ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของฝ่านค้านต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและคณะเป็นผู้เสนอ
ปกรณ์วุฒิ ระบุว่า จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากชุดกฎหมายชุดแรก ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นไป ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ปี 66 เพียงแต่เพิ่งได้เข้ามาในคิวของสภาฯ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ขอไปพิจารณาภายใน 60 วัน และคืนกลับมาที่สภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมพอดี ถึงได้มีการขยับเคลื่อนไหวของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่จะยื่นเข้ามาประกบเอง
ต้องพูดตามตรงว่า ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยื่นเข้าไปในตอนนั้น และไม่ได้เข้าคิวสภาฯ ก็อาจจะไม่มีพรรคไหนที่จะเริ่มเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยตัวเองเลย ซึ่งเราเป็นคนยื่นเอง ดังนั้น เราจึงเห็นด้วยกับเนื้อหาร่างการแก้นี้อยู่แล้ว และร่างของนายประยุทธ์ ก็ถือว่าใช่ได้ และค่อนข้างใกล้เคียง แตกต่างเพียงรายละเอียด ซึ่งผมมองว่า เป็นจุดประสงค์หลักของการรับร่างวาระหนึ่ง และก็เข้าไปพูดคุยกันในกรรมาธิการ
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
พร้อมย้ำว่า พรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว อีกทั้งเห็นว่า ร่างนี้อาจจะถูกบิดไปแล้วไม่ตรง คือกฎหมายโดยตรง ไม่ใช่การป้องกันการรัฐประหารโดยตรงขนาดนั้น แต่คือการทำให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งคิดว่าไม่มีแค่พรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ที่หาเสียงนี้
พรรคเพื่อไทยก็หาเสียงในเรื่องนี้ การปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าทางพรรคเพื่อไทยยังมีจุดยืนเช่นนั้นอยู่หรือไม่
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
ส่วนกรณี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี อ้างว่าเรื่องนี้โอกาสสำเร็จยาก และอาจไม่ได้จำเป็นหรือแก้ได้จริงนั้น มองว่า หากไม่สามารถแก้ได้จริง แล้วพรรคเพื่อไทยจะหาเสียงเรื่องนี้ไว้ทำไม รวมถึงที่บอกว่าสำเร็จยากนั้น ณัฐวุฒิ ประเมินจากอะไร
เพราะสภาฯ มี 500 คน ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชนที่ยื่นร่างนี้ไปแล้ว เสียงของทั้ง 2 พรรคก็ผ่านเสียงส่วนมากแน่นอน หรือที่ประเมินว่าผ่านได้ยากนั้น เพราะมีอำนาจอื่นๆ หรือพรรคอื่นๆ คอยกดพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็บอกมาตามตรง
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
เมื่อตั้งข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยเกรงใจพรรคร่วมอื่นหรือไม่นั้น ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต้องย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง ที่เราอยากได้เสียงจากประชาชน และเราก็หาเสียงโดยการนำนโยบายไปเสนอกับประชาชนว่า ถ้าได้รับเลือกเข้ามา เราจะทำอะไรบ้าง
หากย้อนกลับไปดูตัวเองว่า ตอนนั้นหาเสียงอะไรไว้ ก็คงจะตัดสินใจได้ไม่ยากว่า จะทำเรื่องนี้ในสภาฯ อย่างไร จะถอนหรือไม่ถอน และจะลงมติเห็นชอบหรือไม่อย่างไร ก็ต้องลองไปพิจารณาดู หากคิดว่าจะทำไปตามแนวทางพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงน้อยกว่าท่านครึ่งหนึ่ง ก็ลองดูว่า ประชาชนจะตัดสินอย่างไรในเลือกตั้งครั้งหน้า หากเอาคำพูดในวันนี้ไปเปรียบเทียบกับเวทีหาเสียงก็จะรู้ว่า มันไม่สอดคล้องกัน
