‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีการยุบพรรคพรรคก้าวไกล ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ว่า ในวันที่ 2 สิงหาคม เวลา 15.00 น. ที่ทำการพรรคก้าวไกล ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัย ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ หัวหน้าพรรคฯ และ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฯ จะแถลงเพื่อเผยแพร่เนื้อหาในเอกสารการแถลงปิดคดีที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไป เพื่อยืนยันแนวทางการดำเนินการของพรรค โดยย้ำว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ถอดใจว่า พรรคจะถูกยุบ จึงไม่อยากให้สังคมด่วนสรุป และจะดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องพรรคฯ ในช่วงเวลาและช่องทางที่เหลือ รวมถึงยังเดินหน้าทำงานต่อ ทั้งการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่พรรคฯ มีมติส่งผู้สมัครนายก อบจ.ราชบุรี เป็นสนามแรก

พริษฐ์ ยังเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาในเอกสารการแถลงปิดคดีเบื้องต้นว่า เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน กับที่พรรคฯ ได้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อย้ำแนวทางการต่อสู้คดีของพรรคฯ 9 ข้อ ตามที่พิธาเคยแถลงไปก่อนหน้านี้ ทั้งกระบวนการยื่นเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.โดยมิชอบ และการดำเนินการของพรรคฯ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการชี้แจง และข้อสงสัยผ่านกระบวนการที่ผ่านมา

ด้าน ‘รังสิมันต์ โรม’ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงคดียุบพรรคก้าวไกลที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 7 ส.ค. ว่า ถือเป็นวันสำคัญกับพรรคก้าวไกลอย่างมากและเราเชื่อมั่นว่าถ้าว่ากันตามข้อกฎหมาย พยานหลักฐานต่างๆ กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่น่าจะนำไปสู่การยุบพรรคได้ หวังว่า จะเกิดขึ้นแบบนี้ แต่ด้วยความที่เป็นคดีสำคัญและเป็นคดีความที่สังคมเองก็จับตามอง เพราะพรรคก้าวไกลในปีพ.ศ.นี้ เป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในสภาฯ ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนกว่า 14 ล้านคน ดังนั้นการที่พรรคการเมืองถูกยุบง่ายๆ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยอยากเห็น สังคมไทยเห็นการยุบพรรคมามากมายพอแล้ว และพบแต่เรื่องความขัดแย้งใหม่ การยุบพรรคการเมืองควรหมดไปได้แล้วจากพ.ศ.นี้ จึงคาดหวังวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะเป็นวันที่สังคมไทยจะไม่มีการยุบพรรคอีกต่อไป
ส่วนการเตรียมพรรคสำรองหากกรณีศาลยุบพรรคก้าวไกลจริง และได้เช็กชื่อ สส.ของพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องการเตรียมเชื่อว่า เราสามารถดูได้จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่เคยถูกยุบ รวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไม่ใช่เรื่องที่ทุกฝ่ายคาดหมายได้ยากว่า เราต้องจัดการอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่พรรคก้าวไกลอยากบอกสังคมคือการยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้มีสิทธิ์มีเสียง เพราะประชาชนให้การสนับสนุน ดังนั้นหากพรรคการเมืองถูกทำลายลง ไม่สามารถมีพื้นที่ต่อไปในสังคมหรือในวงการการเมืองได้ ก็ควรจะมาจากการที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ขอให้การยุบพรรคเกิดขึ้นโดยประชาชน
“การยุบพรรคโดยกระบวนการศาลสำหรับผมในพ.ศ.นี้ควรจะหมดไปได้แล้ว เราควรที่จะให้ประชาชนเป็นคนวินิจฉัยเองว่า นโยบายแบบไหน พรรคการเมืองแบบไหน ที่เขาต้องการ”
รังสิมันต์ กล่าว
สำหรับกรณีที่ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความพร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่นั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า เป็นแค่การพูดถึงความพร้อมทั่วไป เท่านั้นแต่เบื้องต้นวันที่ 7 ส.ค.นี้อยากให้สังคมโฟกัสว่า ไม่ควรมีการยุบพรรคอีกแล้ว
“วันนี้การยุบพรรคยังมาไม่ถึง แต่ทุกคนพูดเหมือนกับว่าพรรคจะต้องถูกยุบแน่ ยังไงก้าวไกลก็คงต้องถูกยุบแน่นอน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็นแบบนี้ สุดท้ายการทำงานการเมืองอยู่บนพื้นฐานความกลัวการทำนโยบายต่างๆ ไม่สามารถทำได้เต็มที่ สุดท้ายนโยบายหลายอย่าง ต้องไปดูข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย ไม่ใช่ทำนโยบายต่างๆ ได้ ต้องทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยให้หยุดการกระทำแล้วก็ไม่มีการกระทำใดที่บอกได้ว่าเรามีการกระทำใดเพิ่มเติมที่นำไปสู่การยุบพรรค เราไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ เมื่อไปดูกระบวนการของกกต. ก็มีปัญหาจริงๆ แต่วันนี้สังคมมาโฟกัสก้าวไกลถูกยุบ เราเองอาจจะโฟกัสก้าวไกลถูกยุบ จนลืมไปว่า มีการใช้อำนาจวิธีการบางอย่างที่อาจไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า แล้วทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย อยากให้สังคมช่วยกันโฟกัสและช่วยกันไปดูว่า กระบวนการที่กกต. ทำไปถูกต้องหรือไม่ เรารับฟังสิ่งที่ชัยธวัชแถลงต่อสื่อมวลชนและมีอัพเดทมาเป็นระยะ โดยคำถามที่สำคัญคือกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายให้ความเป็นธรรมกับเราในฐานะพรรคการเมืองและให้ความเป็นธรรมกับประชาชนที่เลือกตั้ง 14 ล้านเสียงหรือไม่”
รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ย้ำว่า ยังมั่นใจในข้อกฎหมายและเพื่อนสส.ก้าวไกลที่จะอยู่กับพรรคต่อทุกคน ส่วนในเดือนสิงหาคมที่มีหลายคดี จะมีแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างไร รังสิมันต์ กล่าวว่ากรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่วนตัวในฐานะพรรคฝ่ายค้านไม่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ แต่เมื่อเป็นแล้ว จะสิ้นสุดความเป็นนายกฯ ก็ไม่ควรเป็นโดยกลไกที่ใช้ศาล ซึ่งกรณีตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่เหมาะสม ด้วยข้อครหาที่เกิดขึ้น แต่จะถึงขนาดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้เลยหรือไม่ก็อาจจะเกินไป ส่วนตัวยังคิดว่า สุดท้ายควรใช้กระบวนการทางการเมือง เมื่อตั้งคนที่ไม่เหมาะสมไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอเป็นรัฐมนตรี ประชาชนก็ควรที่จะได้สิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์และมีมาตรการทางการเมืองตามมา ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ส่วนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนสิงหาคมและมีสมการของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมาเกี่ยวข้องนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า การเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทุกช่วง เราก็เห็นว่าสุดท้ายทักษิณไม่ได้กลับมาเลี้ยงหลาน แต่เข้ามามีบทบาททางการเมือง มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วไม่ทราบว่าสุดท้ายจะไปสุดที่ตรงไหน ทั้งนี้ ยังเห็นว่า พระอาทิตย์มีดวงเดียว ถ้าจะมีพระอาทิตย์ 2 ดวงก็ไม่รู้จะอยู่กันยังไง มันเป็นความยากที่รัฐบาลเศรษฐาต้องบริหารจัดการ เพราะความยากตรงนี้หมายถึงบรรดาข้าราชการต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลนี้ควรต้องคิดแล้วว่า ต้องฟังใคร จะมองไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือมองไปที่คำสั่งของเศรษฐา เราไม่รู้ว่าตอนนี้ใครมีอำนาจที่แท้จริงในรัฐบาลชุดนี้

