ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วิจารณ์พรรคประชาชนว่า เสนอชื่อทักษิณลงไปในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่ออะไร นี่หรือพรรคคนรุ่นใหม่
โดยณัฐพงษ์ กล่าวว่า ทักษิณเอง ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวหลายครั้งว่าตัวเองมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน คนที่เป็นบุคคลสาธารณะ เข้าถึงอำนาจของรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ย่อมต้องถูกตรวจสอบ ถ่วงดุลได้
“การที่พวกเราบรรจุชื่อคุณทักษิณเข้าไปในญัตติ ไม่ได้เกิดจากใครเลย เกิดจากการกระทำของตัวคุณทักษิณเอง ที่ต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี ที่ปล่อยให้ผู้เป็นบิดาคอยชี้นำชักใยตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดิน”
ณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ทักษิณ ใช้คำว่า ‘น่ารำคาญ’ แสดงว่าน่าจะฟิวส์ขาดใช่หรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า “ท่านจะรู้สึกรำคาญหรือไม่ ผมคงห้ามไม่ได้ แต่ถ้าดูตามการให้สัมภาษณ์ ท่านเองก็บอกว่าถ้าพรรคคนรุ่นใหม่ เราทำงานแบบนี้ อาจจะเสียไปอีกพรรค ผมก็ไม่แน่ใจว่าเสียไปอีกพรรคหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรค ท่านเองก็ไม่ควรพูด ในฐานะที่ท่านเองเคยถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง น่าจะเข้าใจหัวอกของคนที่โดนยุบพรรคด้วยกัน แต่ถ้าท่านหมายถึงเสียคะแนนนิยม ผมคิดว่าคงตัดสินแทนประชาชนไม่ได้”
ส่วนที่ทักษิณระบุว่าฝ่ายค้านรีบไป ยังเหลือเวลาอีกตั้ง 2 ปี ณัฐพงษ์ คิดว่า ช้าเกินไปด้วยซ้ำในการถ่วงดุลตรวจสอบ กระบวนการอภิปรายที่ล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้สังคมยังต้องรออยู่ว่าจะเดินหน้าได้หรือ ทั้งที่พวกเราบอกว่าเรามีความพร้อมเดินหน้าเต็มที่ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าฝั่งรัฐบาลเองไม่ได้ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริงในการเจรจาวิป

“ผมอยู่ในห้องประชุมวิปวันนั้น ประธานวิปรัฐบาล ก็ออกมาพูดชัดเจนว่าตัดสินใจแทนคนในพรรคไม่ได้ ผมก็ไม่เข้าใจว่าการตัดสินใจแทนคนในพรรคได้นั้นหมายถึงใคร เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ ผมคิดว่าการเดินหน้าการทำงานอย่างเต็มที่ การส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริงมาเจรจาพูดคุย น่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง”
ณัฐพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าแบบนี้สะท้อนว่ามีคนอยู่เบื้องหลังใช่หรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าประธานวิปรัฐบาลหมายถึงใคร แต่สิ่งที่บอกได้คือห้องประชุมในวันนั้น พวกเราพร้อมที่จะยืดหยุ่นบางส่วน แต่กรอบในการยืดหยุ่นทางฝั่งรัฐบาลเองไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงเป็นที่มาที่ต้องส่งให้ประธานวิปรัฐบาลกลับไปคุยก่อน
ส่วนจะมีอะไรอยากจะฝากไปถึงผู้ตัดสินใจตัวจริงหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยากฝากให้ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลัง อยากจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ คิดว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ การที่ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง รัฐบาลก็ทำหน้าที่รัฐบาล ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างเต็มที่
ส่วนที่ทักษิณไล่ฝ่ายค้านให้ไปถามคนก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า การตั้งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงการเจรจาคำที่บรรจุในญัตติและกรอบระยะเวลา สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง แต่ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ เป็นเพราะตัวแทนฝั่งพรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล ไม่ได้ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริง
เมื่อถามว่าเป็นการดิสเครดิตพรรคประชาชนหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สื่อสารมาโดยตลอดว่าอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก้าวไกล อยู่ในฐานะที่ปรึกษา แต่การประชุมวิปร่วม เป็นคนเข้าประชุมด้วยตนเอง
“คุณทักษิณอาจจะยังไม่ทราบว่าภารกิจใน อบจ.ลำพูน ผมเองก็มีส่วนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแพลตฟอร์มในการเก็บข้อมูล เร็วๆ นี้ จะเห็นอะไรอีกหลายอย่างที่ออกมาจากทางหัวหน้าพรรคด้วยเช่นเดียวกัน”
ณัฐพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประธานวิปรัฐบาล ออกมาระบุว่าสูตรเวลาอภิปรายอาจจะยืดหยุ่นให้เป็น 23+7 แล้ว คือฝั่งฝ่ายค้าน 23 ชั่วโมง รัฐบาล 7 ชั่วโมง รับได้หรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยู่ในกรอบที่พูดคุยกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมให้ชัดเจนคือไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ถ้ายืนพื้นอยู่ที่ประมาณ 30 ชั่วโมง การอภิปราย 2 วันเป็นไปไม่ได้แน่นอน ถ้ายังไม่ปลดล็อกเรื่องนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เดินหน้าต่อได้ยาก
ณัฐพงษ์ ระบุว่า เรื่องคำที่ใช้แทนทักษิณ ขอรอเจรจาเรื่องเวลาก่อนดีกว่า ส่วนให้ช้อยส์ชื่อได้หรือไม่ว่ามีอะไรบ้าง ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ลองดูตามที่ท่านประธานสภาเคยให้ข่าว ก็ได้มีการเปิดเผยรายชื่ออยู่ เช่น บุคคลในครอบครัว อยู่ในกรอบประมาณนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า หล่อตามที่ทักษิณอยากได้หรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นชื่อที่ทักษิณเคยเรียกตัวเองก็พอเป็นไปได้อยู่ แต่การบรรจุคำในญัตติก็ต้องเป็นทางการ
เมื่อถามว่าโฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่าได้การบ้านจากพรรคประชาชนและพลังประชารัฐไปเตรียมตัวแล้ว ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในฝ่ายค้าน จะมีกระบวนการเตรียมเนื้อหาไปตามแต่ละพรรค แต่ในพรรคประชาชน เชื่อมั่นว่าไม่มีข้อสอบรั่วแน่นอน อยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมตอบข้อซักถามของพวกเรา

‘หัวหน้าพรรคประชาชน’ บอกขอรอดู ‘ทักษิณ’ โววิสัยทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลใน 1 ปี เย้ย จะซ้ำรอยดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่
ณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงการขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ของทักษิณ ที่ตั้งเป้าจะทำเศรษฐกิจดิจิทัลภายใน 1 ปีว่า ต้องดูคำสัญญา ที่เคยให้ไว้ในหลายครั้ง ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เคยบอกว่า จะแจกพร้อมกันเพื่อให้เกิดเป็นพายุหมุนในระบบเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายก็ต้องแบ่งเป็นหลายเฟส และไม่สามารถทำให้เกิดพายุหมุนได้จริง
ส่วนอีกประเด็นที่ทักษิณได้พูดไว้บนเวที คือพลังงานสีเขียวที่เกี่ยวข้องกับการตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ อุตสาหกรรมเอไอ รวมทั้งค่าไฟแพงที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนว่า จะมีการปรับลดลงเหลือ 3 บาทปลายๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งมาตรการลดค่าไฟที่เห็นอยู่ในขณะนี้ มีการออกมาเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้รัฐบาลอุดหนุนต่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นเรื่องการลดค่าไฟเป็นสิ่งที่พรรคประชาชนสื่อสารมาโดยตลอดว่า ต้องกลับไปปฏิรูปที่โครงสร้างไฟฟ้า และไม่อยากเห็นมาตรการเฉพาะหน้าในการใช้ภาษีของประชาชนไปอุดหนุนเพื่อลดค่าไฟ สุดท้ายระยะยาวก็ไม่ได้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจใดๆได้จริง พร้อมย้ำว่า อยากเห็นสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่หากดูคำพูดที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย ก็ตั้งข้อสงสัยว่า จะเป็นจริงได้หรือไม่
เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ ณัฐพงษ์ ระบุว่า ต้องรอดู เราก็ไม่อยากเห็นคำพูดที่ดูโตๆ ที่พูดแล้ว แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ หรือ การคิดไปทำไป เหมือนเช่นที่ผ่านมา

