หลังศาลรัฐธรรมมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ด้วยมติ 9 : 0 ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาได้นำสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องข้อกฎหมายและแนวทางการวินิจฉัยของศาล และหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจทางการเมืองวันนี้ (8 ส.ค.) คือ การที่ ศาสตราจารย์ ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเดินทางไปร่วมเปิดโครงการ และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิแอร์พอร์ต จังหวัดสมุทรปราการ
ช่วงหนึ่งของการปาฐกถา นครินทร์ ระบุว่า ประเทศใดที่มีรัฐธรรมนูญ ต้องมีองค์ประกอบ 3-4 เรื่อง ถึงจะถือว่ามีรัฐธรรมนูญจริงๆ องค์ประกอบที่หนึ่ง คือ การจัดโครงสร้างอำนาจ การเมืองการปกครอง พูดง่ายๆ ว่าประเทศนั้นจะจัดรูปแบบรัฐบาลอย่างไร จัดชั้นการปกครองอย่างไร ซึ่งปกติจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า จะให้เป็นรัฐเดี่ยว รัฐรวม เป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นรูปแบบอย่างอื่นต้องเขียนไว้ ไม่เขียนไม่ได้
ข้อสำคัญคือต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ อำนาจถ้ารวมไว้มักนิยมว่าเป็นประเทศเผด็จการ แต่ปกติแบ่งเป็นสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่บางประเทศอาจเป็น 4 ฝ่าย หรือ 5 ฝ่ายก็ได้ เป็นลักษณะลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นๆ
ในกรณีของประเทศไทยแบ่งเป็นสามฝ่าย และในอดีตเราเคยโต้เถียงว่าจะแบ่งอำนาจเป็นกี่ฝ่ายกันดี ตอนเกิดรัฐธรรมนูญปี 40 ตอนนั้นหลักวิชาก็ยังไม่มั่นคงแน่นอน บางท่านบอกว่าปี 40 แบ่งเป็น 4 ฝ่าย แต่พอมาเป็นปี 50 และ ปี 60 แบ่งเป็นสามฝ่ายชัดเจน เพราะมีการจัดหมวดหมู่ เรื่ององค์กรตุลาการศาล ไว้เป็นการเฉพาะ แต่ในกรณีของปี 60 ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลแต่ มีหมวดเฉพาะซึ่งถือว่าน่าสนใจ เพราะไม่ได้อยู่ในหมวดตุลาการ ไม่ได้อยู่ในหมวดของศาล
“อย่างไรก็ตาม ถือแบบธรรมเนียมปฏิบัติว่าศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นองค์กรตุลาการ เป็นศาลต้องมีการแบ่งแยกอำนาจ แบ่งแยกแล้วต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน”
นครินทร์ กล่าว
องค์ประกอบสำคัญถัดมาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเกี่ยวข้องกับการพูดคุยในวันนี้ คือการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถ้ารัฐธรรมนูญของประเทศใดไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้เลย สามารถบอกได้ว่าองค์ประกอบความเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ครบถ้วน และเรามักจะถือว่าเป็นกฎหมายอย่างอื่น
กฎหมายเรื่องการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะมากหรือน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความจริงต้องบอกว่าสิทธิตามธรรมชาติที่มีอยู่มาแต่เดิม ซึ่งคนไทยมักจะคิดแบบนี้สิทธิตามธรรมชาติ
ความจริงนักกฎหมายนักทฤษฎีเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ มักพูดถึงการเกิดมามนุษย์เท่าเทียมกัน เกิดมาความเป็นตัวตนต่างๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่สำนักกฏหมายบ้านเมืองจะมองว่าสิทธิตามธรรมชาติเป็นเรื่องหนึ่ง บ้านเมืองจะรับรองหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นครินทร์ ยังตั้งคำถามชวนคิดว่า สิทธิตามธรรมชาติที่เรามี สิทธิเสรีภาพดั้งเดิมของคนไทยมีมากหรือมีน้อย และสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองมันกว่าเดิมหรือทำให้สิทธิเสรีภาพดั้งเดิมมันหายไปหรือไม่?
