










บรรยากาศการแสดงตนของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ในวันที่สอง ยังคงคึกคัก โดยเฉพาะช่วงเช้าที่มีหลายคนน่าจับตามอง อาทิ บุญส่ง น้อยโสภณ ,พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ,นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ,พ.ต.ท.สง่า ส่งมหาชัย ,พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี และนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล
ทั้งนี้ การแสดงตนของ สว.เริ่มมีสีสัน เมื่อ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพภาคที่ 4 เข้าแสดงตน โดยให้สัมภาษณ์ถึงการเป็นแคนดิเดตประธานหรือรองประธานวุฒิสภา พร้อมทำหน้าที่หรือไม่ว่า เอาให้ถึงตรงนั้นก่อน เชื่อว่า ทุกคนพร้อมหมด ไม่ใช่เพียงแค่ตนเอง สว.200 คนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันที่จะถูกเลือก เพราะทุกคนมีประสบการณ์ มีองค์ความรู้และมีความเหมาะสมเช่นกัน เพียงแค่ตนเอง ถูกสื่อนำเสนอข่าวมากไปหน่อยเท่านั้นเอง
เมื่อถามว่า มีความหนักใจหรือไม่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความใกล้ชิดกับพรรคการเมือง พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพียงแต่เป็นเพื่อนสนิทของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่เรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และในช่วงที่ตนเองประสบอุบัติเหตุ ฮ.ตก ขณะดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 อนุทินก็ได้ลงพื้นที่ไปดูแลเรื่องทางการแพทย์
ส่วนอนุทินได้ให้คำแนะนำในการสมัครเป็น สว. หรือไม่นั้น พล.อ.เกรียงไกร ยืนยันว่า ไม่ได้มีการแนะนำ ขณะตนเองไปลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทินยังไม่ทราบและยังตกใจว่า “พี่เอาแน่หรือ” ตนเองก็บอกว่า “ใช่ เอาแน่ ก็ลองดู ผมบอกท่านว่า ผมอยากจะมาทำหน้าที่เรื่องของการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และยังอยู่ในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนภาคใต้”
เมื่อถามว่า หลังจากได้เป็น สว.แล้วได้พูดคุยกับอนุทินอีกครั้งหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ก้ได้พูดคุยกันอยู่ตลอด พร้อมยังมีการให้คำแนะนำ รวมถึงติดตามการลงพื้นที่ของอนุทินบ้าง และหากนายอนุทินต้องการศึกษาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติในปี 2570 ทหารจะต้องถอยตัว เพื่อส่งมอบพื้นที่ ให้กับภาคส่วนต่างๆที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ
ส่วนที่มีการมองว่า ความสนิทกับอนุทิน จึงเป็นเหตุให้ได้รับการสนับสนุนจาก สว.สายสีน้ำเงิน พล.อ.เกรียงไกร ปฏิเสธเป็น สว.สายสีน้ำเงิน เพราะตนเองเป็นสีน้ำเงินเข้ม คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์ เทิดทูนด้วยชีวิต
เมื่อถามว่า มีการยกโทรศัพท์เพื่อทาบทามให้นั่งตำแหน่งประธานวุฒิสภาแล้วหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร ยืนยันว่า ไม่มีใครทาบทาม มีแต่สื่อ พร้อมขอบคุณที่สื่อไว้วางใจ ซึ่งหลังบ้านผม ไม่มีใครติดต่อ พร้อมหัวเราะและตอบอีกว่า “ยังว่างอยู่”
