ถอดสลักอารมณ์สู่ ‘สันติวิธี’ ป้องกันเหตุ ‘ม็อบชนม็อบ’

12 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:53

Nonviolent-means-of-political-rallies-Prevention-of-violence-SPACEBAR-Hero.jpg
  • วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหา 'ม็อบชนม็อบ' ท่ามกลางความเห็นต่างทางการเมือง ตามมุมมองของ ‘รศ.ดร.โคทม อารียา’ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังกรณีการปะทะกันระหว่าง  ‘กลุ่มศปปส.’ และ ‘กลุ่มทะลุวัง’ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมา คือการฉายภาพมิติความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่าง (ทางการเมืองและความเชื่อ) ที่ชัดเจนที่สุด ปฏิกิริยาถูกฝังรากลึกในทุกๆ ขบวนการเคลื่อนไหว มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ไม่ว่าจะไทยหรือสากล ฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา มีให้เห็นอยู่ทั่วไป 

แต่กระบวนการที่ใช้ ‘อารมณ์’ นำ ‘หลักการ’ มาด้วยความเสียหาย ต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ไม่เคยได้รับการยอมรับ ว่า ‘เป็นทางออกที่ดี’ ในการแก้ปัญหาทางความคิด อีกนัยยังนำไปสู่การสุมไฟความขัดแย้งให้ร้อนแรงยากดับได้ 

ฉากที่เกิดขึ้น บนสถานีรถไฟฟ้าสยาม เมื่อ 2 วันก่อน จึงถูกนำมาถกเถียงอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความเห็นทางการเมือง และกลไกความเคลื่อนไหว แต่เรื่องถึงเรื่องกุศโลบายบางประการ เพื่อสร้าง ‘สันติ’ ให้เกิดขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม ที่นับวันจะยิ่งฉายภาพชัดเจนมากขึ้นทุกที 

“ปัญหามันมาจากความโกรธ ความอาฆาตมาดร้ายต่อกัน และผลพวงจากกระแสแวดล้อมภายนอก ซึ่งกระบวนการในการแก้ปัญหา ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมระดับบุคคลและสังคม ที่จะต้องช่วยกันไม่ให้ความเห็นต่างทางการเมือง ถลำสู่ความขัดแย้งจนบานปลาย”

ความเห็นของ ‘รศ.ดร.โคทม อารียา’ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ฉายมิติการปะทะที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด ของขบวนการเคลื่อนไหวที่มีความเชื่อสวนทางกัน ซึ่งหากสังเคราะห์ตามทรรศนะของโคทม จะพบว่า ปัญหาที่เห็น มาจาก 2 องค์ประกอบหลัก 

  1. ภาวะทางอารมณ์ของตัวผู้ชุมนุมทั้ง 2 กลุ่ม ที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว ความเกลียดชัง ความอาฆาตพยาบาท และความสุดโต่งด้านความคิด ที่แฝงอยู่ในมโนกรรมเป็นทุนเดิม นำไปสู่กายกรรมและวจีกรรม ที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น 
  2. ภาวะทางสังคม ที่มีผลต่อการกระตุ้นให้กลุ่มผู้ชุมนุมใช้กำลัง เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผ่านการใช้รูปแบบของการสร้างวาทะกรรมความเกลียดชัง

เมื่อเผชิญกับความขัดแย้งทางสังคม  โคทม เสนอแนะว่า ต้องแก้ปมความบาดหมางจาก 2 องค์ประกอบข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงบานปลาย ส่วนที่เป็นระดับปัจเจก (ผู้มีส่วนร่วมกับการปะทะโดยตรง) จำเป็นต้องจัดการภาวะทางอารมณ์อย่างสุขุมคัมภีรภาพ ใช้หลักการแบบสันติวิธี เข้าแก้ปัญหา ไม่นำความรู้สึกภายในนำการกระทำ รับฟังเสียงสะท้อนจากภายนอกเพื่อปรับปรุง และยับยังความรุนแรง 

ขณะที่สังคมแวดล้อม หรืออีกนัยคือกองเชียร์แต่ละฝ่าย ต้องหยุดสร้างความขัดแย้งจากวงนอก และพยายามตักเตือนผู้ร่วมอุดมการณ์ ภายใต้หลัก ‘เตือนไปฟังไป’ จะทำให้ภาพรวมของกลุ่มความเคลื่อนไหว เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งหัวใจหลักสำคัญที่สุดคือ อย่าดุนฟืนเข้ากองไฟ จนเกิดความขัดแย้งขยายวงแบบไร้ขอบเขต อาทิ การขยายวงขัดแย้งเพิ่มขึ้น กรณีการป้ายสีว่าพรรคก้าวไกลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเยาวชน ในทุกๆ กิจกรรม ซึ่งเป็นประเด็นดังกล่าวถือว่าไกลเกินกว่าเหตุ จนทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นในหลายมิติ และอาจเป็นการสร้างความเข้าใจที่คาดเคลื่อนได้ 

โดยเฉพาะบรรยากาศการเมือง ที่มีผลต่อการแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎหมายสำคัญ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมีการทำอย่างระมัดระวัง และสร้างกรอบบางประการขึ้น เพื่อไม่ละทิ้งบุคคลที่ควรคู่ต่อการได้รับความเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่น ว่าจะไม่ทำให้เกิดเหตุ ‘สุดโต่ง’ อย่าง การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ที่นำเสนอโดยพรรคก้าวไกลและภาคประชาชน ซึ่งเสนอควบรวมถึงผู้ต้องโทษคดี ม.112 ขณะนี้อาจยังยากที่จะสำเร็จในเร็ววันนี้ เพราะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายการเมืองปีกอนุรักษ์นิยม ใช้ยกเป็นอ้างด้านความกังวลใจ   

กระนั้น ใช่ว่าผู้ต้องโทษที่ถูกเล่นงานทางการเมืองโดยคดีดังกล่าว จะไร้สิ้นหนทางจะได้รับการผ่อนปรนอย่างธรรม โคทม เสนอว่า ภาคการเมืองควรใช้วิธี ‘แง้มฝาประตู’ ไม่ให้ ‘ลงดานปิดตายสนิท’ โดยการออกหรือเสนอกฎหมาย ที่บรรจุรายละเอียดการละเว้นโทษ โดยมุ่งไปที่การกลั่นกลอง ผู้ต้องหาคดี 112 เป็นลำดับขั้น เพื่อลดความตึงเครียด - ขจัดความกังวลต่อการแสดงพฤติกรรมที่สุดโต่งหลังถูกปล่อยตัว พร้อมกันนี้ต้องคืนอิสรภาพให้กับนักโทษที่ถูกเล่นงานทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมด้วย

“ฝากผู้รับผิดชอบ ว่าเราต้องการความเข้าอกเข้าใจอันดี และมีความปรารถนาดีต่อกันและกัน ทุกคนต้องเปิดใจและให้อภัยแก่กัน รวมถึงอย่างทิ้งเยาวชนที่โดน ม.112 ด้วย แต่ควรใช้ที่เหมาะสมในการพิจารณา บางคนเขาทำอะไรที่อุกฉกรรจ์ก็ต้องถูกดำเนินคดีไป แต่สำหรับบางคนที่ถูกเล่นงานเพราะเรื่องทางการเมือง หรือไม่ได้มีมีพฤติกรรมร้ายแรงที่จะส่งผลต่อความกังวล อาจต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป อันนี้เป็นความคิดของผมนะครับ”

โคทม อารียา กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์