นงาน’ มากขึ้น ไม่ได้เล่น ‘บทบู้’ อย่างเดียว เพื่อวางสมดุล 2 กลไก ‘รัฐสภา-ภาคประชาชน’

Move-Forward-Party-Military-Tactics-SPACEBAR-Hero.jpg

ท่าทีของ ‘ก้าวไกล’ ในการทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้าน’ โดยสมบูรณ์ ผ่านกลไกรัฐสภาเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล ‘ลดเพดาน’ ในการต่อสู้ทางการเมือง แตกต่างจากยุค ‘อดีตอนาคตใหม่’ หรือยุค ‘ก้าวไกลช่วงแรก’ พอสมควร ที่ในขณะนั้นพุ่งเป้าไปที่การ ‘ปฏิรูปสถาบันการเมือง’ ต่างๆ ซึ่งท่าทีของพรรคก้าวไกลมี ‘ความประนีประนอม’ มากขึ้น แต่ลึกๆแล้วพรรคก้าวไกลจะ ‘ลดเพดาน’ จริงหรือไม่ ต้องดูตอนเลือกตั้งครั้งต่อไป

หนึ่งในเป้านิ่งของ ‘ก้าวไกล’ คือ ‘กองทัพ’ ในอดีตเองจะมี ‘ตัวหลัก’ หลักๆ คือ รังสิมันต์ โรม , วิโรจน์ ลักขณาอดิศร , ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ในยุคอดีตอนาคตใหม่-ก้าวไกล สมัยที่แล้ว 

แต่หลังการเลือกตั้งปี 66 เกิด ‘สส.หน้าใหม่’ ขึ้นมา จำนวนมาก ก็ทำให้พรรคก้าวไกลปรับทัพใหม่ในการ ‘ผลับใบ สส.’ ให้ ‘สส.แนวหน้า’ ขึ้นไปเป็น ‘ประธานกรรมาธิการ’ ส่วน สส.หน้าใหม่ ให้ขึ้นมาเป็น ‘แกนนำใหม่’ ในสภาฯ ผ่านการอภิปราย

โดย ‘รังสิมันต์ โรม’ ขึ้นเป็น ประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ‘วิโรจน์’ ประธาน กมธ.การทหาร และ ‘ณัฐชา’ประธาน กมธ.การสวัสดิการสังคม

สำหรับ สส.หน้าใหม่ ที่ขึ้นมานำอภิปราย ได้แก่ ‘กู๊ดดี้’ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.การทหาร ที่เป็น ‘ลูกชายนายพล’ โดย ‘ชยพล’ จบเตรียมทหารรุ่น 53 ก่อนจะออกไปเรียนปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วมาทำงานวิศวกรควบคุมคุณภาพการผลิตรถยนต์ Trigo Quality Services (Thailand) Co.,Ltd. เป็นนักบินพาณิชย์ A330 การบินไทยจำกัดมหาชน และเป็นผู้ช่วย สส.ก้าวไกล

‘จอ-เอกราช อุดมอำนวย’ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.การทหาร  ที่เติบโตมาจากการทำธุรกิจส่วนตัว และเคยออกมาเคลื่อนไหวการเมืองปี 62 ในการโกนหัว-อดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน กดดันให้ให้รัฐบาลในขณะนั้น ออก พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

‘จิรัฐฏ์ ทองสุวรรณ์’ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.การทหาร เติบโตมาจากอาชีพรับเหมาก่อสร้าง มีโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ทำเครื่องมือช่าง DIY ขาย รับรีไซเคิลวัสดุเก่า

ร.อ.ท.ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ ก้าวไกล ในฐานะ กมธ.การทหาร  เคยเป็น นร.เตรียมทหารรุ่น 52 นายเรืออากาศรุ่น 59 หลังลาออกจากราชการทหาร มาลงสมัคร สส. ตั้งแต่สมัยอดีตอนาคตใหม่ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ที่ผ่านมา ‘ธนเดช’ เคยออกมาเคลื่อนไหวผ่านเพจในฐานะ ‘อดีตทหาร’ ในการตรวจสอบกองทัพ และการเสนอให้มีการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ พร้อมกับเคยเปิดกรุ๊ปแชทในไลน์ใช้ชื่อว่า ‘ก้าวใหม่ เตรียมทหาร’ ผ่านแคมเปญ ‘เหล่าทัพราษฎร’ ที่ล้อกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปี 63