ส่วนข้อครหาเรื่องกติการเลือก สว.ในครั้งนี้ จะมีความเป็นไปได้ในการแก้ไขกฎระเบียบการเลือก สว.ครั้งหน้าหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า เป็นมุมมองของแต่ละฝ่าย ความเห็นต่างเกิดขึ้นได้ ต้องรับฟังความเห็นต่าง ส่วนจะแก้หรือไม่แก้ ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกส่วนใหญ่ และที่มีการตั้งกลุ่มก๊วน ตนเองก็เห็นว่า มีทุกกลุ่มทุกก๊วน แต่ไม่ทราบว่า มีกลุ่มก๊วนใดบ้าง เท่าที่ติดตามทางสื่อ ก็มีกลุ่มนั้น ก๊วนนั้น กลุ่มอิสระก๊วนนั้นก๊วนนี้ แต่ในสังคมย่อมมีคนที่รักชอบกัน และอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ยกตัวอย่าง กลุ่มไลน์ พร้อมย้อนถามว่า “ในไลน์ของนักข่าว มีกลุ่มไหมครับ ก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เรื่องกลุ่มเรื่องก้อนเป็นเรื่องปกติของสังคม”
เมื่อถามว่า มีการพูดคุยเรื่องการนำเสนอเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เงินเดิน มีจริงหรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า “ผมไม่ได้รับการทาบทามติดต่อเลย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ สื่อมวลชนได้สอบถามถึงเหตุการณ์ ฮ.ตก ทำให้พล.อ.เกรียงไกร ถึงกับโชว์สร้อยพระ 3 องค์ที่ตนเองห้อยเป็นประจำ ได้แก่ พระกริ่งปวเรศที่จัดสร้างในปี พ.ศ.2530 ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นประธานเททองหล่อ ,หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ และหลวงพ่อสุด (สุทธิ์) วัดหนองหวาย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิด ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใส่ในวันที่ ฮ.ตก ยังมีไอ้ไข่ วัดเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และหลวงพ่อพัฒน์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกด้วย พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เป็น สว.เพราะหลวงปู่ทวด เพราะถ้าเป็นหลวงปู่ทวด ต้องเป็นรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ แต่วันนี้ไม่ได้ห้อยคอมา ส่วนที่ได้รับเลือกเป็น สว.คิดว่า ไม่ได้เป็นเพราะมู แต่คิดว่า “ผมมีเอฟซีเยอะสักหน่อยนะครับ” พร้อมหัวเราะกับผู้สื่อข่าว และย้ำอีกครั้งว่า “ไม่ได้มู แต่เกิดที่สุราษฎร์ธานี แหล่งธรรมะ”
“พระแท้ทุกองค์ ทำด้วยมือ ผ่านพิธีมา พิธีกรรมดี มวลสารดีและเจตนารมณ์ดี ก็โอเค ก็ขึ้นห้อยคอแล้ว แต่ 3 องค์นี้จะติดตัวตลอดเวลา แต่วันที่ ฮ.ตก ลืมท่องคาถา อิติปิโส เพราะตนเองจะท่องบทนี้เป็นประจำ วันนั้นเห็นระยะทางไม่ไกล ก็เลยลืมท่อง แต่วันที่เลือก สว.ไม่ต้องท่องเลย แต่วันเลือก สว.ใช้เวลานาน ก็ท่องไปหลายรอบ เพราะนั่งตั้งแต่ 8 โมงยันตี 4 ท่องไปหลายบทหลายรอบทีเดียว” พล.อ.เกรียงไกร กล่าว
ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่มาแสดงตนวันนี้ ได้กล่าวถึงการรวมกลุ่ม สว.อิสระ สายสีขาวว่า กลุ่มของตนเองตอนนี้ มี สว.อิสระสีขาว ประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นกลุ่ม ‘สว.พันธุ์ใหม่’ และไม่มีพรรค หรือสีใด หรือใครบงการสนับสนุน แต่มาทำหน้าที่ด้วยความรักในอุดมการณ์ และต่อสู้ทางการเมืองด้วยความอิสระ พร้อมเรียกร้องไปยัง สว.ที่มีสี ให้สลายสี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สว.เป็นอิสระ ปราศจากพรรคการเมือง และจะต้องร่วมกันฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ใน 5 ปีนี้ จึงขอให้สลายสี และร่วมกันทำงาน ร่วมกันนำประสบการณ์ที่มีมาทำให้ประเทศชาติเดินหน้า
นพ.เปรมศักดิ์ ยังกล่าวถึงการเลือกประธานวุฒิสภาว่า กลุ่มของตนเอง ไม่ประสงค์ช่วงชิง หรือแก่งแย่ง และยังมีขั้นตอนต่างๆ ก่อนถึงการเลือก ซึ่งการช่วงชิงตำแหน่ง อาจเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี จึงควรปล่อยให้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสม ส่วนใครเป็นเป็นตัวเต็ง หลายคนเหมือนในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ตัวเก็ง กลายเป็นตัวเกร็งไปแล้ว จึงขอเตือนว่า อย่าเก็งมาเพราะเดี๋ยวจะเกร็งไปซะก่อน
