คำสั่ง 66/2523 โมเดลปรองดอง ล้างผิด ยุติความขัดแย้ง!

30 พ.ย. 2566 - 09:43

  • ล้างผิด ยุติความขัดแย้ง

  • ชี้ช่องนิรโทษกรรมพรรคก้าวไกล ให้เน้นที่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ควรพูดเรื่องตัวบทกฎหมาย

  • พรรคเพื่อไทยตั้งเงื่อนไขนิรโทษกรรม ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

Order_of_the_Office_of_the_Prime_Minister_66_2523_Reconciliation_Model_SPACEBAR_Hero_39e307ea6b.jpg

หลังพรรคก้าวไกล นำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ล้างผิดให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆ นับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2549 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันซึ่งรวมถึงความผิดคดี มาตรา 112 ด้วย

โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และเตรียมนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดสมัยประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคมนี้

ระหว่างนี้พรรคก้าวไกล นำโดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคฯ ได้เดินสายพบปะขอรับการสนับสนุนจากตัวแทนกลุ่มต่างๆ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบรับมากนัก โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา และแม้แต่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะผู้ทำความผิด มาตรา 112 และตั้งเงื่อนไขไว้สูง

#การนิรโทษกรรมต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่

เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบ ‘เหมาเข่ง’ ที่พารรคก้าวไกลรวมเอาผู้กระทำความผิด มาตรา 112 ไว้ในร่างฉบับดังกล่าวด้วย

Order_of_the_Office_of_the_Prime_Minister_66_2523_Reconciliation_Model_SPACEBAR_Photo01_cd3fba2a7e.jpg

ดังนั้น ในวันที่คณะจากพรรคก้าวไกล ไปพบกับนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ

โดยนายวิชา ให้คำแนะนำกับคณะของพรรคก้าวไกลไปว่า ในร่างที่นำเสนอไม่ควรพูดถึงเรื่องตัวบทกฎหมาย แต่ควรเน้นเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่จะให้มีการนิรโทษกรรม เหมือนกับที่มีการนิรโทษก่อนหน้านี้ ที่จะพูดถึงเฉพาะเหตุการณ์ว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาใดถึงเวลาใด เพราะหากมีการใส่ไปว่าให้นิรโทษกรรมคนที่ผิดมาตราใด เป็นการเฉพาะเลย จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ต้องทะเลาะกันวุ่นวาย

“ผมแนะนำเขาไปว่า การนิรโทษกรรมคือการนิรโทษกรรมตามเหตุการณ์ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมันจะเอาว่าผิดอย่างไร มันก็จะไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ พอคุยกันก็จะทะเลาะกันวุ่นวาย ให้ไปดูอย่าง เช่น ที่เคยมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ก่อนหน้านี้ที่ไม่ใช่ออกเป็นกฎหมาย แต่ก็ทำออกมาได้”

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 จึงเป็นโมเดลที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ถูกนำมาพูดถึงหลายครั้งในสมัยรัฐบาล คสช.เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในบ้านเมือง

แต่ดูจะยังห่างไกลความปรองดองอยู่มาก เนื่องจากกรรมการชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมา ไม่ว่า ‘ป.ย.ป.’ หรือที่มีชื่อเต็มๆ ยาวเป็นกิโลว่า คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง 

รวมทั้ง ‘สปท.’ หรือคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ตั้งกันขึ้นมา ก็น่าจะใช้นโยบาย 66/2523 มาเป็นต้นแบบเช่นกัน แต่การขับเคลื่อนยังไปไม่ถึงแก่นของคำสั่งที่ว่านั้น

นโยบาย 66/23 มีการสรุปไว้ในหลายที่หลายแห่งว่า เป็นสูตรปรองดองที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้การเมืองนำการทหาร ยุติสถานการณ์สงครามปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ ใช้การเมืองนำการทหาร ขจัดการขยายแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ในเมือง พร้อมกับขจัดความไม่เป็นธรรม สนับสนุนประชาธิปไตย ปฏิบัติต่อผู้เข้ามอบตัวอย่าง “เพื่อนร่วมชาติ”

คำสั่ง 66/23 ได้สร้างจุดเปลี่ยน ยุติสงครามสู้รบในชนบทและยุติความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน จนท้ายสุดได้นำไปสู่การยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้อีก

Order_of_the_Office_of_the_Prime_Minister_66_2523_Reconciliation_Model_SPACEBAR_Photo02_5cb0842e59.jpg

