สะท้อน 2 มุมมอง ที่มา สว. ‘พิสดาร’ จริงหรือ?

5 มีนาคม 2567 - 08:42

new-senator-2024-starange-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สะท้อน 2 มุมมองจาก 2 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ปมที่มา สว.ชุดใหม่ 200 คน ‘ซับซ้อน พิสดาร’ จริงหรือ?

การเลือก สว.ชุดใหม่ 200 คน เป็นไปตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ จะใช้ระบบ ‘เลือกกันเอง’ ของแต่ละกลุ่มอาชีพ รวม 20 กลุ่ม และ ‘เลือกแบบไต่ระดับ’ จากระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และระดับประเทศ นอกจากนี้ ยังให้ ‘เลือกไขว้กลุ่ม’ ในแต่ละระดับ จนเป็นที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กลไกได้มาซึ่ง ‘สว. ชุดใหม่’ นั้นแสนจะ ‘ซับซ้อน พิสดาร’

ซึ่ง 2 นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่าง ‘อ.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย และ ‘อ.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้สะท้อนมุมมองจากการวิเคราห์ที่แตกต่างกัน

การเลือก สว.ชุดใหม่ ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ขัดหลักประชาธิปไตยหรือไม่?

  • อ.ธนพร : ไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย และวิธีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ซึ่งผู้แทนของปวงชนชาวไทยมีหลายวิธี และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในวิธี ถ้าเราจะสุดขีดกันจริงๆ ประชาชนก็ต้องประชุมสภาฯ กันทุกคน เพื่อเป็นประชาธิปไตยของแท้ เช่น จะประชุมพิจารณากฎหมาย ก็นัดหมายกัน นั่งกันอยู่หน้าจอ 60 ล้านคน แบบนั้นประชาธิปไตยตามความหมายแน่ๆ แต่คำถามคือทำได้ไหม? ‘มันทำไม่ได้’ จึงต้องมาเป็นระบบตัวแทน และกรณีนี้ก็เหมือนกัน

“อีกประเด็นคือ เขาไม่ได้ห้ามคนสมัคร คุณมีอายุ 40 คุณอยากสมัคร ก็มาสมัคร ซึ่งผมก็ยุให้ทุกคนที่อายุ 40 แห่กันไปสมัครเลย ไม่ต้องไปสนใจหรอก กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง จะสมัครเป็นล้านคนก็ไม่มีปัญหา ผมถึงบอกว่าใครอยากเป็นสว.รีบมาสมัครเลย อย่ารอช้า” อ.ธนพร กล่าว

  • อ.ยุทธพร : การเลือกที่จำกัดวงของการเลือก เฉพาะเพียงแค่ผู้สมัคร ในแง่ของหลักการการเป็นตัวแทนประชาชน ก็อาจจะไม่สามารถกล่าวได้ว่า สว.นั้นเป็นตัวแทนของปวงชนอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่ได้ให้ประชาชนเลือกโดยตรง นอกจากนี้หลักการในการเลือก ยังเป็นการเลือกแบบลำดับชั้น ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และประเทศ แม้จะมีการเลือกแบบไขว้ในแต่ละกลุ่ม แต่ประเด็นสำคัญก็คือที่มาของ สว.เหล่านี้ แม้เราจะไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่ไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้ว่า การใช้วิธีการแบบนี้ จะทำให้ปลอดซึ่งสิ่งเหล่านั้น และโจทย์ใหญ่สำคัญที่สุด ของ สว. ก็คือ เราต้องตั้งต้นก่อนว่า เราจะมีสว.ไปเพื่ออะไร หรือพูดง่ายๆ เหมือนที่สังคมเขาตั้งคำถาม ‘สว. มีไว้ทำไม’ เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่สามารถตอบโจทย์ที่ชัดเจนว่า ‘มีสว.ไว้เพื่ออะไร’ ก็จะเป็นผลต่อเนื่องไปถึงการออกแบบเรื่องของที่มาอำนาจหน้าที่อะไรเหล่านี้ อาจจะเรียกว่า ไม่ได้ตอบโจทย์อย่างที่เราต้องการ วันนี้แม้เราจะบอกว่า สว.มีไว้เพื่อเป็นสภาพี่เลี้ยงให้กับ สส. แต่ส่วนตัวคิดว่า มันพ้นยุคไปแล้ว วันนี้ สส.มีศักยภาพที่จะเดินหน้าด้วยตัวเองได้ มันไม่ใช่ยุคของการเกิดสส.ประเภทที่สองเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ไม่ได้มีศักยภาพเหมือนกับสส.ในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพี่เลี้ยง

