ความหวัง ‘ตากใบ’ อีกไม่กี่ชั่วโมงสุดท้าย

24 ต.ค. 2567 - 09:10

  • อีกไม่กี่ชั่วโมง ‘คดีสลายการชุมนุมตากใบ’ ก็จะหมดอายุความ แต่ก็ยังมีช่องทางที่สามารถจับกุม ‘จำเลย’ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงๆ ของรัฐบาล

  • แต่หากท้ายที่สุด จับใครไม่ได้เลย จะมีช่องให้รื้อฟื้นคดีได้อีกหรือไม่? การดำเนินการต่อควรเป็นอย่างไร?

panitan-takbai-24oct2024-SPACEBAR-Hero.jpg

นับถอยหลังอีกไม่กี่ชั่วโมงสุดท้าย ‘คดีสลายการชุมนุมตากใบ’ ก็จะหมดอายุความแล้ว แต่ยังจับกุม ‘จำเลย’ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้เลย ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ นักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแก่รัฐบาลหลายสมัย เห็นว่า ใน ‘เวลาที่เหลือ’ ของคดีตากใบ คงไม่สามารถออก พระราชกำหนด ได้ทัน

‘อ.ปณิธาน’ มองว่า หากเป็นสัปดาห์ที่แล้วก็ยังถือว่า มีเวลา เพราะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหลายฝ่ายมองว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีประชุมระหว่างสัปดาห์หรือประชุมฉุกเฉินแล้วก็ออกกฎหมายเพื่อที่จะหยุดเวลาอายุความไปก่อนเป็นกรณีเฉพาะ แต่รัฐบาลคงเป็นกังวลเรื่องหลายมาตรฐานว่า ถ้าหยุดเวลาคดีนี้ แล้วคดีอื่นอีกจำนวนมากที่ รมว.ยุติธรรมยกตัวเลขขึ้นมา จะเกิดการโต้แย้ง โดยเฉพาะฝ่ายเหยื่อและผู้เสียหายว่า ทำไมถึงไม่หยุดเวลาให้คดีอื่นที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น ก็จะมีปัญหาซับซ้อน อีกทั้งเวลาที่จะศึกษาเรื่องนี้แทบจะไม่มี ก็จะมีคำถามตามมาทันทีว่า ทำไมไม่ศึกษาเรื่องนี้ ไม่มองช่องทางในมาตรานี้หรือมาตราอื่นๆ ไว้ก่อนตั้งแต่เข้ามาปีที่แล้ว

อายุความที่เหลืออยู่จนถึง เที่ยงคืนของวันที่ 25 ตุลาคม ดำเนินการอย่างไรได้บ้าง?

‘อ.ปณิธาน’ บอกว่า กระบวนการส่งมอบตัว เรื่องเอกสารพร้อมหมดแล้ว หมายความว่า ถ้าจับได้สำหรับคนที่อยู่ในประเทศ ก็สามารถส่งเข้าสู่กระบวนการได้ทัน แม้ว่าจะเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเรื่องของต่างประเทศก็จะซับซ้อนหน่อย เพราะมีข่าวว่า บางส่วนหลบหนีอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน และบางส่วนก็หลบหนีในประเทศที่ไกลออกไปซึ่งมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับเรา ทั้งนี้ การใช้สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็มีความซับซ้อนและใช้เวลามาก เพราะว่าผู้ถูกร้องสามารถร้องคัดค้านได้หลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรื่องสุขภาพ เรื่องความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ศาลในประเทศต่างๆ ที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับเรา โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะชะลอเรื่อง และพิจารณาเพื่อปกป้องสิทธิของผู้ถูกร้อง ก็จะทำให้ขาดอายุความค่อนข้างแน่นอน