ก่อนบรรยายต่อว่า ความจริงสิทธิตามธรรมชาติดั้งเดิมของเรามีอยู่เยอะ เช่น สิทธิของผู้อพยพ การทำงานนอกถิ่น ซึ่งเรามักจะถือธรรมเนียมว่าเราไปที่ไหนก็จะไม่ค่อยย้ายทะเบียนบ้าน ที่เรียกเป็นประชากรแฝง ซึ่งบางประเทศเค้าไม่อนุญาตเลย
พร้อมตั้งคำถามว่า สิทธิตามธรรมชาติ กับสิทธิที่กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญรับรอง ส่วนไหนมันกว้างหรือมันแคบกว่ากัน
“ ผมมาอยู่ศาลรัฐธรรมนูญแปดปีกว่า ความจริงศาลรัฐธรรมนูญต้องถือสิทธิและเสรีภาพตามที่ศาลรัฐธรรมนูญรับรอง แต่ในบางครั้งเราก็อาจจะคุยเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ที่มีตามประเพณีก็ได้ ไม่ได้มีข้อห้ามอันใดที่จะต้องคุยเรื่องสิทธิและเสรีภาพแท้ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง เราเปิดช่องให้เราคุยได้ ”
นครินทร์ กล่าว
นครินทร์ ยังพูดถึงความตื่นตัวและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของประชาชน นักวิชาการ หรือชาวบ้านทั่วไปมีความตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้มากน้อยแค่ไหน หากท่านถือว่าท่านมีสิทธิ์ แต่หน่วยงานของท่าน หรือของรัฐบอกว่าไม่ให้อันนี้คือปัญหา
พร้อมยกตัวอย่างเรื่องการต่อเติมบ้านมาอธิบายว่า ตามกฎหมายการต่อเติมบ้านต้องขออนุญาตหน่วยงานรัฐ แต่คนไทยส่วนใหญ่มักทำไปเลย โดยไม่เคยไปขออนุญาต และจะมีข้อพิพาทต่อเมื่อมีมีปัญหากับข้างบ้าน จนมีเรื่องร้องเรียนถึงเจ้าหน้าที่ปกครอง และบางครั้งต้องไปจบที่ศาลปกครอง หรือศาลแพ่ง ยังไม่เคยขึ้นมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้วมันมีช่องที่จะขึ้นมายังศาลรัฐธรรมนูญได้
“ ผมไม่ได้ชี้ช่องให้ท่านฟ้องนะครับ จะมีช่องขึ้นมาศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อเมื่อท่านยื่นขอที่ศาลปกครอง ว่าการที่เจ้าหน้าที่ บทบาทกฎหมายของรัฐที่รัฐรับรอง มันทำให้สิทธิของท่านน้อยลง หรือสิทธิของท่านหายไป แต่ต้องอธิบายให้ชัดเจนนะครับว่า ว่าท่านเดือดร้อนอย่างไร เป็นผู้ที่ถูกละเมิดโดยคำสั่งของศาลปกครองอย่างไร เรื่องนั้นจะทะลุจากศาลปกครองมายังศาลรัฐธรรมนูญเลย ”
นครินทร์ กล่าว
แต่คนที่เขียนคำร้องต้องเข้าใจ ไม่ใช่แค่การแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ แค่หลักวิชา ความเห็นแนะนำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่ท่านประสบจากการกระทำของฝ่ายบริหาร หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำให้เกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากกฎหมาย เรื่องแบบนี้ขึ้นมายังศาลรัฐธรรมนูญได้
“เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 60 จึงมีช่องพิเศษอีกช่องหนึ่งเรียกว่า มาตรา 213 เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องตรง การร้องตรงเป็นเรื่องใหม่ ผมบอกท่านเลยนะครับ ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญใดมาก่อนในไทย ปี 60 นี่ชัดเจน มันเป็นคล้ายๆ การร้องทุกข์กับศาลรัฐธรรมนูญว่าประชาชนเดือดร้อนอะไร”
นครินทร์ กล่าว

นครินทร์ ยังระบุว่า ถ้าประชาชนทุกข์เพราะสิทธิเสรีภาพของท่านได้รับผลกระทบ ความจริงผลกระทบวันนี้ก็มากมายอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การตั้งถิ่นฐาน การตั้งบ้านเรือน การตั้งนิคมอุตสาหกรรม เยอะมากมาย เพราะฉะนั้นคดีความทั้งหลาย ปกติมันจะมีข้อพิพาทของบ้านเมืองอยู่แล้ว แต่ในกรณีของประเทศไทย เข้าใจว่าหน่วยการปกครอง หน่วยบริหารของประเทศไทย มีความสามารถมากพอที่จะทำให้ทุกอย่างมันสงบ หรืออย่างน้อยก็ยุตติลงได้ และคนไทยถ้ามีปัญหามาก ย้ายบ้าน ไม่อยู่แล้ว ถ้าเดือดร้อนมากก็อย่าไปต่อสู้เลย ย้ายถิ่นฐานไป