“ถ้าบอกว่า จะมีสว.เอาไว้เพื่อเป็นสภาตรวจสอบเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นแปลว่า ที่มาจะต้องยึดโยงกับประชาชนที่มากกว่านี้ โดยที่ไม่ให้เลือกกันเองแบบนี้ ต้องเหมือนกับ สว.ในปี 2540 ดังนั้นถ้าเรายังไม่มีจุดตั้งต้นที่ว่า เราจะมี สว.ไว้เพื่ออะไร นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดกระบวนการการออกแบบที่มาและอำนาจหน้าที่ของ สว.ไม่ชัดเจน” อ.ยุทธพร กล่าว

ถ้าประชาชนอยากมีส่วนร่วม อายุต้องเกิน 40 ปี และจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท?

  • อ.ธนพร : ค่าสมัครราคามิตรภาพ เพราะสส.มีค่าสมัคร 1 หมื่นบาท ส่วนกกต.5 พันบาท แต่สว.ลดมาครึ่งนึงเหลือ 2,500 บาท เพราะฉะนั้นแล้ว ส่วนตัวคิดว่า คนที่อายุ 40 ปี แล้วมีความตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ไม่ว่าจะเชื่อแบบไหนก็ตาม นี่เป็นโอกาสที่ดี แล้วระบบเลือกตั้งที่จริงแล้วไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย

“ทุกรัฐมีต้นทุนแบบนี้อยู่ เพียงแต่ส่วนตัวมองว่าค่าสมัคร 2,500 บาทสมเหตุสมผล ส่วนทำไมถึงต้องจำกัดอายุ 40 ปี ก็ต้องดูว่า วุฒิสภาที่เราตกลงกันในรัฐธรรมนูญ เขาทำหน้าที่อะไร หน้าที่คือกลั่นกรองกฎหมาย แน่นอนว่าในเมื่อหน้าที่เป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่เขาจะต้องมาดีไซน์ว่า คนที่ทำหน้าที่ตรงนั้น ควรมีลักษณะอย่างไร คนอายุ 40 ปี ก็มีวัยวุฒิพอสมควร มีประสบการณ์การทำงานพอสมควร และเหมาะกับการที่จะมาทำหน้าที่ในลักษณะของการกลั่นกรอง” อ.ธนพร กล่าว

  • อ.ยุทธพร : ถือเป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมาก ตั้งแต่การจำกัดเฉพาะผู้ลงคะแนนที่จะต้องเป็นผู้สมัครด้วยกันเท่านั้น ก็จำกัดวงแล้ว และยิ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของค่าสมัครและอายุ ก็ยิ่งทำให้จำนวนของผู้คนที่จะเข้าข่ายและมีคุณสมบัติเหล่านี้ก็น้อยลง นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายที่พยายามจะบอกว่า ทำให้ทุกคนสามารถเข้ามาได้ แม้ว่าไม่ได้เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองหรืออะไรก็ตาม อย่างกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่เอาเรื่องของค่าสมัครมาเป็นกำแพงให้กับกลุ่มเหล่านี้  ก็อาจจะไม่เป็นธรรมกับพวกเขา เพราะคนที่จะเข้ามา อย่างน้อยก็ต้องมีเงิน 2,500 บาทในการมาสมัคร เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะให้ดีที่สุด จะต้องเปิดกว้าง แม้ว่าจริงอยู่ ค่าสมัคร 2,500 บาท จะมีราคาที่ถูกกว่าสมัคร สส.เยอะ แต่ก็ยังถือว่า เป็นข้อจำกัด วันนี้จึงต้องเปิดกว้างในเรื่องของกำแพงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเหล่านี้ เพราะในที่สุดจะเป็นการจำกัดวงบุคคลแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“บางคนเงิน 2,500 บาทก็มีค่า จะเป็นการจำกัดวง ทำให้สวนทางหรือย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ที่บอกว่า อยากให้มีตัวแทนจากหลากหลายกลุ่ม สำหรับบางกลุ่มเงิน 2,500 บาท ก็เป็นจำนวนมากสำหรับพวกเขา แล้วท้ายที่สุด ก็อาจจะเป็นการไปจ้างเพื่อให้ลงสมัคร แล้วมาลงคะแนนเสียงให้กับตนเอง หรือเรียกการบล็อกโหวต ก็เป็นไปได้” อ.ยุทธพร กล่าว

การเลือกไขว้ข้ามกลุ่ม ทำให้ ‘คนดัง’ มีแนวโน้มเป็นผู้ถูกเลือก?