หากไปเส้นทางตำรวจสากล ขณะนี้ก็มีการชี้แจงในสภาฯ ว่า แม้แต่ระบบตำรวจสากล หรือหมายแดง ต้องแจ้งว่า เราต้องการจับกุมคนเหล่านี้ และตำรวจทางฝ่ายเขา ก็อาจยังไม่เห็นหมายแดงหรือว่า เห็นแล้วแต่ยังไม่เริ่มกระบวนการว่า เข้าจริงไหมหรืออยู่ที่ไหน ก็ต้องประสานกับทาง ตม.ของเขา ประสานกับมหาดไทยของเขา ก็จะหมดเวลา เพราะฉะนั้น กระบวนการตำรวจสากล ไม่น่าจะใช้ได้ในเวลาที่มีอยู่ ถ้าใช้ได้ก็ต้องมีเวลานับเดือน

‘อ.ปณิธาน’ แนะว่า ส่วนสุดท้ายที่จะใช้ได้เลยก็คือ เรื่องของการต่างตอบแทน ในหลายรัฐบาลก็ใช้การต่างตอบแทน หลายประเทศก็ใช้ในกรณีที่ฉุกเฉิน และผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความสำคัญสูงต่อความมั่นคง ก็สามารถแจ้งที่อยู่ให้กับหน่วยพิเศษ หรือหน่วยตำรวจในประเทศนั้นๆ ที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีให้จับเลย พอจับเสร็จก็ส่งขึ้นเครื่องบินเลย โดยไม่ต้องผ่านศาล ภายใต้พื้นฐานไม่ขัดกับหลักสากลเกินไป ทั้งนี้ เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และเป็นเรื่องที่ต้องตอบแทนเขาด้วยการส่งคนของเขาคืน ในกรณีประเทศเพื่อนบ้านจะง่าย เพราะว่า คนที่เป็นประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านถูกประเทศไทยจับกุมเยอะ สามารถส่งคืนได้เลย แต่จะติดขัดตรงที่ หลายกลุ่มถูกจับกุมด้วยคดีการเมืองก็จะส่งกลับได้ยาก แม้แต่การต่างตอบแทน เขาก็ไม่นิยมการส่ง เช่น ผู้ถูกจับที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อยู่ในบ้านเมืองเราค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าเป็นผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหนีหมายจับเรื่องความมั่นคง ก็สามารถดำเนินการได้ ในกรณีนี้ ประเทศตะวันตกหรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย น่าจะยินดีร่วมมือกับเราด้วยซ้ำ เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาไม่น่าจะปฏิเสธ ฉะนั้น ในชั่วโมงสุดท้าย ถ้าลบเวลาเดินทางด้วยเครื่องบิน ลบเวลาการเข้าสู่กระบวนการที่ต้องเตรียมให้ดี ก็น่าจะยังทันอยู่ในเวลาที่เหลือ

“แต่ก็อยู่ที่ความตั้งใจจริงๆ ของรัฐบาลนะครับ“

ดังนั้น ที่เป็นไปได้ ก็คือ การจับกุมในประเทศไทยและการต่างตอบแทนกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนประเทศที่ไกลออกไป ก็จะติดขัดด้วยระยะเวลาการเดินทาง บางประเทศใช้เกือบ 12 ชั่วโมง บางประเทศก็ใช้ 6 ชั่วโมง ที่สำคัญต้องให้แน่ชัดว่า ทางฝ่ายประเทศต้นทางร่วมมือกับเรา และเรามีที่อยู่ พร้อมแจ้งที่อยู่ให้จับได้เลย ซึ่งทันทีที่ลงเครื่องบินที่ไทย ตำรวจก็ส่งตัวให้อัยการ อัยการก็จะส่งไปที่ศาล แต่ขั้นตอนนี้เราเตรียมไว้แล้ว สมมุติว่า ถ้าลงเครื่องบินทันทีส่งศาลเลยก็ได้ ใช้เวลาสงสารไม่นาน แต่จะนานที่การเดินทางมาประเทศไทย

“ประเด็นสำคัญคือวิธีการเหล่านี้ เคยทำมาหมดแล้ว ทุกประเทศเคยทำมาแล้วรวมถึงประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยทำเลย เพราะฉะนั้นจะไม่ถือว่า ไม่เคยมีประสบการณ์ ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลมีข้อมูลที่อยู่ที่ชัดเจนหรือไม่”

อ.ปณิธาน กล่าว

แล้วหาก ‘คดีตากใบ’ หมดอายุความไปแล้ว?

