การลาพักร้อนของเหล่ามนุษย์เงินเดือนไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือราชการถือว่าเป็นเรื่องปกติมาก แต่พอคนที่ลาไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่เป็นถึง ‘นายกรัฐมนตรี’ ที่กล้าออกปากตรงๆ ว่าขอใช้วันหยุดลาพักร้อน เพื่อไปพักผ่อนกลับครอบครัว กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมเสียงแตกเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาทันที บางคนมองว่าแปลกและเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม?
แต่รู้หรือไม่ ‘นายกรัฐมนตรี’ ก็มีสิทธิ์ลาเหมือนกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปเหมือนกันนะ โดยเรื่องนี้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไว้อย่างชัดเจน ใน ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555’ ที่มี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามแก้ไขปรับปรุง
โดยในหมวด 3 การลาของข้าราชการการเมือง ข้อที่ 41 ระบุว่า ‘การลาทุกประเภทและการไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ในดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ’ และไม่ได้ระบุให้ใช้เกณฑ์การลาของข้าราชการพลเรือนมาเทียบ หมายความว่า ‘นายกรัฐมนตรี’ สามารถลาได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร

ส่วนประเภทการลาของที่ระบุไว้ในระเบียบฉบับนี้ พบว่ามีทั้งหมด 11 ประเภท ประกอบด้วย
- การลาป่วย
- การลาคลอดบุตร
- การลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร
- การลากิจส่วนตัว
- การลาพักผ่อน
- การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย์
- การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล
- การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย หรือดูงาน
- การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
- การลาติดตามคู่สมรส
- การลาไปฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ
แม้จะมีการเขียนว่า ‘ลาพักร้อน’ โดยตรง แต่ประเภทการลาที่ใกล้เคียงกับการลาของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากที่สุด คงจะเป็น ‘การลาพักผ่อน’ ซึ่งในการลาประเภทต่างๆ ได้มีการลงรายละเอียดในส่วนของการลาของ ‘ข้าราชการ’ ไว้อย่างชัดเจน ว่าลาได้กี่วัน แต่ในส่วนของ ‘นายกรัฐมนตรี’ หรือการลาของ ‘ข้าราชการการเมือง’ ไม่ได้มีการกำหนดวันลาในระเบียบไว้อย่างชัดเจน

ส่วนใครจะมองว่าการที่ ‘นายกรัฐมนตรี’ ลาพักร้อนเป็นเรื่องแปลก ผู้เขียนคิดว่าก็คง ‘ไม่แปลก’ เพราะที่ผ่านมา เราไม่เคยเห็น ‘นายกรัฐมนตรีไทย’ คนไหนใช้คำว่า ‘ลาพักร้อน’ มาก่อน แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี ‘นายกรัฐมนตรี’ เคยลามาก่อน เพียงแต่พวกเขาไม่เคยใช้คำว่า ‘ลาพักร้อน’ แต่ใช้เพียงคำว่า ‘ลาราชการ’
หมายความว่า ‘นายกฯ เศรษฐา’ อาจเป็น ‘นายกฯ คนแรก’ ที่ออกมาพูดตรงๆ ว่าเป็น ‘การลาพักร้อน’ ตามสไตล์ของผู้ที่เคยเป็น CEO บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ ที่มีความคิดและตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ มีความคิดแบบสมัยใหม่ จึงมองว่าลาพักร้อนไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
— ผู้นำระดับโลกลาพักร้อนกันไหม? —
ขณะที่ผู้นำระดับโลกจากชาติอื่นๆ ก็มี ‘การลาพักร้อน’ แบบชนิดที่เรียกว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ เช่น ประเทศสหรัฐฯ ที่มีธรรมเนียมปฏิบัติว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่ ‘ประธานาธิบดีสหรัฐฯ’ จะใช้สิทธิ์ลาพักร้อน
- ‘บารัก โอบามา’ ลาพักร้อนช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2559
- ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ลาพักร้อนช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 ยาวนานถึง 17 วัน
- ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ลาพักร้อนในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2566 เช่นกัน
นอกจากผู้นำประเทศสหรัฐฯ แล้ว ยังมีผู้นำจากอีกหลายประเทศที่ลาพักร้อนเหมือนกัน เช่น ประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ ที่ลาพักร้อนในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 ซึ่งการลาครั้งนั้น ถูกมองว่า ประธานาธิบดียุน ต้องการเลี่ยงพบ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ที่ขณะนั้นมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งกับจีนอยู่