‘ก้าวไกล’ ซัด 7 มาตราการสางปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’ ไม่ตอบโจทย์

1 ส.ค. 2567 - 05:56

  • ‘อนุ กมธ.สางปัญหาปลาหมอคางดำ’ เชิญหน่วยงานถกข้อกฎหมาย

  • ‘ณัฐชา’ ซัด 7 มาตราการ ไม่ตอบโจทย์ ชี้เสียหายเฉียดหมื่นล้าน

  • บี้ ‘นายกฯ’ เร่งแก้ปัญหา อย่าให้ซ้ำรอยเข้ากลีบเมฆแบบ ‘หมูเถื่อน’

Nattacha-criticizes-about-measures-to-solve-blackchin-tilapia-problem-SPACEBAR-Hero.jpg

ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่องสำหรับประเด็นแก้ปัญหาการระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ โดยล่าสุด ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยว่า ทาง กมธ.ได้เชิญสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึง วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาพูดคุยเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะสามารถดำเนินการได้ (อย่างไรก็ตาม วิษณุ ไม่ได้มาร่วมประชุม)

เนื่องจากประชาชนเตรียมที่จะฟ้องหน่วยงานภาครัฐ หากหน่วยงานยังนิ่งนอนใจ ไม่ดำเนินการใด ๆ ก็ต้องแบกความรับผิดชอบและภาษีของประชาชน กมธ.จึงต้องเดินหน้าเพื่อหาต้นตอสาเหตุของเรื่องนี้ให้ได้ โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปเรื่องกฎหมายทั้งหมด และจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการทั้ง กรมประมง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วน 7 มาตรการของหน่วยงานภาครัฐ งบประมาณ 450 ล้านบาท ผมมองว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะเป็นสิ่งที่สังคมทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขารอคอย คือต้นตอสาเหตุ และการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกร ซึ่งเรายังไม่ได้ยินความชัดเจนจากฝ่ายบริหารเลย

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

ณัฐชา ย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างมหาศาล ไม่สามารถปฏิเสธได้ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ต้องยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร เพราะเกษตรกรเปรียบเสมือนลูกค้า ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องนั่งหัวโต๊ะเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้

อย่าให้เขาครหาหาว่าแอ็คชั่นทุกเรื่อง แต่จุดจบเหมือนกัน เพราะหมูเถื่อนก็เงียบหาย ผมจะไม่ยอมให้ปลาเถื่อน จบแบบหมูเถื่อน

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

ณัฐชา ยังกล่าวถึงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมานั้น ทุกวันนี้ยังตามหาคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่เจอ แม้ว่าจะครบกําหนด 7 วันแล้ว ใช้งบประมาณถึง 450 ล้านบาท แต่ยังไม่มีความจริงใด ๆ ปรากฏ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าหน่วยงานรัฐมีความจริงจังกับประชาชนแค่ไหน สิ่งที่สัญญาไว้ยังไม่คืบหน้า ดังนั้น ขอให้สังคมจับตา

ส่วนการประเมินมูลค่าความเสียหายนั้น ณัฐชา อ้างว่า มีตัวอย่างชัดเจนแค่ตำบลเดียว ซึ่งคาดว่าเสียหายปีละ 100 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ประเมินมูลค่าทั้งหมด “แต่คร่าว ๆ อาจถึง 10,000 ล้านบาท”

สำหรับกรณีที่บริษัทเอกชนอาจฟ้องร้องสื่อฯ ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยนั้น ณัฐชา กล่าวว่า เรายํ้าตลอดว่า พื้นที่ที่จะนำเสนอข้อมูลได้ดีที่สุดคือสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น หากต้องการโต้แย้ง นำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะ ก็ควรมาให้ข้อมูลกับ กมธ. ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ยินดีนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับของบริษัทเอกชน และหากอยากให้ข้อมูล เราก็ยินดีที่จะส่งหนังสือเชิญรอบที่ 3

เราต้องการบรรเทาความโกรธของสังคม โดยการทำความจริงให้ปรากฏว่า ใครคือต้นตอสาเหตุ ส่วนจะต้องมีผู้ถูกดำเนินคดีหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กมธ.ต้องการหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งปลายทางคือการดำเนินคดี วันนี้ปลาหมอคางดำระบาดไป 17 จังหวัด จากที่ตอนเริ่มต้นมี 2 จังหวัด การนิ่งเฉยทำให้เรื่องนี้บานปลาย จนจะกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค เราไม่อยากให้เกิดขึ้น