‘อ.ปณิธาน’ ได้พาย้อนไปถึงเหตุการณ์ ‘การสังหารหมู่ที่ Kent State’ ที่มหาวิทยาลัย Kent State รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2513

‘การสังหารหมู่ที่ Kent State’ เกิดขึ้นเมื่อกองกำลังรักษาดินแดน เข้าสลายการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชน 2,000 คนที่มหาวิทยาลัย Kent State ซึ่งรวมตัวกันต่อต้านสงครามเวียดนามที่กำลังขยายตัวจากประกาศของประธานาธิบดี Richard Nixon โดยการสลายการชุมนุมดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการประกาศให้นักศึกษาและผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม เมื่อไม่ได้ผล ก็ยิงแก๊สน้ำตา แต่เมื่อไม่ได้ผลอีก เจ้าหน้าที่จึงเคลื่อนกำลังเข้าสลายการชุมนุม มีการปะทะ ชุลมุนวุ่นวาย ลอบวางเพลิงอาคารสถานที่ ในที่สุด เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเกือบ 80 นัด ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 3 คน ที่โรงพยาบาลอีก 1 คน บาดเจ็บ 9 คน 

ซึ่งหลังเกิดเหตุ มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยประธานธิบดี มีการดำเนินคดีกับทั้งนักศึกษาและผู้ชุมนุม อธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ว่าการรัฐและเจ้าหน้าที่ของกองกำลังรักษาดินแดนหลายคน แต่ในที่สุด มีคำพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร ‘ไม่ผิด’ เพราะการเข้าไปสลายการชุมนุมในวันนั้น เป็นการปฎิบัติตามหน้าที่และตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย ส่วนการใช้อาวุธปืน ก็เพราะมีเหตุให้เชื่อได้ว่า เป็นการป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ ส่วนนักศึกษาและผู้ชุมนุมที่วางเพลิงและก่อความวุ่นวาย ศาลตัดสินว่า มีความผิด 1 คนและรับสารภาพอีก 2 คน

แม้ว่า คดี Kent State จะสิ้นสุดลงแล้วตามกฏหมาย แต่ในปี 2550 ค้นพบหลักฐานใหม่ที่เชื่อว่า เป็นเสียงบันทึกการสั่งการของเจ้าหน้าที่ที่ให้ยิงนักศึกษา ทำให้คณะผู้เสียหายหลายกลุ่มผลักดันกระทรวงยุติธรรม ‘รื้อฟื้นคดี’ ขึ้นมาใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ต่อมา ในปี 2557 ก็มีการผลักดันให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนเหตุการณ์ดังกล่าวที่สหประชาชาติภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (UNHRC) เหตุเพราะสหรัฐฯ มีพันธกรณีผูกพันกับ UN ในเรื่องดังกล่าว

เมื่อดูความพยายามรื้อฟื้นคดี ‘Kent State’ จะเป็นไปได้กับ ‘คดีตากใบ’ หรือไม่?

‘อ.ปณิธาน’ บอกว่า การรื้อฟื้นคดี เป็นการดำเนินการทางกฎหมายของแทบทุกประเทศ ถ้าคดีความที่สิ้นสุดไปแล้ว จำเป็นต้องรื้อฟื้น ต้องมีกฎหมายมารองรับ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีหลักฐานใหม่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลักฐานใหม่นี้จะต้องมีความชัดเจน และอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมาย ก็ถือว่ายากมาก อย่างกรณีสังหารหมู่ที่ Kent State แม้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา จะไม่รับหลักฐานใหม่ และไม่สามารถเปิดคดีได้ในขณะนี้ แต่หลักฐานชิ้นนี้ก็ถูกขยายผลนำไปสู่ขั้นตอนในกระบวนการสากล ที่สหประชาชาติภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ (UNHRC) ซึ่งก็ถือเป็นแนวทางหนึ่ง ทั้งการเปิดคดีใหม่ในประเทศและการไปสู่สากล ในกรณีเช่นนี้ ก็สามารถเป็นไปได้กับประเทศไทย ในปีนี้ไทยก็ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกหมุนเวียนของ UNHRC ในวาระปี 2568-2570 ด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ การย้อนหลัง โดยแก้กฎหมายตามรัฐธรรมนูญตามมาตราที่เปิดช่องไว้  แต่ก็ไปติด เรื่องของคำพิพากษาศาลฎีกาว่า กฎหมายย้อนหลังใดๆ ถ้าเป็นผลร้ายกับจำเลย ก็ไม่สามารถย้อนหลังได้ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายก็ต้องหาทางดูในอนาคตว่า เป็นผลร้ายกับจำเลย หรือเป็นผลดีต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวม ซึ่งจะมีรัฐธรรมนูญหลายมาตรารองรับอยู่ว่า สามารถที่จะย้อนหลังได้ในกรณีที่เป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ก็ติดในเรื่องของศาลเช่นกัน ดังนั้น คงต้องเป็นเรื่องถกเถียงกันในอนาคต