“เราจะต่อสู้ ต่อเมื่ออะไรครับ ย้ายไปไหนไม่ได้ ถ้าย้ายไปไหนไม่ได้แบบนั้นเรียกว่าต่อสู้กันจนตัวตาย ถ้ายังย้ายได้คนไทยก็ย้ายไปเรื่อย พอย้ายไปเรื่อยปัญหาก็ถูกระงับไปโดยปริยาย”
นครินทร์ กล่าว
นครินทร์ ย้อนให้เห็นภาพว่า ก่อนปี 2540 ก่อนมีศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าสิทธิและเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถนำไปฟ้องร้องต่อหน่วยงานได้ ปัญหาอยู่ตรงนี้ แต่หลังจากปี 2540 เป็นต้นมา สิทธิเสรีภาพทุกประการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเป็นมูลเหตุที่ทำให้ท่านสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญรัฐในเรื่องเรื่องสิทธิ์และเสรีภาพได้
นอกจากนี้ นครินทร์ ยังยกตัวอย่างเรื่องการให้อำนาจสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญไทย ที่ขยายตัวออกไปกว้างกว่าในหลายประเทศ ผ่านเรื่องเล่าที่เขาได้พูดคุยกับนักวิชาการต่างประเทศว่า ประเทศไทยให้สิทธิเรื่องการเรียกร้องค่าชดเชย กรณีตัดสินคดีความผิด ฟ้องแล้วเป็นแพะ โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องขอค่าเสียหายจากรัฐได้ แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่สามารถทำได้ หากตัดสินผิดก็ปล่อยไป ไม่มีค่าชดเชยอะไร
“ผมพูดเรื่องนี้เรื่องเดียวเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญไทยได้รับรับรองสิทธิและเสรีภาพ ของประชาชนคนไทยไว้มากมายพอสมควร อาจจะไม่มากที่สุดแต่ก็มากพอสมควร และบางเรื่องรับรองไว้ แม้กระทั่งสิทธิในการเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐ ในสิ่งที่รัฐบาลยุโรป รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ก็ไม่เคยให้ ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิการให้ค่าชดเชย จากผู้ที่ต้องคำพิพากษา แล้วภายหลังพบว่าผู้ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกนั้น เป็นความผิดพลาดของรัฐเอง ผมถือว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพที่มหัศจรรย์เหมือนกัน ที่มาปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญประเทศไทย รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการปกครองท้องถิ่น ก็มีอยู่มากพอสมควร”
นครินทร์ กล่าว
นครินทร์ อธิบายเสริมว่า ความจริงการปกครองตนเอง ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพอย่างหนึ่ง เช่น การเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่นายกฯ ไปเป็นสมาชิกสภา ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพในการปกครองตนเอง ก่อนปิดท้ายการปาฐกถาพิเศษด้วยเรื่องการร้องของประชาชนตามมาตรา 49 ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ข้อมูลเสริม :
กฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ถูกจัดอยู่ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ระบุไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

นครินทร์ เกริ่นนำว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าคือเรื่องไหน เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นปี ช่วงเดือนมกราคม ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อวาน (7 ส.ค.) มีคนมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงต้องร้องอัยการสูงสุด ซึ่งเขาใช้สิทธิ์ตามมาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องและตัดสินไป ซึ่งมีผลผูกพันกระทั่งถึงเรื่องเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.)
