‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง 7 แพ็คเกจแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน ว่าเรื่องนี้จะแก้ไขจะต้องได้รับความเห็นตรงกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสมาชิกวุฒิสภา รัฐบาล หรือฝ่ายค้าน สิ่งที่พรรคประชาชนยืนยันในตอนนี้คือเรื่องมาตรฐานจริยธรรมมีปัญหาที่จะต้องแก้ไข เพียงแต่สาเหตุพักไว้ก่อน เพราะหากรัฐบาลไม่เห็นด้วย อาจจะทำให้การเดินหน้าการแก้ไขทั้ง 7 ชุดถูกตีตก ซึ่งยังเหลืออีก 6 ชุดที่เหลือ ทั้งเรื่องการบังคับการเกณฑ์ทหาร เรื่องสิทธิการศึกษาและสิทธิของประชาชนต่างๆ ยังอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็คเกจที่เหลือ เชื่อว่ารัฐบาลก็จะเห็นตรงกัน ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เห็นด้วยกับแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ชุดดังกล่าว ขอยืนยันอีกครั้งว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินฐานได้โดย 2 ช่องทางคือแก้ไขทั้งฉบับและแก้ไขรายมาตรา ขณะนี้พรรคประชาชนและฝ่ายค้านจะหารือกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ชุดที่เหลือ
“เรายังยืนยันว่าการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมเป็นการแก้ไขเชิงระบบ ไม่ใช่แก้ไขของนักการเมืองอย่างเดียว ผมยืนยันว่านักการเมืองจะต้องมีมาตรฐานจริยธรรม เพียงแต่กลไกนั้นจะต้องเป็นกลไกที่ตรวจสอบภายในองค์กรเอง ไม่ควรถูกคุกคามจากองค์กรและองค์กรหนึ่ง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามากำหนดกติกาและบังคับใช้เอง”
— ณัฐพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่าจะต้องแสวงหาแนวร่วมเพิ่มอย่างเช่น พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคใดก็ตามเห็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุน อีก 6 แพ็คเกจที่เหลือของพรรคประชาชน ที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยกันทั้งหน้าบ้าน หลังบ้านอยู่แล้ว ก็คิดว่าเป็นกระบวนการปกติ ยืนยันว่ายังไม่เห็นสัญญาณว่าไม่เห็นด้วย แต่อย่างที่ทุกคนเห็นตามหน้าสื่อ เหมือนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ก่อนหน้าทุกพรรคการเมืองเห็นด้วยมาโดยตลอด แต่ท้ายสุดก็มีการเปลี่ยนข้อคิดเห็นบ้าง จึงอยากให้ติดตามการประชุม ที่ผ่านมาก็พูดคุยมาตลอดอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถพูดแทนพรรคอื่นได้ ตอนนี้ตอบได้ว่ายังไม่เห็นสัญญาณในเชิงไม่เห็นด้วย โดย 6 แพ็คเกจนี้ คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค.
เมื่อถามว่าเรื่องร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ล่าสุด วุฒิสภา (สว.) ยืนยันแก้ไขแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ต้องถูกตีตกกลับมา สส. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร ณัฐพงษ์ ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าการแก้ไขจะทำได้ไม่ทันการเลือกตั้งในปี 2570 เพราะถ้า พ.ร.บ.ประชามติเสร็จไม่ทัน สว.ไม่เห็นด้วย อาจจะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม ทำให้กระบวนการพิจารณายืดเยื้อออกไป ต้องล่าช้าออกไป ทั้งนี้ คิดว่ายังพอมีหนทางในการที่จะทำให้การแก้ไขทั้งฉบับทันปี 2570 หากจัดทำประชามติเพียงแค่ 2 ครั้ง พรรคร่วมรัฐบาลก็ออกมาให้ความเห็นว่าทันสอดคล้องกับความเห็นของพรรคประชาชน เรื่องนี้ต้องหารือกับฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล อาจต้องทำภายในรัฐสภา หารือกับประธานรัฐสภาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยอย่างไรที่จะบรรจุร่างแก้ไข
เมื่อถามว่าในเรื่องรายงานกรรมาธิการนิรโทษกรรมที่รัฐบาลขอถอนจากวาระสภาไปก่อน เพื่อทำการพูดคุยกับหัวหน้าพรรคทุกพรรค เรื่องจุดยืนของผู้ต้องหาคดี ม.112 พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะถอนร่างรายงานไปก่อน เพราะรายงานเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น เเสดงตัวเลือกหลายๆตัวเลือก และเราสามารถเดินหน้าร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นยังคิดว่าไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่จะต้องถอนร่าง เนื่องจากไม่มีผลผูกพันใดๆ ประการที่สอง พรรคประชาชนมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมามีผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองมากมาย ตนคิดว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการเยียวยาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับความยุติธรรม เรื่องนี้ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีด้วยวิธีใดก็ตาม มาตราใดก็ตาม ควรจะต้องได้รับความเป็นธรรมและได้รับการเยียวยา
สอดคล้อง‘ไอติม’ แนะ 2 ทางออกรัฐบาล หั่นออกเสียงประชามติเหลือ 2 ครั้งช่วยลดเวลา ควบคู่แก้รธน.รายมาตรา มั่นใจไม่ขัดคำวินิจฉัยศาลฯ ยังหวัง ‘สว.’ หนุนตั้งสสร. แก้กติกาประเทศ