ผลกระทบที่ตามมา หากสุดท้ายจับใครไม่ได้เลย....

‘อ.ปณิธาน’ มองผลกระทบของคดี ‘ตากใบ’ หลังหมดอายุความในหลายมุม ไม่ว่าจะเป็น ‘ผู้เสียหายและ จำเลย’

  • เสถียรภาพของสังคม จะเกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้น คนในสังคมจะไม่มั่นใจว่า จะหาความยุติธรรมได้จากระบบหรือไม่ เสถียรภาพของสังคมนี้สำคัญ ถ้าคนรู้สึกว่า ไม่ได้ความยุติธรรม ไปตั้งศาลเตี้ยกันเอง ก็จะวิกฤต ในหลายประเทศรวมทั้งภาคใต้ ก็เหมือนกับตั้งศาลเตี้ย แล้วใช้วัฒนธรรมตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถ้าเขาทำอย่างนั้นจริง สถานการณ์ก็จะยิ่งแย่ลง เป็นชนวนและเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาสามารถที่จะระดมหรือบ่มเพาะคนในอนาคต ประเด็นแรกคือเรื่องความรุนแรงที่จะปะทุในช่วงสั้น และระยะยาวก็จะถูกใช้ใน_การบ่มเพาะ_ ทั้งนี้ การบ่มเพาะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องใหม่ เพราะงานวิจัยของตนเอง ที่ทำโดยสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ได้เข้าไปสัมภาษณ์คนเป็นร้อยคนในกระบวนการเหล่านี้ เขาก็ระบุชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า เงื่อนไขก็คือ ไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งที่มันชัดเจนสำหรับเขา 
     
  • ในมุมอีกด้านหนึ่งของเจ้าหน้าที่ผู้เป็นจำเลย เจ้าหน้าที่บอกว่า เขาผ่านการต่อสู้มาหลายปี ศาลได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ มีการสั่งไม่ให้ใช้อาวุธ แล้วสถานการณ์บานปลาย ไม่มีใครควบคุมได้ ไม่มีใครผิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัย แล้วเขาก็มีกฎอัยการศึกคุ้มครองอยู่ คือ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ แต่สุดวิสัยจริงๆ แล้วศาลสงขลาก็มีคำสั่งแบบนั้น แล้วก็มีการเยียวยา โดยมีการรับเงินเยียวยาไปหลายรอบ ทั้งจากสัญญาประนีประนอมของศาลสองครั้งที่มีแนบท้ายว่า ไม่ต้องฟ้องอาญาอีก และเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 650 ล้านบาท เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ก็บอกว่า ความยุติธรรมสำหรับเขา มันอยู่ที่ไหน? ในเมื่อคดีมันจบลงหมดแล้ว มีการรื้อฟื้นโดยพรรคการเมืองหรือเปล่า ของ NGO ในประเทศและต่างประเทศหรือเปล่า และมาเอาผิดในสิ่งที่แทบจะยุติไปหมดแล้ว เยียวยาแล้วด้วย เขาหาความยุติธรรมในระบบไม่ได้ เขาก็ต้องหนี แต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ก็ต้องโน้มน้าวให้คนเหล่านี้ กลับมาต่อสู้ ซึ่งเขาอาจจะหลุดก็ได้ เพราะมันมีคำตัดสิน คำสั่ง คำพิพากษายืนอยู่แล้ว รวมทั้งกฎอัยการศึก เขาจะไปกลัวอะไร แสดงว่า เขาก็ ‘ไม่มั่นใจ’ ในระบบของเรา ก็ทำให้ยุ่งกันใหญ่ ถ้าไม่เข้ามาพิสูจน์กันจริงจัง เพราะหากไปอ่านคำสั่งของศาลสงขลา จะเห็นชัดว่า ศาลไม่ได้บอกว่าเขาผิด เพราะเขามีคำสั่งชัดเจนว่า ไม่ให้ใช้อาวุธ การยิงกันตาย 7 คนนั้น ก็อาจจะมาจากอีกฝ่ายหรือไม่ ก็ยังไม่ได้พิสูจน์ ฉะนั้นก็กลับมาพิสูจน์ดีกว่า ถ้าพิสูจน์ได้ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ เขาก็บริสุทธิ์ ส่วนเรื่องของการประมาทเลินเล่อ ก็เป็นไปได้ว่า คดีที่สองที่อัยการสั่งฟ้องในที่สุด ก็อาจจะให้เห็นว่าประมาทเลินเล่อ แต่สถานการณ์ก็ผกผัน มีการต่อสู้ มีการโปรยเรือใบ มีฝนตก และคนขับก็อาจจะไม่เห็นว่า มีการซ้อนกันที่ทำให้ขาดอากาศหายใจ

