ทิศทางการเดินหน้าของรัฐบาล เกี่ยวกับการผลักดันถึงนโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ยังคงอยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นขององค์กรอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มแสดงความกังวล กับมิติต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน หากต้องมีการกู้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ‘นิวัติไชย เกษมมงคล’ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตของรัฐบาล ภายหลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษา เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาล โดยวันนี้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ลงนามแล้ว เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป
นิวัติไชย กล่าวต่อถึงข้อเสนอ 8 ประการต่อรัฐบาล เพื่อพิจารณา โดยสรุปใจความสำคัญดังต่อไปนี้
- รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์การดำเนินโครงการตามนโยบาย และชี้แจงความชัดเจนเป็นรูปธรรม ว่า ประชาชนต้องเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคการเมือง หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่
- กกต. ควรตรวจสอบว่าการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขัดต่อ รธน. และ พ.ร.ป ประกอบฯ ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่
- รัฐบาลควรคำนึงถึง ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบการเงิน - การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ขณะที่ตัวเลขทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประชาชนและรัฐบาล
- คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาความเสี่ยงทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ เพื่อให้โครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย
- คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้าน พร้อมกำหนดมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และป้องกันการทุจริต มีการตรวจสอบทุกระยะตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินโครงการ อย่างโปร่งใส และเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนโดยแท้จริง
- การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับดิจิทัลวอลเล็ต ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม รวมถึงงบประมาณที่ใช้พัฒนาระบบ เพราะ การดำเนินนโยบายเป็นการแจกเงินเพียงครั้งเดียว ให้ใช้จ่ายแค่ 6 เดือน
- จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษา มีความเห็นตรงกันว่า อัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วย
- รัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มีฐานะยากจน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนกลุ่มเปาะบาง
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. แถลงข่าวเสร็จสิ้น 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาน้อมรับข้อเสนอแนะ พร้อมให้ความเห็น ในประเด็นข้อกังวลเรื่องการทุจริต ในการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ ว่าคงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ พร้อมยืนยันว่า เรื่องการแจกเงินเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีกลไกลตรวจสอบได้ชัดเจนอยู่แล้ว
เศรษฐา กล่าวตอบกลับ ป.ป.ช.
”อย่างที่บอกเรื่องของคนเปราะบางเริ่มจากวันแรกที่เราพูดคุยกันแล้วว่า ตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 บาทเปราะบาง ถ้าสูงกว่า 20,000 บาทไม่เปราะบาง หากคุณได้เงินเดือน 20,000 บาทคุณจะโต้เถียงหรือไม่ เพราะผมก็เปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะต้องการ การกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.หน้าที่ของท่านที่เสนอมาในเรื่องของการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ น้อมรับครับ“
เศรษฐา ทวีสิน กล่าวตอบกลับ ป.ป.ช.