ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชนและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเจรจาต่อรองวันและเวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ไม่ใช่ว่า เราไม่ยอมเจรจาพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาล กรอบ 30 ชั่วโมง เป็นกรอบเนื้อหาที่เรายืนยันว่า มีเท่านี้ ถ้าน้อยกว่านี้จะทำให้เนื้อหาที่เตรียมมาตกหล่น ขณะเดียวกันฝั่งรัฐบาลก็มีกรอบของเขา ไม่ยอมถอยให้เราก้าวหนึ่ง จึงเป็นที่มา ที่ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
ส่วนกรอบเวลา 20+10 ของรัฐบาล พอไปได้หรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าจะใช้กรอบนี้จริงๆ 2 วันก็ไม่พอ เพราะเต็มที่ประชุมกัน 1 วัน ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงแล้ว 2 วัน 30 ชั่วโมงพอดี ไม่ต้องเผื่อเวลาประท้วงหรือประธานวินิจฉัยอะไรเลย เพราะฉะนั้นมุมมองของพวกเรายืนยันว่า ควรจะต้องมีการขยายกรอบวันประชุมด้วย ซึ่งต้องให้รัฐบาลไปหารือกัน
เมื่อถามว่า กลับมาประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 19 มีนาคมล่าช้าไปหรือไม่ เพราะจะอภิปรายกันภายในสิ้นเดือนนี้ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ยังพอมีเวลาอยู่ ถ้ายึดตามสมัยประชุมที่จะปิดสมัยในวันที่ 10 เมษายนนี้ ดังนั้น สัปดาห์หน้า คาดหวังว่า จะได้ข้อสรุป แต่ถ้ายังไม่ทัน ก็ยังพอมีกรอบเวลาอยู่ เรายังอยากเห็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสมัยนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลเอาเรื่องกรอบวันและเวลามาทำให้เราเดินหน้าต่อไม่ได้
ทั้งนี้ การตัดชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากญัตติแล้ว สะเด็ดน้ำแล้วหรือไม่ จะเปลี่ยนเป็นคำว่าอะไร ณัฐพงษ์ กล่าวว่า “สะเด็ดน้ำแล้ว” แต่ขอยังไม่เปิดเผยชื่อ เพราะเรื่องการปรับคำ รวมถึงการตกลงเรื่องเวลาในการอภิปรายเกี่ยวข้องกัน ขอให้รอประชุมร่วมกันกับรัฐบาลแล้วจะแก้ญัตติส่งกลับไปทีเดียว
สำหรับการเปลี่ยนชื่อเป็นไพ่อีกใบหนึ่งที่ถือไว้ต่อรองเรื่องเวลากับรัฐบาลหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า จะว่าเป็นแบบนั้นก็ไม่ผิด เพราะสิ่งที่ฝ่ายค้านมีในตอนนี้คือการปรับถ้อยคำในญัตติ รวมไปถึงการตรวจสอบรัฐบาล คิดว่า สิ่งที่สังคมไม่อยากเห็น คือ ในเมื่อตอนนี้ จะให้ปรับถ้อยคำเราก็ยอม เพราะฉะนั้นก็อยากจะเห็นรัฐบาลเปิดโอกาสให้พวกเราอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างเต็มที่
ณัฐพงษ์ กล่าวย้ำว่า เรื่องการปรับคำในญัตติ เป็นเรื่องของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตัวคิดว่าการเลือกใช้คำ ก็ส่งผลกับการที่รัฐบาลจะยอมหรือไม่ยอมให้เราเดินหน้าต่อ หากดูจากท่าทีของ สส.พรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่า การใช้คำมีส่วนสำคัญที่เขาจะให้เราเดินหน้าต่อหรือไม่
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีตอบรับว่า “ได้” หลังจากฝ่ายค้านขอเวลา 30 ชั่วโมง ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในเมื่อผู้นำฝั่งรัฐบาล นายกรัฐมนตรีพูดออกมาชัดเจนว่า ไม่มีปัญหา ซึ่งที่จริงมีการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่าเดือนหนึ่งก็ได้
“ในเมื่อนายกไฟเขียวอยากมาตอบชี้แจงด้วยตัวเองขนาดนี้ ผมก็คิดว่าไม่มีเหตุผลอะไร ที่ฝั่งรัฐบาลจะต้องมากั๊กเวลากับพวกเราควรจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำงานอย่างเต็มที่มากกว่า”
— ณัฐพงษ์ กล่าว
ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีงูเห่าจากฝ่ายค้านถึง 10 คนนั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า รอดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติจริงดีกว่า เชื่อว่าพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาชน ไม่มีงูเห่าแน่นอน ส่วนจะคาดโทษอะไรหรือไม่ปล่อยให้เป็นการจัดการของแต่ละพรรค ส่วนในพรรคประชาชน มั่นใจว่า สส. ของเราไม่มีแน่นอน แต่หากมีก็มีกระบวนการจัดการภายในพรรคอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นว่าให้เวลารัฐบาลน้อยไป ณัฐพงษ์ กล่าวว่า พวกเราไม่ได้ปิดกั้น อยู่ที่ทางคณะรัฐมนตรีอย่างเดียวด้วยซ้ำ กรอบที่พวกเราได้ให้ไปแล้วก็เคยบอกตามหน้าสื่อ ว่า 30 ชั่วโมง ถ้ารัฐบาลอยากได้มากขึ้นก็เปิดจำนวนวันให้นานขึ้นได้ พวกเราไม่ได้ติดอะไร
ส่วนที่ อนุทิน เย้ยฝ่ายค้านว่า ใช้สังคมกดดัน เคยทำอะไรสำเร็จบ้าง ณัฐพงษ์ กล่าวว่า “ท่านอนุทินจะรู้สึกว่าสังคมกดดันหรือไม่กดดัน ก็อยู่ที่การกระทำของฝ่ายรัฐบาลด้วย ฝ่ายค้านเองก็เช่นเดียวกัน การอภิปรายในสภาฯ การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนอยู่ในสายตาประชาชน ถ้าท่านรู้สึกว่า สังคมกดดัน ก็อาจจะเป็นการกระทำของตัวท่านเอง”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่านายกรัฐมนตรีอารมณ์ดีถึงขั้นฮัมเพลง “ชายคนนั้น” เมื่อฝ่ายค้านถอนชื่อทักษิณออกจากญัตติ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า “ผมคงไม่ร้องเพลงโต้ตอบอะไรท่านนายกฯ นะครับ แต่อยากให้นายกฯ มาโต้ตอบฝ่ายค้าน ในการประชุมสภาฯ มากกว่า“
ณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงกรณีสภายุโรป เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรป กดดันให้ใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กดดันให้ไทยยุติส่งชาวอุยกูรณ์กลับประเทศ ว่า ไม่เฉพาะเวที FTA อย่างเดียว แต่อีกเวทีที่รัฐบาลพยายามผลักดันจะเข้าร่วม อย่างองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งทั้ง FTA และ OECD ก็มีกรอบมาตรฐานว่า การจะทำการค้าขายกับประเทศใดได้ ไทยจะต้องมีหลักปฏิบัติตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล โดยการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ไทยก็ถูกประนามจากหลายประเทศ รวมถึงกฎหมายที่ยังมีปัญหาในประเทศอยู่ เชื่อว่าสิ่งที่มีการแสดงออก ได้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายของไทยบางเรื่อง และการปฏิบัติของรัฐบาลไทยในหลายกรณี ก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน
ทั้งนี้ ในฐานะฝ่ายค้านจะเสนอแนะอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อมีการระบุถึงกฎหมาย ม.112 ยังมีปัญหาอยู่ ณัฐพงษ์ ระบุว่า พรรคประชาชนยืนยันมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ว่า กฎหมายใดที่มีปัญหา ก็จำเป็นที่จะต้องแก้ แต่กระบวนการที่จะแก้ไขอย่างไร ก็เป็นกระบวนการที่จะต้องปรับปรุงในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากถามในวันนี้ ส่วนตัว และพรรคประชาชนเห็นด้วยอยู่แล้วว่า กฎหมายม.112 ยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งอียูก็ออกมาแสดงท่าทีความเป็นห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องหาทางออกในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
เมื่อถามต่อว่า รัฐบาลอาจอ้างได้ว่า ต้องบาลานซ์ระหว่างทั้ง 2 ฝั่งนั้น ณัฐพงษ์ มองว่า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก สงครามทางการค้า คิดว่า ไทยจำเป็นต้องยึดหลักเอาไว้ เพราะตราบใดที่เลือกจะดำเนินนโยบายต่างประเทศ การเข้าข้างฝ่สยใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะจีนหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าของไทยทั้งคู่ ก็จะหนีไม่พ้นการถูกวิพากษณ์วิจารณ์จากฝ่ายหนึ่ง แต่หากดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดของประเทศโดยมีหลัก เช่น การยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดแล้วอาจขัดกับผลประโยชน์ประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็จะไม่สามารถว่าไทยได้ เนื่องจากไทยยึดหลักที่สากลให้การยอมรับ