‘ก้าวไกล’ กับ ‘112’ ไปต่อ หรือ พอแค่นี้?

2 ก.พ. 2567 - 06:27

  • แม้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยกรณีนโยบายหาเสียงมาตรา 112 ว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง รวมถึงสั่งให้ยุติการกระทำแล้ว

  • แต่ ‘พรรคก้าวไกล’ ยังไม่ออกมาพูดชัดว่า ยังจะมีกฎหมายนี้อยู่หรือไม่

  • ส่งผลไปถึงกฎหมายนิรโทษกรรม ที่แม้ว่า สภาฯ จะตั้ง กมธ.ศึกษาแล้ว แต่หลายพรรคการเมืองก็มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่า ห้ามนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดตามมาตรา 112

moveforward-move-on-or-stop-112-SPACEBAR-Hero.jpg

เป็นคำถามที่ชวนสงสัย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยกรณีนโยบายหาเสียงมาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองว่า แล้วต่อจากนี้ ‘พรรคก้าวไกล’ จะเดินหน้าต่ออย่างไร แม้ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะยืนยันไม่มีเจตนา ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ แยกสถาบันออกจากชาติ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งให้ ‘ยุติ’ การกระทำ เว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ก็ลบนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ออกทันที เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของก้าวไกล เห็นว่า เป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบขึ้นมาอยู่ในคำวินิจฉัยว่าการที่ยังมีนโยบายเรื่องนี้อยู่ในเว็บไซต์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่บทสรุปว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง

แม้จะลบนโยบายออกจากเว็บไซต์ แต่ สส. หรือสมาชิกพรรคก้าวไกล ยังมีความเห็นเกี่ยวกับ ม.112 ในสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่ง ‘ชัยธวัช’ ออกมาย้ำว่า คำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่า สส.จะเสนอแก้ไขปรับปรุง ม.112 ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น สส.พรรคใดก็ตาม ดังนั้น การที่สมาชิกพรรคบางส่วนยังมีความเห็นว่าควรแก้ไขมาตรานี้ ก็ยังสามารถทำได้

สรุปแล้ว ม.112 ‘ก้าวไกล’ ยังเอาไว้ในร่างกฎหมายหรือไม่?

แม้จะมีคำวินิจฉัยออกมาหลายวันแล้ว แต่พรรคก้าวไกลยังไม่ตกผลึกชัดเจนว่า จะไปต่อ หรือพอแค่นี้? กับ ม.112 ซึ่ง ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ โฆษกพรรคก้าวไกล บอกกับทีมข่าว SPACEBAR ว่า เบื้องต้น ‘ก้าวไกล’ ต้องรอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำวินิจฉัยรายบุคคลของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อทำความเข้าใจคำวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง แต่ส่วนตัวมองว่า คำวินิจฉัยไม่ได้ห้ามให้มีการแก้ไข ม.112 แต่เป็นการวินิจฉัยว่า เนื้อหาบางส่วนในร่างกฎหมายที่ สส.ก้าวไกลเสนอในสภาชุดที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ดังนั้นขั้นตอนหลังจากนี้คือต้องศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด และจะต้องพูดคุยกันในพรรคก้าวไกลเรื่องพื้นที่ในการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112

‘พริษฐ์’ ยังมองว่า ข้อเสนอของการแก้ไขมาตรา 112 ที่เคยพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในสังคมหลายเรื่องไม่ได้อยู่ในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เช่น การปรับลดโทษให้ไม่มีโทษขั้นต่ำ การแยกฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทออกจากอาฆาตมาดร้าย การจำกัดสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นต้น ข้อเสนอเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการแก้ไขมาตรา 112 ที่ถูกพูดคุย ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

แล้วท่าทีของพรรคการเมืองอื่น เป็นอย่างไร?

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากมีคำวินิจฉัยออกมา ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ รองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่าชัดเจนอยู่แล้วที่ไม่สามารถแก้ไขมาตรา 112 ได้ แต่ไม่ทราบว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเกี่ยวกับมาตรา 112 จะทำได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 นั้น ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอรอดูคำวินิจฉัยทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญก่อนเช่นกัน

ส่วนฟากฝ่ายค้านด้วยกันเอง อย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ไม่ขอก้าวล่วงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่อยากเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกินขอบเขต เพราะที่ผ่านมา ประเด็น ม.112 พรรคประชาธิปัตย์และพรรคก้าวไกล มีจุดยืนที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ซึ่ง ‘ประชาธิปัตย์’ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 แน่นอน 

แล้ว ‘พ.ร.บ.นิรโทษกรรม’ เกี่ยวกับ ม.112 ได้อย่างไร?

