พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา เปิดเผยถึงความพร้อมของทางการไทย สำหรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเรื่องกำแพงภาษี ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บจากหลายประเทศทั่วโลก
พันศักดิ์ ยืนยันว่า เรามีความพร้อมกับเรื่องนี้มานานแล้ว เรายืนยันว่าเราพร้อมเจรจา บนพื้นฐานที่เรา “เข้าใจปัญหา” ของสหรัฐอเมริกา เราเป็นคู่ค้ากันมานาน เราต้องคุยกันเพื่อแก้ปัญหานี้
“ท่านทรัมป์ประกาศขึ้นกำแพงภาษีพร้อมกันทั้งโลก เราอยู่อันดับที่ 14 หรือ 12 ซึ่งถามผม ตอนนี้ผมก็เห็นใจประธานาธิบดีทรัมป์ ผมรู้ว่าแต่ละวันท่านทรัมป์ออกกฎหมายใหม่ๆ ออกมา รัฐมนตรีแต่ละคนพูดไม่เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติ เพราะประเทศไทยก็เป็นเหมือนกัน และถ้าเราต่อรองกับรัฐบาลใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเห็นใจเขา ว่าเขากำลังจัดการตัวเองอยู่ และเราได้ยื่น Notice ให้เขาไปแล้วว่าเราพร้อมคุยด้วย และต้องอย่างมิตร ที่ไม่มีการกล่าวหา และเขาส่งสัญญาณกลับมาว่า เขารู้สึกดี ที่จดหมายของนายกรัฐมนตรีไทยถึงเขา ไม่มีการกล่าวหาซึ่งกันและกัน”
พันศักดิ์ กล่าวย้ำว่า “รัฐบาลนี้พร้อมเผชิญปัญหาเหล่านี้ ทั้งนโยบายรายวัน ที่มีการเตรียมตัวมาแล้ว และในส่วนของตัวเอง ได้เตรียมตัวมานานแล้วตั้งแต่ได้อ่านหนังสือของ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ เรื่อง “Hillbilly Elegy” หรือ “บันทึกหลังเขา” รวมถึงช่วงก่อนการเลือกตั้ง ที่เราคาดคะเนไว้แล้วว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะเผชิญ 2 อย่าง นั่นคือเรื่องภาษี และปัญหาความสัมพันธ์ทางการค้าภาพใหญ่ ที่เราต้องตอบสนองและนำเสนอ”
พันศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทุกปีอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของประเทศไทย โดยทั่วไปจะค่อยๆ ขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นที่วิ่งขึ้นวิ่งลง เพราะเรามีความสามารถในการผลิตอาหารเพื่อส่งออก ซึ่งไม่ใช่แค่ปริมาณที่มากกว่าการขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ อาหารไทยที่เรากินกันอยู่ทุกวันนั้น องค์ประกอบอย่างน้อย 30% มาจากสินค้านำเข้า ทั้งจากอินเดีย เมียนมา กัมพูชา จีน เป็นต้น ซึ่งถ้าประเทศไทยจะทำ “อาหารแปรรูป” เพื่อขาย ยังไงก็ต้องนำเข้า และนี่คืออนาคตที่เป็นจริง
“ที่สำคัญ อาหารหมา-แมวของชาวอเมริกัน ไทยขายเป็นที่ 2 ของโลกในสหรัฐฯ ซึ่งเราต้องใช้ของนำเข้า เพราะวัตถุดิบเราไม่เพียงพอ นี่เป็นตัวอย่างที่เราจะบอกว่า ประเทศไทยยินดีที่จะคิดนโยบายร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา พร้อมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ หากสหรัฐฯ ผลิตอาหารคุณภาพส่งมายังประเทศไทย เราพร้อมแปรรูปอาหารนั้นเพื่อส่งออกไปทั่วโลก เราไม่ต้องส่งกลับไปอเมริกาก็ได้ แค่ส่งออกไปทั่วโลก และที่สำคัญ ประเทศไทยมีความสามารถในการแปรรูปอาหารระดับสูง เช่น อาหารแปรรูปแบบออร์แกนิก ซึ่งเราอยากได้วัตถุดิบจากสหรัฐฯ ด้วย และทางรัฐบาลใหม่ของสหรัฐก็กำลังสนใจเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราต้องคุยกันอย่างสร้างสรรค์ทั้งสองฝ่าย”
