






แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัวในรอบ 7 ปี
โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้นำทั้ง 7 ประเทศ รวมทั้งไทยเข้าร่วมประชุม ได้แก่ มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน, นเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย, พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา, เค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล, หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ โดยได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบปรามแก๊ง Call Center และขบวนการ Online Scam รวมทั้งการประสานงานเพื่อช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงให้กลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทยทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแพทองธารกล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานตาม “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” (Clear Sky Strategy) เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาได้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จุดความร้อนและปัญหาฝุ่นควันลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ไทยและเมียนมายังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำและแม่น้ำระหว่างสองประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนฤดูฝนในปีนี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยและเมียนมาจะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ เช่น การปลูกข้าวโพดให้มีผลผลิตมากขึ้น ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่ โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น
โดยความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘บิมสเทค’ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ครั้งนี้ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทยตามนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy)
ปัจจุบัน บิมสเทคมีความร่วมมือ 7 สาขา ได้แก่
- การค้า การลงทุน และการพัฒนา
- สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ความมั่นคง
- การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
- การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน
- วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
- ความเชื่อมโยง
ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา
ผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศร่วมกันในฐานะสมาชิก ซึ่งมีประชากรรวมราว 1,800 ล้านคน ถือเป็นพลังสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