“บุคคลเพียงคนเดียวนะครับ ร้องว่ามันมีการใช้สิทธิ์ ของคณะบุคคลอื่น และใช้สิทธิ์ของคณะบุคคลอื่น มาละเมิดหลักการปกครองของประเทศ พูดง่ายๆ ว่าท่านอยู่ในหมู่บ้าน ทำมาหากินอยู่ มีคณะบุคคลในหมู่บ้านมาจัดงานหรือเปิดห้างสรรพสินค้าใหญ่ มาจัดงานหรือจัดกิจกรรมอะไรก็ตาม แล้วท่านก็อ้างว่าการกระทำของคณะบุคคลนั้น มาทำลายหลักการปกครองในหมู่บ้านของท่าน”
นครินทร์ กล่าว
นครินทร์ ยังระบุว่า ในมุมมองส่วนตัว เรื่องแบบนี้ควรมีคดีความด้วยสักที และการพูดแบบนี้ ไม่ได้ต้องการยุให้ท่านฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ แต่มันเกี่ยวข้องกับการวางผังเมือง เพราะว่าการจัดตั้งห้างสรรพสินค้า ในเวลานี้ถือเอาความสะดวกของนายทุนบริษัทใหญ่ใหญ่ทั้งสิ้นโดยไม่ดูความสะดวกของประชาชนรายเล็กรายน้อย ซึ่งคล้ายๆ กัน
“เพราะฉะนั้น คำร้องตามมาตรา 49 ผมไม่อยากพูดรายละเอียดของคดีนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าเอาเรื่องเก่ามาฟ้อง แต่มันผ่านมาแล้วผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคม”
นครินทร์ กล่าว
นครินทร์ ย้ำว่า ต้องการชี้แจงให้ทราบว่าอันนี้เป็นสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญไทยรับรอง เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญต้องมีองค์ประกอบในการจัดรูปแบบการปกครอง อำนาจส่วนต่างๆ วางรูปแบบรัฐบาล วางรูปแบบของรัฐว่าเป็นไปอย่างไร แบ่งแยกอำนาจตรวจสอบอำนาจ รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
โดยสิทธิเสรีภาพนั้น ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนจะมีผลเป็นรูปธรรมจริงจังอย่างไร ขึ้นอยู่กับท่าน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถดำเนินคดีเรื่องต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ศาลไม่สามารถหยิบเรื่องนั้นมาดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง คนที่จะหยิบมาได้คือพวกท่าน คือบรรดาองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กกต. , ป.ป.ช. ต้องมีองค์กรอื่นช่วยดำเนินคดีให้
“ ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญของเรานั้น จะบอกว่าสมบูรณ์แบบแท้จริงก็คงจะไม่ใช่ แต่ผมมองในแง่ของความก้าวหน้าในแง่ของตัวบทกฎหมาย รัฐธรรมนูญของเราก็มีพัฒนาการหนทางของเรา และสิทธิเสรีภาพที่เรามีอยู่ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าศึกษาน่าพูดคุยกัน ”
นครินทร์ กล่าว
ก่อนจบการปาฐกถา นครินทร์ ระบุว่า ผมหวังว่าคดีที่มาจากประชาชน น่าจะเพิ่มสีสันทำให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้กว้างขวางนี้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนได้ด้วยตัวเอง สิทธิเสรีภาพที่เขียนไว้มันมีผลอย่างไร จะมีชีวิตหรือไม่มีผลอย่างไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ไม่ใช่อยู่ที่องค์กรสูงสุด องค์กรสูงสุดเพียงแค่คอยดูให้บ้านเมืองประคับประคองไปได้เท่านั้น
พร้อมย้ำว่าศาลไม่สามารถริเริ่มคดีคดีได้ด้วยตัวเอง ศาลจะดำเนินคดีได้ต่อเมื่อมีคำร้อง และคำร้องต้องมาจากท่านเอง ท่านต้องประสบกับความเดือดร้อน ไม่สามารถเยียวยาช่องทางอื่นได้ ท่านสามารถร้องศาลรัฐธรรมนูญได้