“ในคดีหลังนี้ ผมเห็นว่า ถ้าเข้าสู่คดี อาจจะยุ่งหน่อย แต่ก็จะเป็นการสอนบทเรียนให้กับเจ้าหน้าที่ว่า คุณขับรถ คุณต้องหันไปดูสิว่า เขาตายหรือไม่ แต่เราก็ไม่รู้ว่า หลักฐานทั้งหมดเป็นอย่างไร แต่ของกรรมการอิสระก็เห็นว่า ขั้นตอนตรงนี้ ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เขาทำได้เท่านี้ รถก็เท่านี้ เหตุการณ์ก็ประมาณนี้ ศาลเขาก็บอกอย่างนั้นแล้ว ถ้ากลับไปใหม่แล้วมันชัดเจนอย่างนี้ ศาลยกฟ้องก็ต้องยืนตามนั้น แต่ถ้าไม่ทำก็คาใจคน สรุปจะเดินหน้าต่ออย่างไร ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ ทางการเมืองอาจจะต้องตั้งคณะศาลของประชาชน หรือเหยื่อ Tribunal อย่างที่ Kent เขาทำ เป็นกลุ่มที่พยายามชำระสะสาง โดยนำคนที่มีชื่อเสียงมาทำนอกระบบยุติธรรม และนำคนทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วเดินหน้าแบบที่ เนลสัน แมนเดลา เขาทำที่แอฟริกาใต้ หรือกระบวนการไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษ ที่ฆ่ากันก็ให้มันจบปกติไปก่อน แล้วไปเปิดกระบวนการใหม่เจรจาสันติภาพและเข้าสู่คณะพิพากษาประชาชน และชำระคดีสะสาง ยอมรับผิด เดินหน้าต่อ ซึ่งกรณีแอฟริกาใต้ก็สำเร็จ และกรณีไอร์แลนด์เหนือก็สำเร็จ แต่ของเรา ดูน่าเป็นห่วงมาก เพราะในที่สุดแล้วมีคนสั่งการได้ไม่กี่คน แถมทุกคนก็พูดจาวกวน”

อ.ปณิธาน กล่าว

‘คดีสลายการชุมนุมตากใบ’ เกิดเหตุขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ในยุครัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ มีเวลาอีกแค่ไม่กี่ชั่วโมง นับจากตอนนี้ ถึงแค่เที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 ก็จะ ‘หมดอายุความ’ คงต้องลุ้นกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทั้ง ‘ตำรวจ-ฝ่ายบริหาร’ จะต้องนำจำเลยทั้งหมดกลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่? ถ้าจับใครไม่ได้เลย ผลกระทบที่ตามมา จะส่งผลอย่างไรกับ ‘สังคมไทย’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์