พันศักดิ์ กล่าวว่า ในกระบวนการการผลิตสินค้าสำหรับทุกอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลก สิ่งที่ก็อปปี้ยากที่สุดนั่นคือ “อาหาร” โดยเฉพาะรสชาติและเนื้อสัมผัส คือสิ่งที่ก็อปปี้ยากที่สุด ถ้าเราทำเก่งในเรื่องการทำอาหารแปรรูป นี่คือพื้นที่ของเราที่เราจะอยู่ ในขณะที่ประเทศอื่นก็สู้กันไปในเรื่องของการผลิตสิ่งเดียวกันออกมาขาย เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศไทยต้องหาข้อมูลให้ได้ว่า แหล่งวัตถุดิบพรีเมียมในเอเชีย และในสหรัฐอเมริกา ที่เราจะเอามาใช้ได้ มันอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วเราก็เอามาใช้ได้เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และบริโภคเองในประเทศได้อีกด้วย
“เวลาคิดถึงเรื่องไทย-สหรัฐฯ อย่าคิดแค่ในมิติของการยื่นหมูยื่นแมว เรามันแค่จิ้งหรีดตัวเล็ก ไปยื่นหมูยื่นแมวยังไงก็ไม่เท่าเขา เราต้องคิดว่าเรามีอะไรที่เขาอยากเห็นใจประชาชนเขา แต่เขาก็ไม่สามารถทำนโยบายที่ทำให้ประชาชนที่เขาเห็นใจรู้สึกดีได้ เช่น เรามีนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาไทยปีละ 39 ล้านคน เท่ากับมีลูกค้าที่เราเตรียมของฝากไว้ให้ ซึ่งเป็นของฝากหรือสินค้าจากสหรัฐ 39 ล้านคน หลายคนไม่อยากเดินทางไกลไปถึงนิวยอร์กหรือแอลเอ แต่ก็สามารถซื้อของมือสอง หรือมือหนึ่งคุณภาพสูงได้จากประเทศไทย และที่สำคัญ ตลาด OTOP ของสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงมาก มากกว่าสิบล้านล้านดอลลาร์ เขาไม่ได้ผลิตแค่หนังจากฮอลลีวูดและรถยนต์ฟอร์ด เราเอาแค่ 20 ล้านคนก็ได้ ที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐในเมืองไทยไปเป็นของฝาก”
“ยกตัวอย่าง กล้องของ Leica ซึ่งเป็นกล้องคุณภาพสูงมาก เราเคยคิดว่าถ้าจะซื้อมือสองคุณภาพดี ต้องซื้อที่นิวยอร์ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าอยากได้มือสองคุณภาพสูง คุณต้องซื้อที่โตเกียว เพราะคนญี่ปุ่นเขาเลือกมาให้คุณแล้ว คุณภาพและราคาไม่โกหก ดังนั้น หากสรุปว่ากรุงเทพคืออะไร คุณยอมไหม ที่กรุงเทพจะเป็นพื้นที่ของการขายของดีมีคุณภาพและราคาไม่โกหก แม้เป็นของมือสอง เราสามารถทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางของฝากของโลกได้หรือไม่”
พันศักดิ์ กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งการให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอีกแห่งของการกินอาหารชั้นดีแบบพิเศษของโลกได้หรือไม่ ทำไมโตเกียวเขาทำได้ แล้วกรุงเทพฯ เป็นไม่ได้เหรอ ถามว่าถ้าเรานำเข้าเนื้อคุณภาพจากสหรัฐมา คนไทยจะกินกันซักกี่คน น้อยมาก แต่เรานำมาทำให้นักท่องเที่ยวรับประทานในรูปแบบของเรา ดังนั้น เวลาคิดเรื่องพวกนี้ ต้องคิดให้ไกลกว่าปลายจมูกของเรา