ขณะที่ 'พริษฐ์ วัชรสินธุ' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมากแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่….) พ.ศ… ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไป โดยให้การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นว่า ตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรยังคงมีสิทธิในการยืนยันเนื้อหาภายในร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบไปได้ แต่กระบวนการจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งจะกระทบต่อกรอบเวลาที่รัฐบาลจะต้องจัดการออกเสียงประชามติครั้งแรก พร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ.ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยกร่างโดย สสร.มาใช้ในการเลือกตั้ง 2570
พริษฐ์ กล่าวต่อว่า แนะนำ 2 ทางออกให้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหารัฐธรรมนูญ ได้แก่ การลดจำนวนครั้งการออกเสียงประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง เพื่อให้มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จัดทำโดย สสร. บังคับใช้ทันการเลือกตั้ง 2570 ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา จะต้องบรรลุวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้ง สสร.ทั้งของพรรคประชาชน และของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2567 เข้าสู่วาระการประชุม แต่ขณะนี้ ยังไม่มีการบรรจุ และเมื่อบรรจุแล้ว ก็สามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการลดการออกเสียงประชามติเหลือเพียง 2 ครั้งได้
พร้อมยอมรับว่า เข้าใจความกังวลของประธานรัฐสภา ที่กังวลว่า การบรรจุวาระดังกล่าว อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาชน เคยอภิปรายไปในรัฐสภา และเห็นสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยว่า การบรรจุร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ เพราะศาลฯ ไม่ได้ระบุว่า จะต้องจัดการออกเสียงประชามติถึง 3 ครั้ง ดังนั้น จึงถือเป็นทางออกได้
โดยให้ประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร.เข้าสู่วาระการประชุม ส่วนอีกทางออกหนึ่งนั้น เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ควบคู่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขมาตราที่มีความจำเป็นแก้ไขไปก่อน ซึ่งพรรคประชาชน ก็เตรียมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 แพ็คเกจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน, เพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริต ปรับหลัเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ซึ่งพรรคประชาชน จะสื่อสารไปยังสาธารณะ และหารือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญใหม่ บังคับใช้ทันเลือกตั้ง
พริษฐ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอของ 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เสนอให้มีการตั้งคณะทำงาน โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ มาพูดคุยกันว่า ตนเองยังไม่เห็นในรายละเอียด แต่ควรจะหาข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งการพูดคุยถือว่า เป็นประโยชน์อยู่แล้ว และพรรคประชาชน ก็มีจุดยืนที่ชัดเจน สามารถนำไปหารือกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้
แต่ไม่อยากให้กรอบเวลานานจนเกินไป เพราะหากไม่รีบหาทางออกก็จะไม่มีโอกาสมีรัฐธรรมนูญใหม่ บังคับใช้ทันเลือกตั้ง ส่วนท่าทีของ สว.ที่หักมติ สส.พอจะเห็นเค้าลาง หรือโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง สสร.ประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ตนยังหวังว่า สว.ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดทำฉบับใหม่ จะมีมากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อถามถึงจำนวน สว.ที่ลงมติหักมติ สส.มีมากถึง 167 เสียง หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของวุฒิสภา และยังมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองด้วย จะยิ่งเป็นอุปสรรคหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากกว่า 160 เสียงตัดสินใจขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีอุปสรรคแน่นอน แต่ก็ยังมีความหวังว่า ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สสร. หรือการแก้ไขรายมาตราจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. และยังเห็นว่า การจัดตั้ง สสร.เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็สอดคล้องกับพรรคการเมืองรัฐบาลหลายครั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็เห็นด้วยกับการมี สสร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงหวังว่า จะมีการผนึกกำลังระหว่างรัฐบาล และฝ่ายค้าน ให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจริง และได้รับเสียงเห็นชอบเพียงพอจากวุฒิสภา