ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ รองหัวหน้าพรรค เปิดเผยว่า วันนี้ได้แจ้งในที่ประชุมทราบว่ามีปรากฏตามข่าวว่ากรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีมติไม่ให้พรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล ส่วนตัวขอแจ้งว่าเรื่องของพรรคพลังประชารัฐไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย แต่เกี่ยวโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี เพราะนายกรัฐมนตรี เคยมีสัญญาประชาคมหรือเรียกว่าข้อตกลง เสมือนเป็นคำมั่นกับพรรคพลังประชารัฐที่แสดงออกต่อสาธารณะว่าจะให้พรรคพลังประชารัฐลงมติเห็นชอบให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะให้ พลังประชารัฐมีที่นั่งในคณะรัฐมนตรีด้วยตามสัดส่วนเดิม
ซึ่งพรรคได้ให้ สส. ไปลงมติสนับสนุนให้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 39 คนมีเพียง ‘พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ติดภารกิจไม่สามารถไปร่วมออกเสียงได้ แสดงว่าพรรคได้ทำตามคำมั่นแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงควรต้องทำตามคำมั่นที่ให้ไว้เช่นกัน

ไพบูลย์ ยังยกกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 362 บัญญัติว่าบุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใดก็จำต้องให้รางวัลใดใดผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงไม่ใช่ว่าผู้นั้นจะกระทำการโดยเห็นแก่รางวัล ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การกดดัน แต่เป็นเพียงการพูดข้อกฎหมายเท่านั้น กรณีของนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นกับพรรคพลังประชารัฐ และในครั้งหลังสุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมายืนยันว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงถือว่าครบสมบูรณ์ตามหลักการของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ยืนยันว่า พรรคพลังประชารัฐ สบายมาก พลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคมีความสุข เข้มแข็ง และแน่วแน่ ที่จะดูแลพรรคในฐานะหัวหน้าพรรคไปจนกว่าจะไม่ไหว ดังนั้น เรื่องที่เกิดขึ้นหากเป็นไปตามนั้นก็ถือว่าเฉยๆ ที่ประชุมไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เพราะไม่ถือว่าต้องเป็นห่วง แต่คนที่ควรเป็นห่วงคือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมากกว่า เพราะการที่ให้คำมั่นสัญญาครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำมั่น วิญญูชนโดยทั่วไปก็จะว่าได้ว่านายกรัฐมนตรี ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

ดังนั้น ควรเป็นห่วงนายกรัฐมนตรีมากกว่า เพราะหลักการมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ถือว่ามีความสำคัญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 บอกว่าการพิจารณาเจตนารมย์ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำปรารภที่รัฐธรรมนูญวางไว้กลไกป้องกันตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบที่เข้มงวดเด็ดขาดเพื่อไม่ให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองหรือใช้อำนาจตามอำเภอใจ
“การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 1 รู้หรือ ควรรู้ข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 แต่ยังเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องที่ 1 ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 วงเล็บ 4 และศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาต่อไปว่าเมื่อขาดคุณสมบัติ เรื่องนี้ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 ข้อ 8 ที่บัญญัติว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ศาลจึงเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากไม่มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ตามหลักวิชาการเท่านั้น”
ไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ ไพบูลย์ ยืนยันว่า แม้ในอนาคตจะไม่ได้ร่วมรัฐบาลและต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน ก็จะไม่มีการยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี เพราะ พลังประชารัฐ เป็นพรรคผู้ใหญ่ ไม่ไปทำอะไรอย่างนั้น เพียงแค่ต้องการบอกว่าเป็นเรื่องของคำมั่น ซึ่งไม่ต้องมีสัญญาหรือลงลายมือชื่อ เพราะเป็นเรื่องของการแสดงเจตนาจึงอยากถามกับนายกรัฐมนตรี ว่ามีคำมั่นแล้วไม่ปฏิบัติตามก็จะกลายเป็นข้อครหา ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้อย่างชัดเจน ซึ่ง พลังประชารัฐ ไม่ได้หวังจะให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อทำแล้วก็ทำต่อไปให้มันจบ ในส่วน พลังประชารัฐ มีความมั่นคง และพร้อมทำทุกหน้าที่ที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน และขอฝากไปถึงพรรคเพื่อไทยว่า “เราไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรกับพรรค ไม่ต้องมามีมติเรื่องอะไรกับเรา“
ส่วนที่มีกระข่าวว่าคนบ้านป่ามีคลิปวิดีโอของคนบ้านจัทร์ส่องหล้าเรียกรัฐมนตรีหารือในวันที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวไม่ทราบ แล้วต่อให้รู้ก็ไม่รู้จะพูดทำไม
หากมีคลิปจริงจะเป็นไม้เด็ดในเรื่องของครอบงำพรรคหรือไม่ ว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เท่าที่ดูจากสื่อมวลชน แต่วันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ยังต้องการจะบอกว่าให้สื่อมวลชนไปห่วงนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องห่วงพรรคพลังประชารัฐ เราสบายมาก หัวหน้าพรรคอารมณ์ดีมาก ในระยะนี้ไม่รู้เพราะอะไร สิ่งที่ตนเองเป็นห่วงคือสถานะของรัฐบาล หากเริ่มต้นอย่างนี้จะอยู่ไปได้นานเพียงใด ตอนนี้ไม่สำคัญแล้วว่าจะมีชื่อร่วมรัฐบาลหรือไม่ ยิ่งไม่มีชื่อจะกลายเป็นเรื่องดี แสดงให้เห็นว่าไม่ทำตามคำมั่น และ สส. ก็จะมีความสุข ทำงานอย่างเป็นอิสระ ไม่มีข้อจำกัดอะไร ส่วนที่ถามว่าต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ก็เป็นเพียงระเบียบของสภาฯ ที่กำหนดว่าเมื่อไม่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ในการทำงานจริง ๆ ก็เป็นพลังประชารัฐ ที่ทำงานตามอุดมการณ์ของตนเองเหมือนเดิม
หากไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ไปเป็นฝ่ายค้านไม่เห็นเป็นไร เป็นฝ่ายค้านเสียหายตรงไหน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ก็เป็นอดีตฝ่ายค้าน ส่วนตัวมองว่าเป็นประโยชน์ หากต้องไปเป็นร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่ยังไม่ทันไรก็ ปฏิบัติตามคำมั่นไม่ได้ หากต้องอยู่ด้วยก็เสียชื่อพรรค ประชาชนอาจมองเราในด้านไม่ดี ลองไปสำรวจความเห็นที่มีต่อนายกรัฐมนตรีดูว่าเป็นอย่างไรส่วนตัวไม่อยากวิจารณ์ และดีใจที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวอะไรกัน
ทั้งนี้ ไพบูลย์ ย้ำว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวพลังประชารัฐ คนอื่นไม่อยากให้มาเกี่ยว ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีมติขับ ‘ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า’ ออกจากพรรคแน่นอน เพราะเป็นคนในครอบครัว ใครจะขับคนในครอบครัวตัวเอง เรามีความสุขที่จะอยู่ด้วยกัน สส.พรรคพลังประชารัฐ ยังกินข้าวด้วยกันมีความสุขปกติเป็นหนึ่งเดียวกันหมด ไม่รู้ทำไมคนนอกชอบมองประสงค์ร้ายกับเราหรือไม่