ระวัง 'กระแสขัดแย้ง' จาก 'สภา' จะสร้างปัญหาต่อสังคม

15 กุมภาพันธ์ 2567 - 09:13

Controversial-issues-of-MPs-that-affect-society-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านมิติความขัดแย้ง 'ขบวนเสด็จ' ที่เกิดขึ้นจากการถกเถียงใน กับ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่เตือนท่านผู้แทนฯ ใช้ 'หลักการนำอารมณ์' ก่อนสังคมจะลุกลามเชื้อไฟ

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคม กำลังมีข้อถกเถียงทางการเมืองและความเชื่อ ตั้งแต่บนท้องถนนในมิติของ ‘กลุ่มผู้ชุมนุม’ จนมีการปะทะแบบเลือกตกยางออกมาแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงการถกเถียงกันในห้องประชุมรัฐสภาอันทรงเกียรติ กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในญัตติที่เกี่ยวกับการพิจารณามาตรการถวายอารักขาขบวนเสด็จ ซึ่งมีบางช่วงที่ สส. พาดพิงไปถึงเรื่องอื่น โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งเชิงความคิด ไม่ว่าจะมุมความเคลื่อนไหวของประชาชนนอกรัฐสภา รวมถึงการพาดพิง สส. ที่ทำหน้าที่ในห้องประชุมอยู่ ณ ขณะนั้นด้วย 

อย่างการตอบโต้กันระหว่าง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ สส.อุทัยธานี  พรรคภูมิใจไทย กับ ‘รังสิมันต์ โรม’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ถกเถียงอย่างรุนแรงในประเด็น ‘เบื้องหลังของกลุ่มเคลื่อนไหว’ และการแสดงจุดยืนทางความเชื่อบางประการ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไปซ้ำเติมความวุ่นวายในสังคมเพิ่มขึ้น

“มันเหมือนเป็นการระเบิดความรู้สึกใส่กัน หลังเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น ภาคการเมืองก็ต้องรีบแสดงอะไรบางอย่างออกมา แต่ต้องดูด้วยว่าการแอคชันออกมาแต่ละครั้งมันเกินเลยต่อประเด็นหลักไปหรือเปล่า”

เป็นการแสดงความกังวลของ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่มองภาพสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ กำลังอยู่ในช่วงขัดแย้งสูง เกิดเหตุการปะทะด้วยกำลังจากแนวร่วมผู้ชุมนุมที่มีความเชื่อแตกต่างกัน ขณะที่สมาชิกรัฐสภาผู้ทำหน้าที่ด้านขับเคลื่อนกฎหมาย ก็ยังมีท่าทีแข็งกร้าวใส่ซึ่งกันและกัน  

ส่วนหนึ่งมีชนวนเหตุมาจากกรณีความเห็นต่างในเรื่อง ‘ขบวนเสด็จฯ’ ทำให้นักการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยม ต้องเร่งแสดงจุดยืน เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนที่มีทิศทางตรงกันเข้าช่วยเป็นแรงสนับสนุน  

แต่อีกนัยหนึ่ง สส. เหล่านี้เปรียบเสมือน ‘ผู้แทนของประชาชน’ แต่ในฐานะที่เป็นผู้แทนฯ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีวิจารณญาณ ในการคัดกรองประเด็นและยับยั้งชั่งใจไม่ให้ ‘ภาวะทางอารมณ์’ เดินนำ ‘หลักการ’ หากไม่คำนึงในส่วนนี้ แรงตกกระทบจะไม่เกิดแค่ในรัฐสภา แต่จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงทัศนะและวิธีการแสดงท่าทีต่อประเด็นในสังคมด้วย  

อย่างกรณีของ ‘ชาดา’ ซึ่งไม่ได้มีบทบาทเป็นแค่ สส. แต่มีตำแหน่งอยู่ในฝ่ายบริหาร เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยฯ และยังเป็นบุคลากรสำคัญของพรรคภูมิใจไทย การแสดงออกจึงไม่ควรเรื่องการนำเรื่องส่วนตัวมาถกเถียง เพราะจะเป็นการสร้างภาพจำ ในฐานะพรรคการเมือง บุคลากรในกระทรวง และการเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลด้วย ดังนั้นสิ่งที่ควรพูดคือการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แสดงทรรษนะอย่างสุดโต่ง 

สติธร ตั้งข้อสังเกตทางการเมืองต่อว่า การแสดงจุดยืนของ ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ (ไม่นับรวมพรรคเพื่อไทย) ในวันนี้แสดงให้เห็นถึง ‘การสลายขั้ว’ ที่ ‘ไม่ได้สลายจริงๆ’ แต่เป็น ‘การสลายเพื่อจัดระเบียบใหม่’ ทำให้เกิดมิติเชิงทับซ้อน แบ่งขั้วการเมืองให้เห็นได้ว่า มี ‘สองขั้ว - สามข้าง’ บนถนนการเมืองไทย 

“ในมิติแบนราบเราจะเห็นว่ามี 2 ขั้วคือ รัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่มองให้ลึกลงไปจะพบว่ามี 3 ข้าง คือ เพื่อไทย ก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาล พอเป็นแบบนี้บางเรื่องที่เกิดขึ้น มักมีความแตกต่างเชิงความคิด รวมถึงวิธีการการแสดงออกของ 3 ข้างได้ชัดเจน อย่างเพื่อไทยกับพรรคร่วมฯ ที่ดูเหมือนจะเป็นขั้วเดียวกัน แต่เชิงนัยยะเขายังอยู่คนละข้าง ตอนนี้ก็ต้องเลือกจุดยืนในการเรียกคะแนนนิยมต่อไป ” 

สติธร ย้ำว่า แม้ในที่สุดสังคมไทยจะต้องกลับสู่ ภาวะที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นต่างกัน แต่เชื่อว่าทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกัน คือมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง ดังนั้นไม่ว่าจะประชาชน ข้าราชการ หรือสมาชิกรัฐสภา ควรลดทิฐิแบบสุดโต่ง อันจะส่อให้เกิดความรุนแรง หรือเพิ่มมิติให้เรื่องหนักหนามากขึ้น แต่ควรดำเนินการในลักษณะที่ ‘เหมาะสม’ และ ‘พอดี’ สังคมจะหันหน้าคุยกันอย่างสันติมากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์