ต่อไปนี้คือสาระสำคัญของคำสั่ง 66/2523 ที่มีการสรุปแบบย่อความเอาไว้ดังนี้

1.ช่วงแรกกล่าวถึงสถานการณ์ในบริบทโลกว่า การเผชิญหน้าในรูปแบบของสงครามเย็นอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยดำรงเจตนาอันแน่วแน่ทำสงครามปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐ โดยใช้เงื่อนไขประชาชาติประชาธิปไตยเป็นหลักและใช้เงื่อนไขอื่นๆ

2.รัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างเคร่งครัด รัฐบาลถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญและเร่งด่วนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์อันเป็นสาเหตุสำคัญยิ่งในการบั่นทอนความมั่นคง

3.รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะบริหารราชการแผ่นดินโดยคำนึงถึงความผาสุกของประชาชน ยึดมั่นในการประสานผลประโยชน์ของคนในชาติ ปลูกฝังให้คนไทยทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพในการรับใช้ประชาชน และให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

4.นิยามบทบาทของกองทัพใหม่ คือ ให้กองทัพมีบทบาทและหน้าที่สำคัญคือป้องกันประเทศและรักษาไว้ซึ่งเอกราชของชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

5.คำสั่ง 66/2523 กำหนดนโยบายให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปปฏิบัติว่า “ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง เน้นหนักในการปฏิบัติทั้งปวง เพื่อลิดรอนทำลายขบวนการแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธเพื่อยุติสถานการณ์ปฏิวัติ ยับยั้งการปฏิบัติเพื่อสร้างสถานการณ์สงครามประชาชาติด้วยนโยบายเป็นกลาง และขยายผลจากโอกาสที่เปิดให้เพื่อเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการการต่อสู้ในแนวทางสันติ”

7.ในขั้นการปฏิบัติระบุว่าให้หลีกเลี่ยงการดำเนินการยืดเยื้อ ต้องเอาชนะอย่างรวดเร็วด้วยการรุกทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง ใช้งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ

8.ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

9.กำหนดการปฏิบัติให้มีการประสานประโยชน์ระหว่างชนชั้น เสียสละผลประโยชน์ของชนชั้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องมีจิตใจที่เป็นธรรม และเข้าใจปัญหาของประชาชนทุกชนชั้น

10.ส่งเสริมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพให้สามารถในการปกครองตนเอง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกชนชั้นและสาขาอาชีพได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

11.สนับสนุนการจัดตั้งขบวนการประชาธิปไตยทั้งสิ้นที่มีอยู่ โดยคำนึงถึงสิทธิและผลประโยชน์ของกลุ่มชนนั้นๆ อันพึงจะมี อย่างไรก็ตามเตือนให้ให้ระมัดระวังและอย่าสับสนระหว่างขบวนการประชาธิปไตย กับขบวนการคอมมิวนิสต์ที่แอบแฝงประชาธิปไตยนำหน้า

12.ภารกิจของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร มีทั้งการต่อสู้โดยใช้กำลังอาวุธ และการปฏิบัติในด้านการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น แต่การปฏิบัติด้วยกำลังอาวุธให้พิจารณาประเภท ขนาดกำลังและยุทธวิธีให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่เพื่อกดดัน ลิดรอน ทำลาย กองกำลังติดอาวุธโดยต่อเนื่อง

13.ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม

14.ขจัดการจัดตั้งและขยายแนวร่วมตามแนวทางการเมืองสนับสนุนป่า และการขัดขวางการสร้างสถานการณ์ปฏิวัติ หรือสถานการณ์ที่นำชาติไปสู่การสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ

15.การข่าว การจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ เป็นมาตรการอันสำคัญและให้ดำเนินการในลักษณะเชิงรุกอย่างมีแผนและสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกขั้นตอน

16.สำหรับโครงสร้างการบริหาร กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ รับผิดชอบในการเสนอคณะรัฐมนตรี ในเรื่องอันเกี่ยวกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง และให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นกองอำนวยการเฉพาะกิจ

แม้ปมปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยร่วมสองทศวรรษและยังติดหล่มอยู่เวลานี้ จะแตกต่างจากความขัดแย้งในอดีตที่ต่อสู้ด้วยอาวุธก็ตาม แต่ข้อเสนอของนายวิชา มหาคุณ คงอยากเห็นการนำความสำเร็จจากนโยบายที่ว่านั้น มาปรับใช้กับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหนนี้มากกว่า

เพราะคำสั่ง 66/23 เป็นเสมือนคัมภีร์แห่งความปรองดองสมานฉันท์ ที่ผ่านการทดสอบกับสงครามใหญ่และประสบความสำเร็จมาแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์