2 เดือน ‘เมียนมา’ ระอุ! บีบจุดยืน ‘ไทย’ เปิดแผนรับมือ - จับตาไอโอแฝง

26 มีนาคม 2567 - 04:01

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Hero.jpg
  • 2 เดือน นับจากนี้ เหตุการณ์สู้รบในเมียนมา จะยิ่งระอุมากขึ้น ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ ก่อนจะสิ้นฤดูแล้ง เข้าสู่ฤดูฝนที่จะมีข้อจำกัดในการสู้รบ โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนมี ‘ทหารเมียนมา’ หลบหนีการสู้รบเข้ามาฝั่งไทย

  • สถานการณ์เช่นนี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ของไทย วางแผนรับมือ ‘แนวชายแดน’ อย่างไร รวมทั้งสถานการณ์ภายในเมียนมา ที่มีการเรียก ‘เกณฑ์ทหาร’ ด้วย

  • มีรายงานว่า ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ก็จับตาท่าทีของ ‘ไทย’ เช่นกัน เพราะมีการเคลื่อนไหวของ ‘กลุ่มต่อต้าน’ ในไทย

  • เวทีนานาชาติก็กดดัน ‘ไทย’ ถึงการแสดงท่าที-จุดยืนต่างๆ ต่อ ‘เมียนมา’ ส่องบทบาท ‘กระทรวงการต่างประเทศของไทย’ มีท่าทีและบทบาทอย่างไร

การสู้รบภายในเมียนมายังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง หลายพื้นใกล้กับ ‘ชายแดนไทย-เมียนมา’ หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน ที่อยู่ตรงข้ามกับ รัฐคะยา รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง ของเมียนมา โดยเมื่อ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเมียนมากับฝ่ายต่อต้าน โดยกองกำลังกอทูเล นำโดย พล.อ.เนอดา เมียะ ลูกชาย นายพลโบเมียะ ร่วมกับทหารเคเอ็นยู และ กองกำลังปกป้องประชาชน (พีดีเอฟ) เข้าโจมตีฐานที่มั่นทางทหารของเมียนมา ที่อยู่ตรงข้ามบ้านหนองหลวง-บ้านเปิงเคิ่ง ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยมีทหารเมียนมาหนีเข้ามาฝั่ง ซึ่งทหารไทยได้ทำการควบคุมตัวและยึดอาวุธ ซึ่งล่าสุดส่งตัวกลับไปยังเมียมาแล้ว 

ตามแนวทางของฝั่งไทยวางตัวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและฝั่งไทยก็ถูกใช้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของทุกฝ่าย จากนั้นจะส่งกลับเมื่อเหตุการณ์สงบ แม้ว่าในฝั่งเมียนมาก็มีศูนย์ผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาภายในประเทศ (Internally Displaced People - IDPs) ทั้งบริเวณแนวชายแดนและตอนลึกของเมียนมา

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: ชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก - จ. เมียวดี ริมแม่น้ำเมย ที่ยังคงมีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมา-ชนกลุ่มน้อย

ล่าสุดเช้า 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย บริเวณพื้นที่เนะจิกง เขาตะโกโจ ต.ผาลู จ.เมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบังคับการกองพัน 300 ตรงข้ามกับ บ.แม่โกนกาน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้กองกำลังทหารเมียนมาได้ปฏิบัติการหยุดกองกำลังต่อต้านที่เข้าล้อมในพื้นที่ดังกล่าว โดยส่งอากาศยานเป็นเครื่องบินแบบ Y-12 ลาดตระเวนและทิ้งระเบิด พร้อมทั้งใช้อาวุธปืนใหญ่วิถีโค้งยิงเข้าใส่พื้นที่ฝั่งตรงข้าม

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ แบ่งเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายทหารเมียนมา ฝ่ายต่อต้าน และฝ่ายที่วางตัวเป็นกลาง เพื่อเข้าได้กับทุกกลุ่ม (ชนกลุ่มต่างๆ) สถานการณ์จึงมี ‘ความซับซ้อนสูง’ ในกองกำลังชนกลุ่มน้อยต่างๆ 

ล่าสุดเกิด ‘ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ’ ทั้งในฝั่งไทย-เมียนมา ในความพยายามดึง ‘ประเทศที่ 3’ เข้ามา ที่หวังผลทางการเมืองในเวทีสากล

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ทหารไทย ลาดตระเวนแนวชายแดน จ.ตาก ตรงข้าม จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา

แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือท่าทีของ ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ ต่อไทย แม้ว่าไทย-เมียนมาจะมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ แต่ก็มีรายงานว่า ‘พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย’ ก็จับตาจุดยืน-ท่าที ‘รัฐบาลไทย’ กับความร่วมมือไม่ให้กลุ่มต่อต้านฯ ใช้พื้นที่ในไทยเคลื่อนไหวต่อต้าน ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ เช่น แรงงานเมียนมาในประเทศไทยบางส่วน ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ได้แก่ การระดมทุน จัดกิจกรรม แสดงเชิงสัญลักษณ์ ในพื้นที่ที่มีชาวเมียนมาทำงานจำนวนมาก เช่น จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสงคราม ซึ่งที่ผ่านมา จนท.ฝ่ายไทย ก็ไม่อนุญาตให้ขัดกิจกรรมเท่าใดนัก รวมทั้งการชุมนุมเรียกร้องผ่านองค์กรสหประชาชาติของชาวเมียนมาที่อยู่ในไทย