  • อ.ธนพร : ขอแยกเป็นสองประเด็น ปัญหาที่เราเจอที่ผ่านมา เรากลัวว่า เจ้าพ่อจะล็อกการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ถ้าเรากลัวระบบบ้านใหญ่จะมาครอบงำ ทั้ง ‘สภาลูกพ่อ สภาผัวสภาเมีย’ ถ้าเราก็จะออกแบบให้เลือกกันในกลุ่มอาชีพอย่างเดียว ก็กลัวว่าจะมีการล็อกสเปกกัน เพราะฉะนั้นก็เลยดีไซน์ว่า ให้เลือกข้ามกลุ่ม คราวนี้พอเลือกข้ามกลุ่ม ก็เกิดคำถามว่า จะได้แต่คนดังหรือเปล่า ก็ต้องถามว่า ‘คนดัง’ เขามีความคิดเดียวกับคนอื่นที่จะเลือกคนดังหรือเปล่า

“ผมไม่ได้สนใจเรื่องคนดัง แต่ผมกำลังจะอธิบายว่า คนที่ปักธงความคิดที่เป็นแบบความคิดเดียวกัน กลุ่มพวกนี้ได้เปรียบ เพราะมีการเลือกข้ามกลุ่ม แล้วคนที่เค้าจะเลือกข้ามกลุ่มเป็นคนที่คอเดียวกัน เช่น เป็นคอสีส้มเหมือนกัน การเลือกข้ามกลุ่มก็จะทำให้เกิดการเลือกคนคอเดียวกันมาเป็นสว. เรื่องคนดัง ผมไม่ค่อยห่วง แต่ปัจจัยที่ผมสนใจและมั่นใจว่า เกิดแน่ๆ และผมใช้คำว่าสว.สีส้มมาโดยตลอดจนถึงวันนี้ เพราะผมเชื่อว่า คนที่เขาคอเดียวกัน ปักธงความคิดแบบเดียวกัน การเลือกข้ามกลุ่มจะทำให้คนที่มีรสนิยมเดียวกัน ไม่ว่าจะดังหรือว่าไม่ดัง มันจะเป็นแบบนั้น เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ สว. สีส้ม” อ.ธนพร กล่าว

  • อ.ยุทธพร : แน่นอนที่สุด และที่ส่วนตัวกังวลที่สุดเรื่อง ‘คุณภาพของสว.’ แต่ด้วยความที่เรามีการไขว้กันมากมาย ตั้งแต่ชั้นของอำเภอก็มีการเลือกและไขว้กลุ่ม พอมาถึงระดับจังหวัดและระดับประเทศก็มีการไขว้ ท้ายที่สุด แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าจะเห็นสว.สีนั้นสีนี้ จากพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ส่วนตัวมองว่า มันไม่ง่ายอย่างนั้น อย่าลืมว่า ประชาชนไม่ได้เลือกโดยตรง แต่จำกัดวงเฉพาะผู้สมัคร แล้วคุณสมบัติก็กำกับไว้เยอะ ทั้งเรื่องของอายุ

“พอเลือกไขว้สายไขว้กลุ่ม คนก็ต้องไม่รู้จักกัน เพราะอยู่คนละแวดวงกัน ดังนั้น สิ่งที่เราจะได้ท้ายที่สุดก็คือ จะมีสว.สองกลุ่ม คือ สว. ที่มาจากการซื้อ จ่ายเงิน และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ สว.ที่หิวแสงจากบรรดาคนที่ประชาสัมพันธ์ตัวเองผ่านทางสื่อในวงกว้าง ซึ่งพอมาในระดับประเทศ ยิ่งต้องข้ามกลุ่มข้ามสาย ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น มันจะมีลักษณะของการมาซื้อกันในตอนสุดท้ายในระดับประเทศ ทำให้ไม่ได้ สว.ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” อ.ยุทธพร กล่าว

สว.แบบนี้ คือ ผู้แทนปวงชนชาวไทย?

