ทำไปทำมา พรรคเพื่อไทยกำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า ‘ยื้อ’ กฎหมายนิรโทษกรรม ด้วยการตั้งคณะกรรมการ ในเรื่องนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า พรรคเพื่อไทย ไม่มีเหตุผลอะไรจะไปยื้อ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เราพูดไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น คือปัญหาของประเทศ ปัญหาของประเทศ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากวิกฤตความขัดแย้งที่ไม่ยินยอมกัน และต้องการที่จะผลักดันให้ได้ตามความต้องการของตน
หากเป็นแบบนี้ คงต้องใช้เวลาเพื่อที่จะทำให้ปัญหาคลี่คลายลง ถึงจุดที่พอเป็นฉันทามติของสังคมได้ การแก้ปัญหาก็จะจบ แต่ตราบใดที่คุยกันแล้ว ยังมีคนต้านอย่างรุนแรง แล้วเราประเมินว่า การต้านเพียงแค่ไม่ใช่ของคนกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาล ยังจะไม่ขยับจนกว่าจะมีข้อสรุปของสังคม
ขอย้ำว่า ไม่ใช่การยื้ออะไร แต่เป็นการพยายามจัดการปัญหาความขัดแย้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะไม่แก้ปัญหาเพื่อนำมาสู่ปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ผมพูดเสมอว่า ตอนนี้ ต้องแก้ปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมก็ต้องทำ เราขัดแย้งมาตลอด ก็รู้อยู่แล้วว่าทำอะไรแล้วจะเกิดความขัดแย้ง ทำอะไรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป แต่แน่นอนการตัดสินใจหลายอย่าง ไม่สามารถทำได้ตามความพึงพอใจในทันที แต่ถ้าทุกคนเห็นพ้องต้องกัน การตัดสินใจทำอะไรไปก็จะเกิดความสงบสุข
ภูมิธรรม เวชยชัย
เมื่อถามว่า อะไรคือตัวชี้วัดที่ทำให้สังคมเห็นพ้องต้องกัน จะต้องทำประชามติหรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ต้องไปติดกับรูปแบบ การรับฟังก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนเห็นพ้องได้ และอย่างผลโพลที่หลายสำนัก สำรวจออกมา ก็ยังมีความต่างกัน ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องฟังทุกส่วน แล้วชั่งใจและใช้ดุลพินิจพิจารณาทุกเรื่องและตัดสินใจในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด เพราะรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองคิดและทำ
คุยห้องเล็กดีที่สุด! ‘เพื่อไทย’ ปัดถ่วงเวลาตั้ง ‘กมธ.วิสามัญศึกษาร่างฯ นิรโทษกรรม’ ชี้เป็นประเด็นละเอียดอ่อน-โยง ‘ม.112’ เข้าที่ประชุมใหญ่ต้อง ‘ประชุมลับ’ เชื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง
ขณะที่ประเด็นการเตรียมเลื่อนญัตติของ ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมนั้น
ทางด้าน สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นการเดินหน้า และเชื่อว่าการพูดคุยกันในห้องประชุมเล็กจะดีกว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีความละเอียดอ่อน การพูดคุยกันในห้องประชุมใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายก็จบลงกันที่การประชุมลับ เพราะมีเรื่องของมาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล มีความเห็นตรงกันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อศึกษาการเสนอกฎหมายดังกล่าว ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ที่มีการยื่นให้ประธานรัฐสภาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเมื่อใด จึงเชื่อว่าการพูดคุยในห้องเล็ก อาจมีความเห็นตรงกันในหลายเรื่อง
ทุกพรรคการเมืองและทุกภาคส่วน ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมืองต้องมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยินดีที่จะแสดงความจริงใจในการผลักดันเรื่องดังกล่าวถึงแม้จะเคยมีการศึกษามาแล้ว แต่เวลาเปลี่ยน จุดยืนของคนก็เปลี่ยน บางคนเคยเป็นเหลือง ก็กลายมาเป็นแดง หรือตอนนี้ไม่มีสีแล้ว ผมมองว่า ควรหาจุดร่วมเพื่อทำกฎหมายบรรเทาทุกข์ประชาชน รวมถึงเยาวชนที่อาจจะผิดพลาดไป ดังนั้น การมาคุยในห้องเล็กดีที่สุด
สรวงศ์ เทียนทอง
