หนุน ‘นิรโทษกรรม’ แต่ต้องเว้น ม.110-ม.112

31 ต.ค. 2567 - 03:22

  • ‘ชาติไทยพัฒนา’ หนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ต้องเว้น ม.110 และ ม.112 เชื่อก้าวข้ามความขัดแย้งได้ แนะพรรคการเมืองช่วยเสนอร่างกฎหมายเพื่อความสมานฉันท์

  • ‘นิกร’ เผย พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ต้องรีบ ยังไงก็ไม่ทันเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า ขอใช้เวลาปิดสมัยประชุมสภาฯ ศึกษาให้เต็มที่ ลั่น รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันสมัยรัฐบาลนี้ เลือกตั้ง 70 ยังใช้ฉบับเดิม

nikorn-31oct2024-SPACEBAR-Hero.jpg

นิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมว่า มีการยื่นแล้วหลายฉบับที่สภา โดยการรวมเอาความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และ รัชทายาท ตามความผิดในมาตรา 110 และ 112 ซึ่งยืนยันว่าพรรคชาติไทยพัฒนายินดีสนับสนุนทุกร่างโดยพรรคชาติไทยพัฒนาพยายามผลักดันเรื่องความปรองดองสมานฉันท์มาโดยตลอด ตั้งแต่ในสมัย บรรหาร ศิลปอาชา เราก็เดินสายไปยังทุกพรรค ทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ 

นิกร กล่าวต่อว่า เมื่อตอนเราหาเสียง เราใช้คำว่าก้าวข้ามความขัดแย้งร่วมแรงปฏิรูปประเทศ ซึ่งเราก็จะสนับสนุนเต็มที่ แต่มีข้อยกเว้นว่า จะไม่รวมเอาหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในมาตรา 110 และ 112 เพราะหากกระทำเช่นนั้นแทนที่จะเป็นการลดความขัดแย้งแต่จะเป็นการเพิ่มขัดแย้งอย่างรุนแรงเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่า ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ

นิกร กล่าวว่า ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการศึกษาพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเปราะบาง เพราะขณะนี้ในสภาฯ แค่พิจารณาการศึกษารายงานร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่สามารถผ่านได้ แต่หากเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็เป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านได้

นิกร กล่าวอีกว่า กฎหมายขณะนี้ มีอยู่ 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในสภาฯ และเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ ก็ต้องมีการพิจารณา ซึ่งทราบว่า แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย จะยกขึ้นมาอีก 1 ฉบับ ก็ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเห็นประกาศว่า จะไม่ร่วมมาตรา 110 และ 112 ซึ่งครั้งนี้ มีประเด็นที่อยากจะให้ความเห็นว่า ลักษณะของกฎหมายที่ได้ศึกษามาในฐานะกรรมาธิการ จะมีหลักการที่ควรระบุฐานความผิดแนบท้ายร่างกฎหมายนิรโทษกรรมให้ชัดเจน โดยยืนยันว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะให้ความเห็นชอบอย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า แต่ละพรรคการเมืองก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เลยทำให้ร่างการศึกษาพ.ร.บ.นิรโทษในการพิจารณาที่ผ่านมา ไม่สามารถผ่านไปได้ใช่หรือไม่ นิกรกล่าวยืนยันว่า วิธีการพิจารณาก็ต้องดูว่าร่างใด ที่จะนำไปรวมความผิดมาตรา 110 และ 112  เข้าไปด้วย ดังนั้น ควรที่จะมีบัญชีความผิดแนบท้ายให้ชัดเจน ซึ่งพรรคการเมืองควรจะช่วยกันยื่น เพื่อให้เกิดความเห็นร่วมกันให้เป็นเอกภาพซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ดี เพราะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยอยู่บนความขัดแย้งกัน 

ส่วนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมขณะนี้ก็เหมือนกับการช่วยบุคคลของแต่ละพรรคให้พ้นโทษ นิกร กล่าวว่า ไม่ใช่ร่างนิรโทษกรรมที่ออกมาไม่ได้ทำเพื่อใคร และการพิจารณาก็ควรจะแยกเป็นร่างๆ แล้วโหวต เพราะเนื้อหาข้างในไม่เหมือนกัน สุดท้ายร่างของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคแกนนำ ก็จะเป็นร่างหลัก และเชื่อว่า ก็จะไม่เกิดปัญหาและจะผ่านไปได้ด้วยดี

นิกร ยังกล่าวถึงการประชุมร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า นัดครั้งต่อไปคือวันที่ 6 พฤศจิกายน และจะนัดประชุมกันทุกพุธ ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่จะใช้ช่วงเวลาปิดสมัยประชุมให้ได้มากที่สุด เรามองว่า หากทำเสร็จตอนนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะสภาฯ ไม่เปิดสมัยวิสามัญ จึงต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และศึกษาให้ชัดเจน และกรรมาธิการของทั้งสองฝ่ายมีความเห็นเป็นอย่างไร และจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็กลัวว่า ถ้าใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจะไม่ผ่าน เพราะประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์กันน้อย แต่อีกฝ่ายก็มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศ จึงควรกลับไปใช้ Double majority เฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ คาดว่า น่าจะมีการประชุม 4-5 ครั้ง ก่อนที่สภาฯ จะเปิดสมัยสามัญ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบ ยังไงก็ไม่ทันที่จะทำประชามติไปพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้นปี 68 อยู่แล้ว

“รัฐบาลจะต้องไปกำหนดวันทำประชามติเองออกค่าใช้จ่ายเองดำเนินการเองทั้งสิ้น จะไปพ่วงกับอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเวลาไม่ทัน”

นิกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาก็ควรจะทำให้ทันก่อนเปิดสมัยประชุมสามัญ เมื่อได้ข้อสรุปของกรรมาธิการร่วมกันแล้วก็ต้องนำเข้าที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร และส่งต่อไปยังวุฒิสภาอีกครั้ง แต่ถ้าไม่เห็นชอบสภาใดสภาหนึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกล็อค 180 วัน และเมื่อครบ 180 วันสภาผู้แทนราษฎรจะเอาพ.ร.บ.ของตนเองมาใช้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านที่ประชุมของวุฒิสภา  ซึ่งส่วนตัวก็เป็นกังวลว่า จะเป็นปัญหา เพราะไม่อยากให้ มีปัญหาควรจะคุยกันให้ได้มากที่สุดโดยใช้เวลาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงเกิดขึ้นไม่ทันในสมัยรัฐบาลนี้ เมื่อรวมเวลาแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทันในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะมีการทำประชามติพ่วงไปด้วย ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าให้ทันกับรัฐบาลชุดนี้ จะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อใช้ในช่วงเดือนเมษายนปี 70 แต่การเลือกตั้งทั่วไปก็จะต้องมีกฎหมายลูกอีก ดังนั้นการเลือกตั้งทั่วไป อย่างไรรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ทัน ก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแน่นอน เพราะจะเร่งยังไงก็คงเร่งไม่ทัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์