นอกจากนี้มีรายงานว่า มีการจัดประชุมสุดยอด NCA-S EAO ครั้งที่ 7 ขององค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ 7 องค์กร ที่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. 2567 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยมี โดยมี พลเอก เจ้ายอดศึก เป็นผู้นำ อีกทั้งได้มีการออกแถลงการณ์ คือ การสถาปนา ‘สหพันธรัฐประชาธิปไตย’ พร้อมย้ำว่าจะแก้วิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีการทางการเมืองมากกว่าการทหาร

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ฐานปฏิบัติการทหารฝั่งไทย อ.แม่สอด จ.ตาก ตรงข้าม จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา

สำหรับมาตรการรับมือฝ่ายไทยตามแนวชายแดน กองทัพบก โดย กองกำลังนเรศวร ที่รับผิดชอบพื้นที่ตั้งแต่ จ. แม่ฮ่องสอน จ.ตาก ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ฝ่ายไทย-ฝ่ายเมียนมา จัดตั้ง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้กับผู้หนีภัยจากการสู้รบ 100 แห่ง ตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา 500 กิโลเมตร โดยรองรับได้ประมาณ 1 แสนคน 

สำหรับสถิติ ‘ผู้ลี้ภัยการสู้รบ’ เข้ามาฝั่งไทย ช่วง มี.ค.64-ม.ค.67 โดยศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านเมียนมา จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และกองกำลังนเรศวร รวม 50,000 คน แบ่งเป็น จ.แม่ฮ่องสอน 20,000 คน จ.ตาก 30,000 คน ซึ่งปัจจุบันได้ส่งกลับเมียนมาทั้งหมดแล้ว

ทั้งนี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ประเมินสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาจะต่อเนื่องช่วงฤดูแล้งไปอีก 2 เดือน ช่วง เม.ย.-พ.ค.67 ก่อนจะเข้าฤดูฝน โดยกองกำลังชนกลุ่มน้อยจะพยายามผลักดันทหารเมียนมาออกจาก ‘พื้นที่วางกำลัง’

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: สภากาชาดไทย ได้ส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาภายในประเทศ (Internally Displaced People - IDPs) โดยส่งมอบผ่านสภากาชาดเมียนมา

อย่างไรก็ตามต้องจับตาวันที่ 27มี.ค.นี้ จะเป็น ‘วันกองทัพเมียนมา’ ซึ่งจะมีการจัดสวนสนามใหญ่ ที่กรุงเนปยีดอ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของ ‘กองทัพเมียนมา’ จึงต้องติดตามท่าทีและแนวทาง ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ ต่อ ‘กองกำลังชนกลุ่มน้อย’ ที่กำลังสู้รบในขณะนี้ รวมทั้งยุทโธปกรณ์ที่กองทัพเมียนมามีอยู่

อีกทั้งปรากฏการณ์ล่าที่ ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ ได้เรียก ‘เกณฑ์ทหาร’ ช่วงปลายเดือน มี.ค.67 ที่เริ่มทำการแจกหมายเรียกเกณฑ์ ช่วงสงกรานต์เมียนมา ที่จะเริ่มก่อนสงกรานต์ไทย 1 เดือน แล้วจะทำการฝึกทหารใหม่ 3 เดือน จึงต้องจับตาว่ากองทัพเมียนมา จะให้ทหารใหม่ที่เกณฑ์เข้าไปทำหน้าที่ใดบ้าง เพราะมีการเกณฑ์ผู้หญิงด้วย ซึ่งที่ผ่านมากองทัพเมียนมาใช้รูปแบบ ‘สมัครใจ’ มาตลอด แต่จะเรียกเกณฑ์เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น โดยในสมัยก่อน ‘กองทัพเมียนมา’ จะใช้ชาวบ้านเป็น ‘ลูกข่าว’

Thailand-Myanmar-Conventional-Warfare-Minority-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: สภากาชาดไทย ได้ส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาภายในประเทศ (Internally Displaced People - IDPs) โดยส่งมอบผ่านสภากาชาดเมียนมา

ส่วนท่าทีของ ‘ไทย’ ในขณะนี้ก็ยึดตามมติ 5 ข้อ ในวงประชุม รมว.การต่างประเทศ อาเซียน หลังไทยถูกกนดันจากเวทีนานาชาติ ทั้งนี้เมื่อ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา สภากาชาดไทย ได้ส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาภายในประเทศ (Internally Displaced People - IDPs) ใน 3 พื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ประกอบด้วย บ้านนาบู บ้านตามันยา และบ้านไปร่ โดยส่งมอบผ่านสภากาชาดเมียนมา เหตุผลที่ให้สภากาชาด 2 ชาติดำเนินการ เพราะสภากาชาดถือเป็น ‘องค์กรกลาง’ ของทุกฝ่ายในสถานการณ์ที่มีการสู้รบ อีกทั้งมีผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre) มาร่วมเป็นสักขีพยาน และระดับเจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์ด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์