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย ยังไม่มีการยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นฉบับของพรรคฯ แต่ได้เสนอให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมา เพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลจะได้ผนึกกำลังเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันเป็นร่างเดียว เพราะในเนื้อหาเราเห็นตรงกันเกือบทุกเรื่อง ติดอยู่เพียงเรื่องละเอียดอ่อนมากเพียงเรื่องเดียว เช่น มาตรา 112 ที่หากเข้าห้องประชุมใหญ่แล้ว ต้องประชุมลับอย่างแน่นอน
แต่ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะ กมธ.วิสามัญ จะใช้กรอบเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 60 วัน รวมถึงจะนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาด้วย
‘ก้าวไกล’ พร้อมร่วม ‘กมธ.ศึกษานิรโทษกรรม’ ชี้เป็นวิธีที่แต่ละพรรคจะขับเคลื่อน ยันยังเสนอร่างกฏหมายพิจารณาควบคู่ หวังได้รับแรงหนุนจากทั้ง ‘ฝ่ายค้าน-รัฐบาล’
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการเสนอเลื่อนญัตติ ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาร่างกฏหมายนิรโทษกรรมของวิปรัฐบาล ว่า เป็นสิทธิ์แต่ละพรรคการเมืองที่จะใช้วิธีดำเนินการผลักดันร่างกฏหมายที่แตกต่างกัน หากมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษา พรรคก้าวไกลจะเสนอร่างกฏหมายที่พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นไปแล้ว เข้าสู่การพิจารณาควบคู่กัน อธิบายอธิบายเหตุผล และหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองในสภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ส่วนกรอบเวลาศึกษา 60 วัน จะทำให้การออกกฏหมายล่าช้าหรือไม่นั้น พรรคก้าวไกลมีร่างกฎหมายพร้อมแล้ว และยังมีร่างฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ, ร่างฯ ของพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่ยังไม่มีเรื่องกฎหมาย อาจใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษา ซึ่งหากจะพิจารณาร่างฯ ของพรรคก้าวไกล ก็มีความพร้อมในทันที แต่ถ้าที่ประชุมสภาฯ จะใช้วิธีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาก่อน เราก็จะใช้ร่างฯ ของเรา เข้าไปพูดคุยในกรรมาธิการวิสามัญ
เข้าใจว่าเป็นวิธีหนึ่งที่วิปรัฐบาลเลือกที่จะดำเนินการ เราจะพยายามใช้พื้นที่อย่างเต็มที่ในการนำเสนอหลักคิดและเหตุผลร่างฯ ของเรา และหวังว่าร่างฯ ของเรา จะถูกพิจารณาในวาระแรก และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เราเข้าใจดีว่าถ้าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เสียง สส.พรรคก้าวไกลอย่างเดียวคงไม่พอ เราจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นทั้งในสิ่งฝ่ายค้านและรัฐบาล ให้ความเห็นชอบร่างฯ ของเรา
พริษฐ์ วัชรสินธุ
รับคำวินิจฉัยศาลคดี ‘ม.112’ นำประกอบการพิจารณาผลักดันเสนอกฎหมาย
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่หลายฝ่ายกังวลว่าการนิรโทษมาตรา 112 จะเป็นประเด็นอ่อนไหวและแยกออกมาไม่ได้ถูกเข้าร่วมสนุกในร่างกฎหมายนิรโทษกรรม พริษฐ์ กล่าวว่า ในหลักการ ร่างฯ ของพรรคก้าวไกล หลักคิดที่จะนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจแสดงออกทางการเมือง ซึ่งในร่างฯ ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้ระบุฐานความผิดเป็นการเฉพาะ แต่จะมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาพิจารณาเป็นกรณีไป
พริษฐ์ ระบุด้วยว่า สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันพรุ่งนี้ เกี่ยวกับการเสนอแก้มาตรา 112 จะนำมาประกอบการพิจารณา เพื่อพลักดันเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้เกิดความสำเร็จ ทั้งนี้ ร่างกฏหมายนิรโทษกรรมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล ไม่ได้เดินทางไปรับฟังคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร