ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์นี้ว่า จะมีกฎหมายหลายฉบับที่กรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่การพิจารณา เช่น ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร และร่างพ.ร.บ.อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่เป็นการคืนอาวุธติดดาบให้กรรมาธิการเชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจง ให้ข้อมูล หลังจากที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งเรียกขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีการแก้ไขกฎหมาย และยังมีร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่จะยืนยันตามร่างของสส. โดยได้พูดคุย ปรึกษากันภายในพรรคประชาชนว่า ประชามติ 2 ครั้งก็เพียงพอ ส่วนที่จะต้องดึงไว้ 180 วันก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีกฎหมายประชามติเดิมอยู่แล้ว และหากใช้การประชามติ 2 ครั้งเป็นหลัก ก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงการนัดดินเนอร์พรรรร่วมฝ่ายค้านวันพรุ่งนี้ (18ธ.ค.)ว่ า มีวาระหลักๆ ที่ผู้นำฝ่ายค้านเชิญแต่ละพรรคเพราะมีการเปลี่ยนแปลงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รอบที่แล้วเคยจัด มา 1 รอบที่ชัยธวัช ตุลาธน เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ตอนนี้ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ มาเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่นาน จึงอยากเชิญทุกพรรคฝ่ายค้านมาพูดคุยกัน เพราะสมัยประชุมนี้ก็มีเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาคือ เรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะปรึกษาหารือช่วงเวลาที่เหมาะสมและความเห็นของแต่ละพรรค รวมถึงการทำงานร่วมกันในแง่มุมอื่นๆ ด้วยการร่วมงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านแตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่ได้ร่วมแบบสมัครใจ 100% และแต่ละพรรคคงมีความเห็นอุดมการณ์แนวคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้น การร่วมงานของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือการสงวนจุดต่างกัน เห็นไม่เหมือนกันได้ เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้ แต่อะไรที่สามารถทำให้การทำงานในสภาราบรื่นได้ก็จะต้องพูดคุยกัน
ส่วนจะหวังความร่วมมือของพรรคพลังประชารัฐได้มากน้อยแค่ไหน ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ปกรณ์วุฒิ ย้ำว่า การทำงานของฝ่ายค้านต่างจากรัฐบาล และตั้งแต่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านครั้งก่อน จะถามตลอดว่า ในแต่ละร่างกฎหมาย มีความคิดอย่างไร ถ้าเห็นไม่เหมือนกันไม่มีปัญหา เพราะแต่ละพรรคมีแนวคิดไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดหวังว่า จะทำให้การทำงานในสภาราบรื่น อันไหนที่เห็นตรงกันก็อยากให้สมาชิกอยู่ร่วมกันลงมติให้มากที่สุด เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน
สำหรับเสียงของฝ่ายค้าน 170 กว่าเสียงจะทำให้การทำงานเป็นอย่างไร ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญและการทำงานตรวจสอบถ่วงดุลตามเจตจำนงของประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องจำนวนเสียงไม่ได้สำคัญกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร
ส่วนหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า แต่ละครั้งหลากหลายขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละพรรคมีและแต่ละปีว่า ช่วงเวลานั้นมีประเด็นอะไรที่แต่ละพรรคมีข้อมูลและติดตามอยู่ คงจะคุยในกรอบกว้างๆ ว่าแต่ละพรรคเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหน สนใจตรวจสอบเรื่องใดเป็นพิเศษบ้าง และเรื่องนี้คงขอกันไม่ได้ว่า จะอภิปรายหรือไม่อภิปรายเรื่องอะไร ยืนยันว่า ตรวจสอบเต็มที่
ปกรณ์วุฒิ ยังยืนยันว่า ฝ่ายค้านต้องการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามในสภา โดยฝ่ายค้านเตรียมไว้หลายเรื่องที่สังคมสนใจต่อเนื่อง ตั้งแต่หลังแถลงผลงานของรัฐบาล และเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือหนักหนาอะไร แต่เป็นโอกาสอันดีที่หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาเป็นเรื่องสำคัญ มาตอบกระทู้ด้วยตนเอง คงจะไม่เกินความสามารถของนายกรัฐมนตรี เป็นโอกาสที่ดีที่นายกรัฐมนตรีจะมาตอบชี้แจงแก้ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ถ้านายกรัฐมนตรีติดภารกิจ สามารถล็อกภารกิจที่สภาล่วงหน้าไว้ 1 วันได้ เพราะภารกิจอื่นๆ ก็ล็อกเวลาล่วงหน้าเป็นเดือนได้
ปกรณ์วุฒิ ยังเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ พรรคประชาชนจะเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถพิจารณาและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระรัฐสภาได้ในช่วงเดือนม.ค. 2568 อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เห็นทิศทางที่จะสามารถบรรจุวาระได้ โดยไม่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน
ปกรณ์วุฒิ กล่าวต่อว่า วันมูหะมัดนอร์ มีทิศทางที่จะเห็นด้วยกับข้อมูลใหม่ที่ได้เสนอไปในการหารือ ซึ่งหลังจากที่พรรคประชาชนเสนอแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนการทำความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภาต่อไป และในข้อมูลใหม่ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยส่วนตนที่ถูกมองว่าไม่มีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญนั้น มองว่า คำวินิจฉัยส่วนตนจะเป็นที่ชี้ให้เห็นต่อคำวินิจฉัยกลาง ที่ในรายละเอียดไม่ได้บอกรายละเอียดๆ ไว้
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยมีท่าทีจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ด้วยหรือไม่ หลังจากที่ได้หารือกับ ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาแล้ว ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้ แต่หากจะดำเนินการไปพร้อมกันในเดือน ม.ค.2568 ภายในสัปดาห์นี้ หรือต้นสัปดาห์หน้าต้องชัดเจน เพราะการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การมี สสร.นั้น ต้องมีเวลาดำเนินการก่อนบรรจุวาระ 15 วัน
“ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาชนเสนอแก้ไขรายมาตรา กว่า 17 ฉบับนั้น ยังหารือกันว่าไม่ควรทำทีเดียวพร้อมกัน เพราะจะสับสน ผมมองว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การมี สสร.ควรพิจารณาก่อนในเดือน ม.ค.นี้ ส่วนการแก้รายมาตรานั้นควรนัดประชุมรัฐสภาสัปดาห์ถัดไป”
ปกรณ์วุฒิ กล่าว