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
ส่วนหากพรรคเพื่อไทยถอยร่างฯ ดังกล่าว พรรคประชาชนจะแก้เกมอย่างไร ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ยังไงวาระนี้ก็ต้องเข้าสู่สภาฯ อยู่แเล้ว เพราะเป็นร่างที่ยื่นตั้งแต่พรรคก้าวไกล และจะถูกบรรจุเป็นเรื่องด่วนในสภาฯ อยู่แล้ว
ในวันพุธหน้า หากไม่มีกฎหมายใดที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หรือมีไม่มาก เรื่องนี้ก็จะอยู่ในเรื่องด่วน และเป็นไปได้ว่าจะเข้าในสัปดาห์หน้า และเราก็โหวตรับหลักการอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะเข้า เราก็คงต้องสื่อสารประเด็นที่เราอยากจะแก้ให้ทหารอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนอย่างชัดเจนมากขึ้น และการป้องกันการรัฐประหารอาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่สามารถไปแก้ที่จุดอื่นได้ และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพตามที่หลายๆ พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้มากกว่า
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
เมื่อถามถึงกรณีที่หลายพรรคออกมาค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์กับนักการเมือง ปกรณ์วุฒิ มองว่า ที่หลายๆ พรรคออกมาบอกว่า ร่างกฎหมายนี้ต้านไม่ได้ หากเขาจะทำรัฐประหาร เขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ส่วนตัวมองว่า ‘การแก้’ มันสามารถลองดูก่อนได้ ซึ่งการแก้เพื่อมีช่องทางในการป้องกันเอาไว้ ก็ไม่ได้มีใครเสีย หากใช้ไม่ได้ผล ก็ไม่ได้ผล แต่ถึงเวลานั้นก็อาจจะได้ผลก็ได้ เพราะหากเกิดขึ้นจริง เราก็ไม่สามารถต้านได้อยู่แล้ว แต่หากลองก็เผื่อจะได้ผล
และคงไม่มีนักการเมืองพรรคการเมืองใด ที่ออกมาบอกว่าเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นคงไม่มาตั้งพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เราพิสูจน์ได้ โดยการลองสร้างกลไกบางอย่างให้อำนาจของประชาชน สามารถต่อต้านอำนาจนอกระบบของระบอบประชาธิปไตยได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีกลไกให้รัฐสภาทำงาน
ถ้าเราลองสร้างกลไกเอาไว้ มันได้ผลหรือไม่ได้ผลไม่รู้ แต่มันมีกลไกที่ถ้าทำสำเร็จ มันอาจจะต่อต้านอำนาจนอกระบบได้สำเร็จก็ได้
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
ยันบี้ถามกระทู้สด ‘นายกฯ’ แน่นอน ชี้มีหลายเรื่องสังคมคาใจ เหน็บถ้าเห็นความสำคัญของสภาฯ ที่เลือกมา สะดวกตอบสัปดาห์ไหนพร้อมเสมอ
ปกรณ์วุฒิ ยังเผยถึงการทำงานหลังสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 12 ธ.ค.ว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านจะมีการคุยถึงภาพรวมในการทำงานในสมัยประชุมที่จะเริ่มในสมัยประชุมนี้ รวมทั้งเรื่องโควตาต่างๆ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่น กระทู้สด เพราะการประชุมวันที่ 12 ธ.ค. ถือเป็นการถามกระทู้สดวันแรกของสมัยประชุม รวมถึงจะพูดคุยถึงแนวทางการทำงานของการทำงานฝ่านค้านเป็นอย่างไร และควรทำอะไรบ้างในสมัยประชุมนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทู้ที่จะถามในวันที่ 12 ธ.ค. มีหลายประเด็นที่สังคมสนใจ และรัฐบาลได้ขับเคลื่อนสื่อสารในช่วงปิดสมัยประชุม ดังนั้น ฝ่ายค้านได้เตรียมกระทู้สดที่จะถามนายกฯไว้แล้ว โดยให้ ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เป็นผู้ถาม เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ช่วงปิดสมัยประชุมที่จะต้องสอบถาม แต่เราเลือกเรื่องที่สำคัญที่สุดและสังคมจับตามองมาถาม