‘ณัฐพงษ์’ แสดงความเสียใจ ต่อเหตุการณ์คานก่อสร้างพระราม 2 ถล่ม
ณัฐพงษ์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์คานก่อสร้างสะพานถล่ม ถนนพระราม 2 พร้อมระบุว่า ไม่อยากเห็นเหตุที่เกิดซ้ำๆ เช่นนี้ รัฐบาลควรเร่งสืบหาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงจะเป็นทางออกในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงการรับปากของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวนั้น ณัฐพงษ์ กล่าวตอบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ควรต้องมีคนรับผิดชอบ ที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นว่าจะมีใครต้องมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ผิดพลาดที่เกิดขึ้น นอกจากการกำกับดูแลแล้ว การสืบหาข้อเท็จจริง หรือดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาเป็นสิ่งที่ต้องทำให้ประชาชนรับรู้

‘ณัฐพงษ์’ ยังห่วงภาพลักษณ์ไทย หลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรจำกัดวีซ่าเจ้าหน้าที่รัฐบาล
ณัฐพงษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรจำกัดวีซ่าจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่ง 40 ชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องมาโดยตลอดคือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ที่ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่ควรใช้นโยบายต่างประเทศที่เป็นไผ่ลู่ลม และควรจะต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล รัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ 2 มหาอำนาจแข่งขันกันอยู่ การดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หากตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง ไม่ว่าฝ่ายใดก็จะลงโทษหรือต่อว่าประเทศไทยไม่ได้
ทั้งนี้ การจำกัดวีซ่าในระดับเจ้าหน้าที่รัฐบาล อาจหมายถึงภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีด้วย จะทำให้ประเทศไทยมีความเสียหายอย่างไรบ้าง ณัฐพงษ์ ระบุว่าอยู่ที่การดำเนินงานของสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวไม่อยากเห็นภาพรวมของประเทศได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันถ้าไปถึงจุดนั้นจริงๆ อยู่ที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องใช้ความพยายามในการแก้ไข
ส่วนที่ทักษิณแนะนำให้เชิญทูต EU มาพูดคุยเรื่องนี้โดยตรงเพื่อทำความเข้าใจนั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า สหภาพยุโรปมีความชัดเจนเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เขาคงไม่ยอมเสียหลักการ แม้เราจะเรียกมาเจรจาแต่รัฐสภายุโรปมีมติแล้วว่า ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของประเทศไทย เรื่องนี้อย่าพึ่งจะใช้วิธีการเจรจาหลังบ้าน แต่สิ่งที่ไทยควรทำคือ การแสดงออกหน้าบ้านอย่างชัดเจนว่า เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า ในอดีตสหรัฐอเมริกาเคยใช้มาตรการนี้กับรัฐบาลเผด็จการ และผู้ก่อการร้าย จะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะไม่อยากให้ประเทศไทยเสียหายไปมากกว่านี้ ก่อนที่จะพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนในต่างประเทศ ก็หนีไม่พ้นเรื่องดัชนีตัวชี้วัด เรื่องความเป็นประชาธิปไตย มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของชาวโลก
ทั้งนี้ ที่รัฐบาลไทยเตรียมพาคณะไปเยือนจีน เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ตกเป็นกระบวนการฟอกขาว ทำให้นานาชาติเชื่อมั่นว่าการไปจีนมีความอิสระอย่างแท้จริง ตัวแทนที่ไปไม่ได้มีจากฝั่งรัฐบาลไทยอย่างเดียว แต่สามารถเชิญตัวแทนจากนานาชาติไปด้วย และคนที่เข้าไปดูกระบวนการภายในจีนต้องมีอิสระ ไปดูส่วนไหนก็ได้ หรือพบใครก็ได้ โดยไม่ได้ถูกจบจำกัดโดยรัฐบาลจีน ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ แต่หากปิดกั้นตัวแทนที่ไปร่วม ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติก็อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยได้อยู่ดี