ส่วนกระแสข่าวที่มีกลุ่มเบื้องหลัง หรือเงาทมิฬ เสนอผลประโยชน์ให้กับ สว.เพื่อชักชวนให้ไปอยู่ในเครือข่าย เพื่อรับเงินเดือน รถ เสื้อผ้า ผู้ติดตาม และเงินเดือนตลอดการทำหน้าที่นั้น นพ.เปรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ตนเองก็ได้รับการติดต่อในลักษณะดังกล่าว แต่ตนเองมีเงิน และไม่ต้องการเป็นลูกน้องใคร เพราะเคยเป็นลูกน้องพรรคการเมืองมาแล้ว 6 พรรค แต่ละพรรคก็มีกฎเหล็ก เมื่อสมาชิกตัดสินใจไม่ตรงใจพรรค ก็ต้องมีอันเป็นไปทางการเมือง ถูกขับออกจากพรรค หรือเป็นแกะดำ จนต้องหนีไปบวช จึงคิดว่า สว.ใหม่ ควรร่วมกันขจัดเงาทมิฬ และทำงานด้วยกันอย่างอิสระ
นพ.เปรมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า เงื่อนไขเพื่อแลกกับผลประโยชน์ดังกล่าวนั้นมีมาก และไม่ทราบว่า สว.คนอื่นเห็นแล้วจะหวั่นไหวหรือไม่ แต่ทราบเพียงว่า มีการดักบริเวณจุดรายงานตัวที่ กกต.จนมีผู้ที่เปลี่ยนใจไปแล้วก็มี จึงคิดว่า การเปลี่ยนใจจากการเป็น สว.อิสระไปอยู่ในค่าย ต้องคิดให้ดี เพราะบางครั้งก็ไม่คุ้ม เนื่องจากการมีปลอกคอ หรืออยู่ในค่าย ผู้ลงทุนต้องคาดหวังผลประโยชน์มาก และ สว.ต้องทำหน้าที่อย่าง 5 ปี ดังนั้น ทำงานอย่างมีศักดิ์ศรีน่าจะดีกว่า แม้จะกินไม่ได้ แต่ก็ภูมิใจ และสามารถพ้นจากหน้าที่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะทรัพย์สินไม่ตายก็สามารถหาใหม่ได้
ส่วนการทำหน้าที่ของ สว.กลุ่มอิสระในอนาคต จะถูกกลุ่มการเมืองในวุฒิสภากลืนไปหรือไม่นั้น นพ.เปรมศักดิ์ ระบุว่า อาจมีวิกฤต ที่ทำให้ สว.คิดได้ว่า การเป็น สว.อิสระ ดีกว่าการถูกจองจำ หรือกักขัง บังคับให้อยู่ในค่ายใดค่ายหนึ่ง และเชื่อว่า หากการทำหน้าที่ของ สว.สีขาวเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล แม้จะลงมติแพ้ ก็เชื่อว่า จะชนะในประชาชนได้ และค่าตอบแทนที่ได้รับจากรัฐสภา ก็คุ้มค่าพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปรับลาภที่ไม่ควรได้จากที่ใดอีก
นพ.เปรมศักดิ์ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของประธานวุฒิสภาคนใหม่ที่ควรมีว่า จะต้องมีสุขภาพ เพื่อควบคุมการประชุมให้มีคุณภาพ และตัวเต็งต่างๆ ควรไปตรวจสุขภาพก่อน เพราะงานวุฒิสภา เป็นงานหนัก นอกจากนั้น จะต้องมีความรู้ ความสามารถ และมีแนวทางการทำงาน มีวุฒิภาวะ รับฟังเสียงข้างน้อย เพราะบางครั้งอาจถูกมูมเมอร์แรงสะท้อนกลับได้ และหากไม่สังกัดกลุ่ม เป็นอิสระ สีขาวยิ่งดี เพราะจะได้ไม่ต้องคำนึงถึงใครนอกจากประชาชน และที่สำคัญ จะต้องควบคุมการประชุมได้ เพราะทักษะการทำงานระบบรัฐสภา ต่างจากทักษะรับราชการ หรือวิชาการ และต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง
เมื่อถามว่าประเมิน สว.ชุดนี้ 5 ปีจะไปรอดหรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า รอด เพราะ สว.ทั้ง 200 คน มีคุณภาพทั้งนั้น และอย่ามองว่า สว.จบปริญญาใดมา เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติ และบัญญัติให้มีเพียงประสบการณ์ในวิชาชีพ 10 ปีเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อมาทำหน้าที่ สว. ก็เชื่อว่า จะสามารถเรียนรู้กับเพื่อน สว.ได้ และเชื่อว่า การกลั่นกรองกฎหมายจาก สว.ชุดนี้ จะรอบคอบ มีความหลากหลายในการอภิปราย แตกต่างจาก สว.ชุดก่อนที่ไม่มีข้อแตกต่าง จึงขออย่าเพิ่งสบประมาท สว.ชุดใหม่