วิเคราะห์ตัวตนของ ‘ณัฐวุฒิ’ และการคืนถิ่น ‘เพื่อไทย’ ดัน 2 ร่างกม. เข้าสภา

13 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:13

Natthawut-Saiyakue-returns-to-phue-thai-party-SPACEBAR-Hero.jpg
  • วิเคราะห์ตัวตนของ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ หลังโบกมือลา ‘เพื่อไทย’ กับการหวนคืนถิ่นอีกครั้ง ในฐานะประชาชน ผู้ผลักดัน 2 ร่างกฎหมายให้ความเป็นธรรม เข้าสภาฯ

“วิกาลเดียวดาย และยิ่งเดียวดายเมื่อปรากฏเงาหลังคนผู้หนึ่ง คนเสเพลผู้ถูกขับจากสำนัก เล่งฮู้ชง สุราอุ่นแล้ว ปีศาจสุราล้อมวง รสสุราซื่อสัตย์ ชาวยุทธ์บ้างเมามาย บ้างกู่ก้องถามไถ่ ข้าพเจ้าเพียงรอเวลา และเวลาของข้าพเจ้า มาถึงแล้ว”

การแสดงความเห็นของ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ที่โพสต์อัปเดตบนเฟซบุ๊กก่อนจะประกาศอำลาจากตำแหน่ง ‘ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย’ วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เพราะการจับมือแบบสลายขั้ว - ร่วมรัฐบาลกับ ‘พรรคสองลุง’

การจากไปในวันนั้น เต็มไปด้วยคำสรรเสริญ และมิติที่แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ ต่อความนึกอ่านของ อดีตแกนนำเสื้อแดงคนสำคัญ บางคนเชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์สะท้อนภาพ กลับไปสู่ ‘พรรคตระกูลชินวัตร’ เรื่องการตระบัตย์สัตย์จนเกิดเป็นรัฐบาลผสม

ณัฐวุฒิ ออกมาทำร้านอาหารใต้อย่างจริงจัง พร้อมๆ กับการผันตัวเป็นอินฟูเอนเซอร์หน้าใหม่บนโลกโซเชียล ใช้ห้วงเวลาหลังการลงหลังเสือ พบปะหมู่มิตร ร่ำสุราในมิติที่เรียบง่าย เยี่ยงที่เขาได้เขียนบทกวีสำนวนชาวยุทธ์ก่อนจากลา ‘เพื่อไทย’

ดังนั้นจึงไม่แปลก ที่จะมองได้ว่าการกลับมาเยือนพรรคเพื่อไทยของอดีตคนเสื้อแดงวันนี้ (13 กุมพาพันธ์) จะถูกจับตาในหลายมิติ  แม้เจ้าตัวจะยืนยันในฐานะ ‘ประชาชนคนหนึ่ง’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บ้านหลังนี้เคยเป็นเบ้าหลอมหลอม สร้างตัวตนให้กับ ‘เต้น’ ทั้งในฐานะนักเคลื่อนไหว สส. และสมาชิกชั้นบริหาร  

ว่ากันด้วยที่มาของการหวนคืน ตึกริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในรอบหลายเดือน มีเหตุมาเพื่อร่วมโต๊ะแถลงข่าวกับ ‘คนเพื่อไทย’ โดยมี ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค เป็นประธาน กล่าวถึงกรณี การเสนอ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่จะเข้าในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา.ในสุดสัปดาห์นี้ โดยมี ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค และขุนพลมือกฎหมาย เป็นผู้เสนอ

ณัฐวุฒิ กล่าวกลางวงแถลง ว่ามาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่น ต่อการพลักดันร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะเดิมในฐานะ ผอ. ครอบครัวเพื่อไทย (ณ ขณะนั้น) เคยพูดบนเวทีปราศรัยของพรรคในหลายพื้นที่ และได้มีการประกาศแนวทางยื่นร่างแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนและให้สิทธิของผู้เสียหายสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมฟ้องร้องคดีต่อศาลได้โดยตรง ในกรณีที่คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรืออัยการ สั่งยกคำร้อง หรือสั่งไม่ฟ้องได้ ที่ผ่านมา ทั้งตัวของณัฐวุฒิ ก็ยังมีบทบาทประสานงานกับชูศักดิ์ และคณะทำงานของประธานสภา เป็นระยะๆ

“เมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ จึงขอพบและเรียนหัวหน้าและแกนนำพรรค ว่าในฐานะประชาชน ยังรอคอยการบังคับใช้ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และเจตนารมณ์นี้ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าวันนี้บทบาทหน้าที่ของแต่ละคน จะเดินไปตามวิถีทางของสถานการณ์ทางการเมืองก็ตาม”

การร่วมโต๊ะแถลงข่าวในฐานะประชาชนของเต้น - ณัฐวุฒิ แสดงให้เห็นถึงนัยยะที่ใครๆ ก็สามารถตีความได้ใน 2 ประการ 

  • ประการแรก คือ การกลับมาเพื่อสานต่องานที่เคยได้ให้คำมั่นกับประชาชนไว้ ขณะเป็นหนึ่งในทีมช่วยพรรคหาเสียง และเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย สามารถยื่นฟ้องศาลได้หาก ป.ป.ช.และอัยการมีคำสั่งยกฟ้อง
  • ประการที่ 2 คือ คำยืนยันว่า เจตนารมณ์เรื่องการผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่วันนี้ต่างฝ่ายต่างเดินคนละทาง ถูกแปลความนัยได้ว่า เขาเลือกออกจากพรรคเพราะการจับมือร่วมกับกลุ่มพรรครัฐบาลขั้วเดิม ขณะที่เพื่อไทยก็ยังต้องเดินเกมในฐานะฝ่ายบริหาร พร้อมๆ กับพรรคร่วมฯ ต่อไปใน ลักษณะ ‘เดินคนละเส้น’ แต่ไมตรียังดีต่อกันเสมอ เข้าตำหรับ ‘ความเห็นที่แตกต่างแต่คุยกันได้’ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของสนามแวดวงการเมือง 

กระนั้น ในฐานะนักเคลื่อนไหว ที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนและเวทีไฮต์ปาร์ก ณัฐวุฒิย่อมมีทรรศนะในมุมที่ลึกซึ้งในด้านกิจกรรมการเมือง เห็นได้จากการกล่าวในงานเสวนา ‘คนเสื้อแดง ภาพวาดปีศาจร้ายการเมืองไทย’ ที่ถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ว่า ‘ไม่เคยหลงลืมการต่อสู้ของคนเสื้อแดง’ พร้อมกล่าวย้ำว่า การนำเข้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องโทษทางการเมือง ต้องครอบคุมถึงผู้ต้องคดี ม.112 ด้วย

ขณะที่มุมของพรรคเพื่อไทย มองจากการให้สัมภาษณ์ของชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม วันนี้ที่กล่าวจุดยืนของพรรค คือการยึดมติของ กมธ.นิรโทษกรรมฯ เป็นซึ่งหากย้อนดูการให้ความเห็นของเขา หลังการประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ถึงกับจะ ‘ปิดประตู’ เรื่องผู้ต้องหาคดี 112 แต่จะรับฟังความเห็นของคณะทำงานที่มาจากทุกพรรค รวมถึงแนวทางที่ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับด้วย ฉะนั้นต้องศึกษาอย่างรอบด้านเสียก่อน 

กระนั้น มีประชาชนและนักสังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่เชื่อว่าในส่วนความเห็นที่มาจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล คงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า จะไม่ควบรวมกับผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งประเด็นนี้เห็นได้ชัดเจนจากท่าทีของสมาชิกพรรคที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ นับตั้งแต่โหมโรง มาจนถึงปมดราม่าขบวนเสด็จ ที่เกิดขึ้นไปหมาดๆ 

แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าท้ายที่สุด ทุกอย่างจะลงเอย ถูกตราเป็นกฎหมายในแบบใด…

วันนี้บทบาทหน้าที่แต่ละคน ไปตามวิถีทางของสถานการณ์ทางการเมือง

เป็นเช่นนี้แหล่ะท่านผู้เจริญ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์