อ.ธนพร : แน่นอนครับ กระบวนการที่มาจะบอกว่า เขาไม่ได้มาจากประชาชน ก็ไม่ได้ เขาก็มาจากประชาชน ถ้าเราจำได้ สมัยประชาธิปไตยแบบกรีก คนที่เลือกได้คือคนที่จ่ายภาษีด้วยซ้ำไป นั่นแปลว่า คนไหนไม่จ่ายภาษี เขาไม่นับเป็นพลเมือง ส่วนระบบเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ระบบเลือกตั้งโดยตรง เพราะแต่ละพรรคก็ต้องไปเลือกคณะผู้แทนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งแทนตัวเอง เพราะฉะนั้น การถกเถียงกันเรื่องอะไรเป็นตัวแทนประชาชนหรือไม่ ในทางทฤษฎีทุกคนเข้าใจตรงกัน แต่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษา เขาก็เข้าใจข้อจำกัด เขาก็พยายามออกแบบให้การเลือกผู้แทน สะท้อนความเป็นผู้แทนปวงชนให้มากที่สุด ซึ่งเราก็เคยใช้มาหลายวิธี วิธีที่ใช้มา ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียคละกันไป แต่รอบนี้ คนร่างรัฐธรรมนูญ เขาบอกว่า เลือกโดยตรง จะเกิดสภาผัวเมีย ก็เกิดปัญหาอีก ก็ลองมาใช้นวัตกรรมกันแบบนี้บ้าง เพราะฉะนั้น จะบอกว่าแบบนี้ไม่ตอบโจทย์ความเป็นผู้แทนปวงชน มันก็ไม่ได้

อ.ยุทธพร : สำหรับผมไม่ใช่แบบนั้น เพราะรัฐธรรมนูญ บัญญัติเอาไว้ว่า สว.สส.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย อันนี้ก็คือสิ่งที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในทางข้อเท็จจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การที่สส.และสว.จะเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้ คือ จะต้องได้นั่งในใจของผู้คน มันมีคำอยู่สองคำที่ต่างกัน ก็คือ “การออกแบบสถาบันทางการเมือง” กับ “การสร้างความเป็นสถาบันทางการเมือง” สองคำนี้ไม่เหมือนกัน เพราะการออกแบบสถาบันทางการเมือง คือสิ่งที่เรากำลังทำ คือการออกแบบที่มาสว.ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองหรือตระกูลการเมือง แต่สุดท้ายไม่ได้นั่งอยู่ในใจคน หรือที่เราเรียกว่าความเป็นสถาบันทางการเมือง ดังนั้น การออกแบบสถาบันทางการเมืองนั้นไม่ยาก แต่การที่จะทำให้เป็นสถาบันทางการเมือง ต้องทำให้ได้นั่งอยู่ในใจคน หมายถึงที่มาของสว. จะต้องยึดโยงกับประชาชน และทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของสว. ทำให้รู้สึกถึงการที่จะไปพึ่งพิงและเป็นปากเสียง สะท้อนปัญหาหรือเรียกร้องความต้องการให้กับประชาชนโดยใช้กลไกของรัฐสภาได้

สว.ชุดใหม่ ‘ล้างมรดก คสช.’ 250 สว. ได้หรือไม่?

  • อ.ธนพร : มันอยู่ที่คนเลือก เราอย่าไปบอกเลยว่า มันล้างได้หรือไม่ แต่ถ้าคุณอยากล้างคุณก็ไปสมัคร สว. แล้วก็ไปเลือกกันเอา  อยากได้สว.แบบไหน ไม่ใช่ไปชี้หน้าด่าเขา แต่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง สว. ด้วยตัวคุณเอง ด้วยการสมัคร แม้จะไม่ได้เป็นสว. ก็ไม่เป็นไร แต่ได้เลือกสว.

“สว.หน้าตาแบบไหน คุณสร้างได้ ส่วนใครที่กังวลเรื่องล็อกสเปก ถ้าไปสมัครกันเยอะๆ ต้นทุนในการล็อกมันมหาศาลและการันตีผลไม่ได้ เพราะมีการเลือกข้ามกลุ่ม ซึ่งนี่จะทำให้คนลงทุนคิดหนัก”

  • อ.ยุทธพร : สำหรับส.ว.ชุดใหม่ที่เข้ามาไม่ถือว่า เป็นมรดกที่ตั้งไว้ แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือ ‘ทายาทอสูร’ เพราะเดิมมรดก คสช.ก็คือ 250 สว. แต่สว.ที่เข้ามาใหม่จะเป็น ‘ทายาทอสูร’ เพราะไม่ใช่สิ่งที่คสช.วางเอาไว้ แต่เป็นสิ่งที่สืบทอดอำนาจของคสช.และแปลงร่างได้ด้วย หลายคนบอกว่า สว. 250 ยังไงเขาก็ไปต่อไม่ได้ เขาถูกห้ามในการลงสมัครอะไรต่างๆ แต่ท้ายที่สุด เขาแปลงร่างได้

“เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คนที่เข้ามาใหม่ จะไม่ใช่ผู้เล่นแถวสอง ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสว. 250 ไม่มีอะไรการันตีเลย และเป็นไปได้ที่สว. 250 เขาจะแปลงร่างเป็นอย่างอื่น แล้วผลักดันผู้เล่นแถวสองขึ้นมาลงสมัครสว. รูปโฉมใหม่ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่มรดกแต่เป็นทายาทอสูร” อ.ยุทธพร กล่าว

บทบาท สว.เลือกตุลาการ องค์กรอิสระ ‘ขั้วอนุรักษ์นิยม’ จะถูกสั่นคลอนหรือไม่?