เราทราบดีว่า ในวันที่ 12 ธ.ค. นายกฯ จะมีการแถลงผลงาน ซึ่งตรงกับวันเปิดสมัยประชุมพอดี แต่เราก็ได้แจ้งไปแล้วว่า ที่ผ่านมาเคยมีทำมาก่อนแล้ว มีรัฐมนตรีที่ติดภารกิจต่างจังหวัดก็ได้มีการประสานมาทางวิปว่า กำลังนั่งรถกลับมาสภาฯ โดยถึงประมาณ 12.00 น. ซึ่งสภาฯ ก็ได้ประสานว่าให้นำกระทู้ทั่วไปมาถามก่อน เมื่อรัฐมนตรีมาถึงก็ค่อยถามกระทู้สดก็สามารถทำได้ ซึ่งเราก็ยินดี ผมว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐมนตรีท่านนั้นๆ อยากจะตอบหรือไม่มากกว่า ส่วนการวางแผนแถลงอะไรกันไว้ ก็เข้าใจว่าถ้าจำเป็นจะต้องเป็นวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) ก็มีหนทางอยู่ หากนายกฯ เห็นความสำคัญของสภาฯ ที่มาจากประชาชน และเป็นสภาฯ ที่เสียงส่วนมากเลือกท่านมาเป็นนายกฯ ถ้าท่านเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร การมาตอบกระทู้น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะสามารถสร้างความมั่นใจในหลายเรื่องให้กับประชาชนได้ และเรื่องที่สังคมตั้งคำถามอยู่
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
งงทำไมต้องแถลงผลงานวันเดียวกัน ทั้งที่รู้ล่วงหน้าแล้ว ขู่สมัยประชุมนี้เจอ ‘ซักฟอก’ แต่ขอรอคุยวางแผนก่อน
เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า ต้องการพิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ ที่มีต่อสภาฯและประชาชนใช่หรือไม่ ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เราพูดถึงเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุลมากกว่า ซึ่งรองโฆษกพรรคเพื่อไทยก็พูดถึงเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ก็คิดว่าประชาชนเลือก สส., สส.เลือกนายกฯ ที่มาของนายกฯรวมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มาจากสภาฯ
ดังนั้น นายกฯ และรัฐมนตรีก็ควรที่จะให้เกียรติการตรวจสอบถ่วงดุลกลไกกระทู้สดของสภาฯ ที่มีตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น และเมื่อวาน (10 ธ.ค.) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ก็บอกว่า ขอให้นายกฯ มาตอบกระทู้จะดีกว่า ทั้งนี้ เรายินดีที่จะอำนวยความสะดวก นายกฯ ว่างตอนไหนก็แจ้งมาได้
มีเรื่องหนึ่งที่ผมแปลกใจเหมือนกันว่า เมื่อช่วงต้นเดือน มีวิป ครม.ได้ทักมาส่วนตัว ถามว่าจะมีกระทู้ถามนายกฯ หรือไม่? ผมก็แจ้งไปแล้วว่า “มี” แต่อยู่ๆ ก็จะแถลงผลงานในวันเดียวกัน ผมก็งงๆ เหมือนกันว่า แล้วถามทำไม?
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
เมื่อถามว่า สามารถบอกการบ้านที่จะถามนายกฯ ได้หรือไม่ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า มีหลายเรื่องและยังคาดหวัง แต่ยังไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นว่า นายกฯ จะมาตอบกระทู้ ดังนั้น อาจจะต้องมีการเปลี่ยนเรื่อง เพราะไม่อยากเสียโอกาส และอยากเก็บประเด็นสำคัญไว้ถามนายกฯ และย้ำว่า นายกฯ พร้อมสัปดาห์ไหนก็บอกได้
นอกจากนี้ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะเกิดในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน ส่วนจะเป็นช่วงเวลาไหนคงต้องคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านก่อน โดยจะมีการคุยกันภายในเพื่อวางแผนทั้งหมด