อ่านจังหวะ ‘ก้าวไกล’ เสนอ ‘กม.นิรโทษกรรม’

29 พ.ย. 2566 - 10:10

  • นัยแอบแฝงของ 'พรรคก้าวไกล' กับการเสนอ 'กฎหมายนิรโทษกรรม' พ่วงนักโทษคดี 112 และบทวิเคราะห์ถึงสาเหตุ 'ไปไม่ถึงฝั่งฝัน' กับ 'วันวิชิต บุญโปร่ง'

Move-forward-party- proposes-an-amnesty-law-political-prisoner-SPACEBAR-Hero.jpg

การทำหน้าที่ ‘หัวหมู่ทะลวงฟัน’ ของ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในวันนี้ ดูเป็นการเปิดหน้า ‘เจรจาความ’ มากกว่า ‘เข้าหักด่าน’ แบบทุกๆ ครั้ง อาจเพราะด้วยต้องการความเห็นร่วม หรืออีกนัยคือการหยั่งเชิงยุทธ์ กรณีที่ ‘พรรคส้ม’ ซึ่งเป็นหัวหอกดัน ‘ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม’ คืนความบริสุทธิ์กับจำเลยการเมืองทั้งหลายแหล่ 

ที่กลายเป็นประเด็นหนักหน่อย คือการถามหาความเห็นกับ ‘อดีตพุทธอิสระ’ ผู้นำทางจิตวิญญาณ กปปส. ที่นอกจากจะไม่ตอบรับแล้ว ยังมีท่าทีขึงขัง จนขยายผลเป็นปมดราม่า ถูกตั้งแง่กลับ เพื่อประโยชน์ของเพื่อนพ้องที่ต้องโทษ ‘ม.112’ หรือไม่ ? 

ขณะที่ฝั่ง ‘เพื่อไทย’ ที่วันนี้ขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาล ก็มีท่วงท่าตีมึน เพราะดูเหมือน ‘คนชั้น 14’ จะผาสุกแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายนิรโทษความผิดทางการเมือง 

กระนั้น ‘หัวหน้าต๋อม’ และพลพรรคก็ยังเดินหน้าออกสื่อ อธิบายเจตจำนงอย่างไม่ลดละ จนเกิดประเด็นใหม่ในวงสนทนากับ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ เมื่อ ‘ขงเบ้งแห่งก้าวไกล’ ยกเหตุอ้างว่า ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และ ‘แกนนำพรรคอนาคตใหม่’ พร้อมจะสละสิทธิ์นิรโทษตัวเองจากคดีหมิ่นสถาบัน เป็นการลบล้างข้อครหาว่า ‘ทำเพื่อพวกพ้อง’ ?

"กรณีคุณธนาธร และแกนนำอนาคตใหม่ ที่ต้องโทษและถูกเว้นวรรคทางการเมืองอยู่แล้ว แน่นอนว่าเขาสามารถออกตัวแบบนั้นได้ เพื่อให้ภาพมันดูดี แต่ที่น่าสงสัยและน่าตั้งคำถามต่อ ทำไมทั้งคุณธนาธรหรือคุณชัยธวัช ที่เพียรสร้างชุดคำอธิบายต่างๆ ออกมา กลับไม่มีใครพร้อมจะรับลูก ตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้เลย"

เป็นปุจฉา ที่ 'ผศ.ดร.วันวิชัย บุญโปร่ง' อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกต ถึงท่าทีการแทคแอคชันของคนการเมืองในมิติต่างๆ ที่ 'ไม่เห็นด้วย' และ 'นิ่งเฉย' กรณีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล อันมีทีท่าเหมารวมไปถึงผู้โทษคดี 112 

อาจารย์วันวิชิต วิเคราะห์จากข้อสังเกตที่เขาตั้งไว้ข้างต้นว่า อาจมาจากสาเหตุเรืองความไม่ชัดเจน ของลำดับความหนักเบาของโทษ หรือรายละเอียดที่จะถูกนำมาพิจารณานิรโทษ ซึ่งยังไม่ได้รับการตกผลึก และการถูกโยงให้เป็นนัยซับซ้อน จนเกิดความเคลือบแคลงว่ามีจุดประสงค์ไปถึงจุดไหน กลางเป็นบทสรุปที่ถูกตังข้อกังขอ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักโทษมาตรา 112 อันดูแล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด 

อย่างกรณีที่ชัยธวัช ออกมาให้ความเห็นว่าต้องแยกแยะประเด็น ‘การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112’ และ ‘การนิรโทษผู้ต้องหาคดี 112’ ออกจากกัน เรื่องนี้ถือเป็นการอธิบายให้เป็นเหตุเป็นผล แต่เชื่อว่า คนที่มองต่างจากพรรคก้าวไกลอยู่ก่อนนี้ ตีขลุมไปหมดแล้ว ว่ากลุ่มผู้ต้องโทษหมิ่นสถาบัน เป็นเครื่องมือและองคาพยพที่สอดรับกับอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล คนส่วนนั้นจึงไม่ไว้วางใจในสิ่งที่ชัยธวัชพยายามอธิบาย แม้จะมีหลักการต่างๆ นานา

ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง เชื่อว่าคงไม่ร่วมสังฆกรรมกับแนวคิดนี้ เพราะปัจจุบันสถานะของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค ก็อยู่ในจุดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากฎหมายนิรโทษกรรมแล้ว การนิ่งเฉยหรือไม่เห็นด้วยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด กลับกันหากให้การสนับสนุนพรรคก้าวไกล อาจทำให้รอยแผลที่เคยมีในสมัย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ต้องอักเสบอีกครั้ง

“พูดตรงๆ นะ การเริ่มต้นมาจากพรรคก้าวไกล ทุกคนตั้งแง่ไปแล้ว ว่าก้าวไกลจะมีวาระซ้อนเร้นมากน้อยแค่ไหน ดูทรงแล้วไปต่อยาก และหากดูในมุมของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลไม่เอาด้วยแบบนี้ ไม่น่าจะไปต่อได้ เอาจริงๆ คุณทักษิณเองก็พอใจในสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้แล้ว เขาคงไม่กลับไปเล่นเกมให้ต้องเปลืองตัว เพราะก่อนหน้านี้ก็พลาดท่าจนสูญเสียอำนาจไปหลายปีกว่าจะได้กลับมาอย่างเข้าที่เข้าทาง ”

อาจารย์วันวิชิต ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า แม้นการเคลื่อนไหวนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกลจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่โดยรวมอาจไม่ได้หมายความว่าเป็นการกระทำที่สูญเปล่า เพราะถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์การปรองดอง ในรูปแบบที่ไม่มีใครเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะทำ ผ่านภาพการเปิดโต๊ะถามความเห็น กับฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม 

ซึ่งในอนาคตจะถือเป็นคุณกับพรรคก้าวไกล เพราะอย่างไรเสีย บริบททางสังคมวันข้างหน้า คงต้องตกผลึกและหารือเรื่องนี้ร่วมกันใหม่ ในอีกหลายวาระ…

ทั้งหมดทั้งมวล ที่นักวิชาการวิเคราะห์ผ่านหน้าฉากการเมือง เปรียบเสมือนเป็น 'ลางบอกเหตุ' มีแนวโน้มสูง ว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล 'อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน'... แต่ท้ายที่สุด ใครจะว่า 'คุ้มค่า' หรือไม่ กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ อยู่ที่การพิจารณา (ของท่านเอง)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์