‘โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ’ ในฐานะ กมธ.ความมั่นคงฯ อดีตช่างเทคนิคสายอากาศ การไฟฟ้านครหลวง เขตบางนา ก่อนเข้าสู่สนามการเมืองเป็นผู้ชำนาญการ สส. ประจำ ‘รังสิมันต์ โรม’ ผู้ประสานงานฝ่ายเครือข่ายพรรคก้าวไกล จากนั้น ‘โตโต้’ ได้ไปเคลื่อนไหวการเมือง เป็นแกนนำกลุ่มวีโว่ มาสู่การเป็น สส. สมัยแรก ในพื้นที่เขตพระโขนง-บางนา พรรคก้าวไกล

‘รอมฎอน ปันจอร์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ความมั่นคงฯ ที่มาจาก ‘สายวิชาการ’ เคยเป็นนักวิจัยอิสระ ที่เจาะลึกพื้นที่ จ.ชายแดนภาคใต้ เคยเป็นบรรณาธิการ - เจ้าหน้าที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) คณะทำงานวิชาการ โครงการความร่วมมือ Projek Sama Sama (นักกิจกรรมการเมือง จชต. เฝ้าสังเกตการณ์เลือกตั้ง) อดีตอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ภายใต้ กมธ.งบประมาณฯ สภาผู้แทนราษฎร 

ที่น่าสนใจอีกคือมีการ ‘แบ่งบท’ กันรับผิดชอบ โดยระดับ ‘ประธาน กมธ.’ก็จะลดบทบู้ลง เปลี่ยนไปเป็นบท ‘เชื่อมประสาน-เป็นตัวแทน’ มากขึ้น เช่นที่ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม เตรียมทาบทาม ‘รังสิมันต์ – วิโรจน์’ ใครคนใดคนหนึ่ง มานั่งใน ‘คณะกรรมการศึกษาการจัดซื้อเรือดำน้ำ’

อีกทั้งทีผ่านมาระดับ ‘ประธาน กมธ.’ ก็จะเชื่อมประสานกับ ‘กองทัพ’ ถึงระดับ ผบ.เหล่าทัพ เช่นที่ กมธ.ความมั่นคงฯ เคยเดินสายพบ ปลัดกลาโหม - ผบ.ทบ. - ผบ.ทหารสูงสุด มาแล้ว

ส่วนบทบู้หลักๆ ก็จะตกไปที่ สส.หน้าใหม่ ที่มีระดับ ‘ความบู้’ ต่างกัน เช่น ชนิดท้าชน ก็จะอยู่ที่ ‘จิรัฐฏ์ ทองสุวรรณ์ , ร.อ.ท.ธนเดช เพ็งสุข ส่วนมืออภิปราย เช่น ชยพล สท้อนดี , รอมฎอน ปันจอร์ , เอกราช อุดมอำนวย’ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพ ‘การจัดระบบ’ ภายในพรรคก้าวไกล ที่แบ่งแต่ละปีกชัดเจน ในการกระจาย ‘ประเด็น’ ตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ ผ่านกลไก ‘รัฐสภา’ ในการตรวจสอบ แล้วนำมาขยายผลผ่านพื้นที่โซเชียลฯ ที่พรรคถนัด แต่ในอีกแง่พรรคก้าวไกลก็พยายาม ‘จัดสมดุล’ ระหว่าง ‘กลไกลรัฐสภา-การเมืองภาคประชาชน’ เพื่อ ‘ยืนระยะตัวเอง’ ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เก็บแต้มต่อทางการเมืองในอนาคต

เรียกได้ว่า ‘พรรคก้าวไกล’ มีความ ‘เป็นงาน’ มากขึ้นนั่นเอง ส่วนจะ ‘ถูกกลืน’ หรือไม่ เป็นเรื่องของกาลเวลที่จะเป็น ‘บทพิสูจน์’ ต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์