



พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ลงรายชื่อ 166 คน ประกอบด้วยพรรคประชาชน 143 คน , พรรคเป็นธรรม 1 คน , พรรคพลังประชารัฐ 19 คน และพรรคไทยสร้างไทย 3 คน ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านขออภิปราย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว เนื้อหาในการอภิปรายจะครอบคลุมทุกประเด็น หลายกระทรวง หลายพรรคร่วมรัฐบาล เราเชื่อว่า ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดินเกิดขึ้นจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีขาดภาวะผู้นำ ไม่สามารถควบคุมเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ขาดวุฒิภาวะขาดความรู้ความสามารถ มีการแต่งตั้งบุคคลที่เขาขอมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือตนเอง รวมถึงยินยอมให้ผู้เป็น ‘บิดา’ สามารถชักนำ จูงใจ มีส่วนให้บริหารราชการแผ่นดินได้ เราเชื่อว่า ทุกปัญหาเกิดจากนายกรัฐมนตรี เราเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เพราะปัญหาทั้งหมดอยู่ที่รัฐมนตรีเพียงผู้เดียว และต้องตอบชี้แจงด้วยตนเองเท่านั้น
วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า จะนำญัตตินี้ไปตรวจสอบตามระเบียบข้อบังคับ หลังจากนั้นจะส่งญัตติไปให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลแจ้งมาว่าพร้อมเมื่อไหร่ แต่ทางรัฐบาลได้แจ้งไว้แล้วว่า พร้อมให้อภิปรายในวันที่ 24 มี.ค. ส่วนจะใช้เวลาอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ และฝ่ายรัฐบาลต้องไปตกลงกัน ซึ่งมอบหมายให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม หวังว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะเป็นไปได้ด้วยดีและเป็นประโยชน์กับประชาชน
จากนั้น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยผู้สื่อข่าวถามว่า ตั้งใจอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวตั้งแต่แรกหรือแก้เกมข้อสอบรั่ว ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เราตั้งใจอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวตั้งแต่แรก ส่วนกระแสข่าวที่มีข้อสอบรั่ว ก็เป็นเพียงกระแสข่าว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
เมื่อถามว่า ไม่กล้าอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาล เพราะเขาส่งข้อมูลให้หรือไม่ ณัฐพงษ์ เชื่อว่า เรื่องนี้เป็นการวิเคราะห์ทางการเมือง ไม่ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร ก็จะมีการวิเคราะห์อีกด้านเสมอ ขอให้ติดตามเนื้อหาในการอภิปราย เพียงแต่ว่า การลงมติ เราลงแค่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ทั้งนี้ หากอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว จะกว้างออกทะเลไปหรือไม่ และมั่นใจในผู้อภิปรายว่าจะเอาอยู่หรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยากให้ติดตาม เป็นประเด็นที่เจาะจง มีหลักฐานค่อนข้างชี้ชัด ส่วนการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวจะเป็นสิ่งที่อยากให้ประชาชนได้เห็นปัญหาของรัฐบาลชุดนี้
ส่วการอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า หากดูที่ตัวเนื้อหาในญัตติค่อนข้างครอบคลุมในหลายประเด็น อยากให้แยกการอภิปรายและการลงมติ หากตามกรอบญัตติ สะท้อนปัญหาทุกอย่างของรัฐบาล และอภิปรายได้ครอบคลุมแน่นอน ส่วนการลงมติก็จะพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี แต่ไม่อยากให้มองประเด็นการเมืองว่าจะไปขัดแย้งกับพรรคเพื่อไทย เพราะเราตรวจสอบทุกอย่างตรงไปตรงมา
สำหรับการเอ่ยชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี จะผิดข้อบังคับหรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในตัวญัตติมีการเขียนเอาไว้อย่างชัดเจน เรื่องนี้อยู่ที่ประธานสภาฯ เอง เมื่อพิจารณาญัตติแล้ว เชื่อว่าไม่ได้ขัดข้อบังคับแต่อย่างใด ถ้าบรรจุญัตติได้ตามนี้ แปลว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถพูดถึงทักษิณได้ เพราะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จะต้องถึงขั้นยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า โดยกระบวนการปกติของสภาฯ จะลงมติไม่ไว้วางใจก่อน แต่แน่นอนว่า ทุกครั้งสามารถดำเนินการอื่นๆ ได้ เช่น กรณีที่อดีตพรรคก้าวไกลยื่นถอดถอน ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ส่วนจะหวังผลถึงขนาดยุบสภาฯ เลยหรือไม่นั้น ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลได้ แต่เชื่อว่า เนื้อหาที่เตรียมมา เข้มข้นและพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีหลายคน รวมถึงนายกรัฐมนตรีเอง ส่วนมีข้อมูลชี้ชัดถึงการทุจริตคอร์รัปชันเลยหรือไม่ ก็มีหลักฐานที่ชี้ชัดให้เห็นถึงการขาดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีมาสภาฯ ในวันนี้ มีนัยยะอะไรหรือไม่ หรือเป็นเพราะฝ่ายค้านยื่นซักฟอก ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาสภาฯ หากมาตอบกระทู้ด้วยตัวเองก็จะดี มองว่า ประชาชนคาดหวังให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง ยืนยันว่า การอภิปรายนายกรัฐมนตรีคนเดียวแบบนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการกตัญญูต่อพรรคร่วมฯ เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้าน มองที่เนื้อหาเป็นหลัก แต่ที่ตัดสินใจยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว เพราะรากเหง้าปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลมาจากนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะตัดสินว่า มีการต่อรองกันระหว่างฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลในการแลกเนื้อหา จนทำให้เราไม่สามารถอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาลได้ อยากให้มองที่เนื้อหาว่า เราดำเนินการทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ขอให้รอดูคนที่อภิปรายต่อไปว่า เนื้อหาจะเข้มข้นแค่ไหน