ขณะที่ ‘ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงคดีการยุบพรรคพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจไปเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของ ‘ปดิพัทธ์ สันติภาดา’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่พรรคก้าวไกล เคยให้การสนับสนุนว่า ปัจจุบัน ปดิพัทธ์ ได้ย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรมแล้ว แต่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จึงค่อยมาพูดคุยกัน เพราะพรรคยังไม่ได้คิดไปถึงจุดนั้น และยังมองในแง่ดี พร้อมยังมั่นใจว่า ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ พรรคก้าวไกลจะรอดจากการยุบพรรค และยังไม่ทราบกระแสข่าวการตั้งพรรคใหม่สำรอง เนื่องจากตนเองไม่ใช่กรรมการบริหาร จึงไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจ และส่วนตัวก็ไม่อยากทราบ ซึ่งไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร และพรรคก้าวไกลจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนตัวก็พร้อมตัดสินใจดำเนินการไปตามนั้น
ปกรณ์วุฒิ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ที่มีพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อของพรรคฯ เป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเมืองให้เป็นสถาบันการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ‘ปดิพัทธ์’ นั้น เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในขณะนั้นด้วย
นอกจากนี้ ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพิ่มเติม ในวาระที่ 2 และ 3 ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (31 ก.ค.) ว่า สส.ของพรรคก้าวไกลได้มีสงวนความเห็นและคำแปรญัตติไว้ ซึ่งในการพิจารณา จะมีการพิจารณาถึงวงเงิน และวัตถุประสงค์ที่ใช้ได้
ส่วนภาพรวมฝ่ายค้านจะให้ความเห็นชอบร่างงบประมาณฯ เพิ่มเติมฉบับนี้ หรือไม่นั้น ปกรณ์วุฒิ ระบุว่า จะต้องย้อนไปที่หลักการที่ในการลงมติรับหลักการ พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้รับหลักการ ดังนั้น ร่างที่กรรมาธิการฯ ได้พิจารณากลับมา ก็ไม่ได้มีการแก้ไขใด ๆ ดังนั้น เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้รับหลักการในวาระแรก จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้ความเห็นชอบกับร่างงบประมาณฯ ที่ไม่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ได้เช่นกัน