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ‘พรรคก้าวไกล’ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ‘นิรโทษกรรม’ แก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งมีข้อยกเว้น ‘ไม่นิรโทษกรรม’ แค่ 3 กรณี ได้แก่

  1. การยกเว้นการกระทำเจ้าหน้าที่รัฐที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ 
  2. คดีที่มีความผิดต่อชีวิตเว้นแต่กระทำโดยความประมาท
  3. คดีที่มีฐานความผิดตาม ม.113 หรือฐานก่อกบฏ หรือล้มล้างการปกครอง

‘ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์’ หรือทนายแจม จากพรรคก้าวไกล เคยระบุไว้ว่า แม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล จะไม่ได้ระบุถึงมาตรา 112 แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย

แต่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำเป็นต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน จะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา (กมธ.) โดยพรรคเพื่อไทย ที่ชงญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์และแนวทางที่เป็นสาระสำคัญการนิรโทษกรรมให้ได้ข้อยุติ ก่อนเสนอเป็นร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร 

ซึ่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ย้ำต่อสภาฯ ว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และโอกาสที่จะได้รับนิรโทษกรรม ไม่ควรถูกผูกขาดให้คณะรัฐประหารหรือคนที่คิดล้มล้างการปกครองอย่างเดียว ไม่ควรคิดถึงคนทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อของคนที่ทำรัฐประหาร คนได้รับผลกระทบจากนโยนบายและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง

เช่นเดียวกับ ‘กัณวีร์ สืบแสง’ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม มองว่า ญัตตินี้กำลังมาถูกทาง เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมาก โจทย์สำคัญของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ คือจะต้องระบุให้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการนิรโทษกรรมคือใครบ้าง กฎหมายนิรโทษกรรม ต้องครอบคลุมถึงการเยียวยา โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ

สมาชิกผู้อภิปรายส่วนใหญ่ ล้วนเคยเป็นผู้ที่มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงการขึ้นเวทีชุมนุมทางเมืองในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบให้ตั้งกมธ.วิสามัญฯ ศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จำนวน 35 คน มาจากทุกภาคส่วน รวมถึง ‘พรรคก้าวไกล’ ด้วย โดย กมธ.ชุดนี้ กำหนดระยะเวลาในการทำงานทั้งสิ้น 60 วัน

เงื่อนไขการนิรโทษกรรมฉบับ ‘ก้าวไกล’ จะเปลี่ยนไปหรือไม่

ตลอดระยะเวลา 60 วันหลังจากนี้ เป็นช่วงที่ กมธ.จะได้ถกเถียงกันอย่างหนัก โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ที่แม้ว่า ‘ก้าวไกล’ จะไม่ได้เขียน ม.112 ลงไปในร่างของพรรค แต่ท่าทีของพรรคการเมืองอื่น เคยประกาศชัดเจนว่า จะไม่แตะต้อง ม.112 เช่น พรรคพลังประชารัฐ ที่ย้ำจุดยืน 4 แนวทางไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม คือ

  1. การนิรโทษกรรมให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 
  2. บุคคลใดที่ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ชีวิต หรือระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  3. การนิรโทษกรรม ต้องเป็นความเห็นชอบของคนทุกฝ่าย
  4. การนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ฝ่าฝืนและทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เช่นเดียวกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ จะไม่นิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่กระทำความผิดในการที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 หรือหมิ่นสถาบัน ความผิดทุจริต และผิดอาญาอย่างร้ายแรง

กมธ.ศึกษากฎหมายนิรโทษกรรม ยังมีเวลาอีก 60 วันในการถกเถียงเรื่องนี้จนกว่าจะตกผลึก โดยเฉพาะข้อยกเว้นการนิรโทษกรรม กรณี ม.112 จะต้องถูกหยิบยกมาพูดถึงแน่นอน งานนี้ ‘ก้าวไกล’ จะไปต่อ หรือจะพอแค่นี้ คงต้องลุ้นกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์