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์

Nattacha-criticizes-about-measures-to-solve-blackchin-tilapia-problem-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ไบโอไทย’ ไม่หวั่นโดนเอกชนฟ้องกลับปมแฉต้นตอ ‘ปลาหมอคางดำ’ ยันมีหลักฐานดีเอ็นเอชัด-พื้นที่ระบาด

ขณะที่ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ ‘ไบโอไทย’ เผยก่อนเข้าชี้แจงต่อ ‘อนุ กมธ.แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ’ ว่า ถือเป็นโอกาสดีที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เชิญไบโอไทยมาให้ข้อมูล เพราะพื้นที่ของกรรมาธิการฯ เป็นพื้นที่ที่ทั้งเอกชนและภาคประชาสังคมหรือประชาชนควรจะให้โอกาสในการค้นหาความจริงเรื่องนี้ การที่เอกชนไม่ได้มาชี้แจงด้วยตนเอง อาจจะขาดโอกาสที่ว่านี้

ประเด็นที่เอกชนฟ้องไบโอไทย หรืออาจจะไม่ฟ้องในขณะนี้ แต่มีการแถลงว่าจะดำเนินคดี เป็นโอกาสดีที่หลักฐานอันดีทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าศูนย์กลางการระบาดของปลาหมอคางดำ มาจากบริเวณรอบฟาร์มยี่สาร และฟาร์มยี่สาร ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้เกิดการระบาด เป็นเรื่องดีที่ข้อมูลเหล่านี้จะได้นำเข้าสู่ชั้นศาล และจะได้เห็นหลักฐานอื่น ๆ อีก ที่ไบโอไทยจะเสนอในโอกาสต่อไป

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นหลักฐานใดมายืนยันว่า ไม่มีการเลี้ยงปลาที่ฟาร์มยี่สาร และการส่งตัวอย่างปลาให้กรมประมง ทั้งนี้ เอกสารที่ไบโอไทยเตรียมมา ทาง กมธ.อาจจะยังไม่เคยเห็นข้อมูลนี้ และ กมธ.อาจจะไม่ได้โฟกัสในประเด็นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ที่ไบโอไทยจะชี้ให้เห็นถึงรายงานเรื่องดีเอ็นเอ และข้อมูลใหม่ ซึ่งจะต้องหารือกับกรรมาธิการฯ ว่าจะใช้ข้อมูลที่ไบโอไทยมีเป็นจำนวนมากอย่างไร และคนที่รู้เรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ฟาร์มยี่สารมีเป็นจำนวนมาก แต่กลไกที่รัฐและสื่อมวลชนจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เป็นเรื่องที่จะต้องหารือในที่ประชุมวันนี้

วิฑูรย์ ยังกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่คณะกรรมาธิการฯ ยังไม่ได้เห็น คือการตรวจดีเอ็นเอเพื่อหาเส้นทางการระบาด ของกรมประมงเมื่อปี 2565 หลายส่วนบ่งชี้ไปที่แหล่งที่มาแหล่งเดียวกัน

หากไปดูอย่างละเอียด นักวิจัยพูดชัดเจน การระบาดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากการนำเข้า รวมถึงรายงานการระบาดที่ชัดเจน ซึ่งยังไม่มีการเผยแพร่รายงานชุดนี้จากกรมประมง ซึ่งระบุชัดเจนว่า ศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่ไหน สำคัญคือข้อมูลที่ไบโอไทยมีอยู่มากกว่าภาพที่โพสต์ไปแล้ว คงต้องใช้ช่องทางและความระมัดระวัง

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

วิฑูรย์ ยังกล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องเวทีสาธารณะ หรือเวทีที่จัดโดยหน่วยงานที่ต้องการแสวงหาข้อมูล อยากเรียกร้องให้ทางบริษัทเอกชน ซึ่งมีรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาให้ข้อมูล จะได้รู้รายละเอียดข้อมูลมากกว่าผู้บริหารว่าเกิดอะไรขึ้นที่ฟาร์มดังกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์