อ.ธนพร : อยู่ที่ว่า เขาฟังผมหรือไม่? เขาก็ต้องไปปักธงความคิดกัน แล้วต้องไปสมัครสว. ไม่งั้นพวกสีส้มก็เป็นสว. ผู้อาวุโสรักชาติรักแผ่นดินก็อย่านอนอยู่บ้าน เพราะเกณฑ์ขั้นต่ำอายุ 40 ปี ใครที่บอกว่าจะต้องรักษาความเป็นอนุรักษ์นิยม ก็ไปสมัคร สว. เพื่อที่จะได้มีส่วนกำหนดหน้าตา สว. ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ควรจะไปลงสมัคร สว. 

อ.ยุทธพร : ก็คงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกระบวนการในการเลือกองค์กรอิสระ จะมีกรรมการสรรหา โดยมีที่มาจากหลายภาคส่วน เมื่อสรรหาเสร็จก็มาให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีบทบาทในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีบทบาทในการถอดถอนโดยตรง เหมือนในสมัยรัฐธรรมนูญปี 2540  ตรงนี้ถึงได้บอกว่า แล้ว สว.มีไว้ทำไม มีไว้เพื่อเป็นสภาฯ ตรวจสอบ เพื่อให้ความเห็นชอบองค์กรอิสระต่างๆเหล่านี้ ก็ต้องยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากกว่านี้

ควรทบทวน? หรือแก้จุดอ่อนเรื่องที่มาสว.อย่างไร?

อ.ธนพร : ในกระบวนการการเลือกตั้ง ยังมีช่องโหว่ อย่างการเลือกข้ามกลุ่ม จะเว้นระยะ 7 วัน ตรงนี้ก็อาจจะเป็นช่องว่าง คนล็อบบี้ก็จะล็อบบี้ แต่น้ำหนักเรื่องการปักธงความคิดแบบเดียวกัน ยังเป็นปัจจัยหลัก แต่เรื่องของช่องว่างในการล็อบบี้ เว้นไป 7 วันก็แน่นอนว่า ก็ต้องเกิดการล็อบบี้เป็นเรื่องปกติประเด็นต่อมา คือ องค์กรผู้กำกับดูแลการเลือกตั้งหรือ กกต.ที่กำหนดว่า สว.นั้น ห้ามหาเสียง แต่เขาให้แนะนำตัว ซึ่งรูปแบบการแนะนำตัวก็จะเป็นไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง คำถามคือประสิทธิภาพของ กกต.ที่ทำหน้าที่เป็นมอนิเตอร์ในส่วนนี้ สามารถตามเทคโนโลยีเหล่านี้ทันหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมาย เช่น โพสต์ TikTok อย่างไรให้ไม่เข้าข่ายหาเสียง เพราะเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น หน่วยงานที่มอนิเตอร์ก็ต้องแข่งขันกับตัวเอง

อ.ยุทธพร : ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ วันนี้อย่าลืมว่า ในโลกใบนี้ส่วนใหญ่ เป็นระบบสภาเดียว ในบางประเทศที่เป็นสภาคู่ ที่มีทั้ง สส. และ สว. ก็จะต้องตอบคำถามและมีจุดที่แสดงให้เห็นได้ว่า สว.นั้น มีไว้ทำไม บางประเทศอาจจะเป็นตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ บางประเทศก็เป็นตัวแทนจากชุมชนท้องถิ่น บางประเทศเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย

“แต่ถ้าเราตอบโจทย์ไม่ได้ว่า เราจะมี สว. ไว้ทำไม เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีก็ได้ เพราะเขาเรียกว่า โครงสร้างรัฐสภาที่บิดเบี้ยว” อ.ยุทธพร กล่าว

อ.ยุทธพร ยังทิ้งท้ายอีกว่า ถ้าสภาฯ ไม่ใช่พื้นที่ของผู้คน อย่างเช่นในปัจจุบัน ที่ สว. 250 คน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลย แต่สามารถร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับ สส.ได้ ท้ายสุดก็ทำให้เกิดภาวะที่เราเรียกว่า ‘นายกฯไม่ตรงปก’ ก็คือไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนเลือกตั้ง นี่ก็คือ ‘โครงสร้างของรัฐสภาที่บิดเบี้ยว’ นั่นเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์