ส่วนเรื่องการสวมสิทธิทางการค้านั้น พันศักดิ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจีนมีความอึดอัดที่มีการทำเรื่องในลักษณะนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งรัฐบาลจีนเคยขอร้องรัฐบาลไทยให้ใช้กฎหมายเต็มที่สำหรับการสวมสิทธิทางการค้า และการสวมสิทธิไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิโดยสหรัฐในไทยเพื่อไปขายของในจีน หรือไม่ว่าการสวมสิทธิโดยจีนในไทยและไปขายของในสหรัฐ หรือฝรั่งเศสสวมสิทธิในไทยและไปขายของในศรีลังกา
“ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด เราไม่เลือกข้างในเรื่องนี้ เพราะไม่มีใครสมควรสวมสิทธิของใคร แต่ถ้าไม่ว่าบริษัทจากประเทศใด มาทำธุรกิจหรือผลิตสินค้าในไทย โดยผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายไทยทุกประการ ซึ่งถ้าต่อมา คุณถูกกล่าวหาโดยใครก็แล้วแต่ว่าท่านมาสวมสิทธิ ประเทศไทยจะต่อสู้ให้คุณด้วย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด และจากประเทศใดก็ตาม ย้ำว่าเรื่องการสวมสิทธิ เราไม่เลือกข้าง เลือกไปแล้วได้อะไร ย้ำว่าทุกบริษัทที่เข้ามาผลิตในประเทศไทย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย”
พันศักดิ์ ยังเล่าถึงนโยบายการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไม่จำเป็นอีกว่า การเก็บภาษีนำเข้าแอปเปิลจากสหรัฐถึง 50% แต่ในขณะเดียวกันสินค้าบางตัวเขาเก็บเราแค่ 1-2% ตรงนี้มันเวอร์เกินไป เราก็ต้องลดลงมา ไม่กระทบใครทั้งสิ้น หรือแม้กระทั่งสินค้าอื่น ๆ ก็ตามที่เห็นว่าการเก็บภาษีนำเข้าที่ไม่จำเป็น
“ผมกล้าพูดว่า เราเห็นใจคนอเมริกันมาก ที่ชีวิตตกระกำลำบาก เพราะปรัชญาเศรษฐกิจของอเมริกันแข็งตัวเกินไป ที่จะตอบสนองความเป็นจริงของชีวิตของชาวอเมริกันเอง และน่าตกใจที่สุดว่าคนผิวขาวตกงานมาถึงขนาดนี้ มีชีวิตทุรนทุราย ซึ่งนั่นไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อไหร่มหาอำนาจในโลกมีปัญหาภายใน จนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นเป็นอันตรายมากกับโลก”
“เพราะฉะนั้น ผมจะคิดอะไรก็ตามที่ทำให้คนอเมริกันเหล่านี้ได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ของเราและสหรัฐมากที่สุด เพราะเราต้องการเห็นสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่มีสติ และมีอนาคต เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพราะประเทศไทยสามารถมีลูกค้าให้สหรัฐ ซึ่งเป็นคนที่มาเที่ยวเมืองไทยปีหนึ่งกว่า 30 ล้านคน และนี่คือ potential customer (ลูกค้าที่มีศักยภาพ) ของผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯในเมืองไทย”
เมื่อถามว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับไทย จะลดลงหรือไม่ พันศักดิ์ กล่าวว่า ลดอยู่แล้ว เพราะเขาขายของให้เราได้มากขึ้น ซึ่งเราหาทุกวิถีทางที่ทำให้เขาขายของให้เราได้มากขึ้น โดยของที่เราได้มานั้น เป็นของที่ราคาดี มีประสิทธิภาพต่อการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของคนไทย
ส่วนที่หลายคนมองว่า รัฐบาลนี้ทำงานไม่เป็น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตภาษีทรัมป์ พันศักดิ์ มองต่าง โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีนโยบายว่า เราจะเป็นผู้ส่งเสริมสันติภาพในโลกนี้ ด้วยการแข่งขัน และความมั่งมีร่วมกัน เราจะไม่เข้าข้างใคร แม้เราเข้าข้างจีน จีนก็ยังตรวจทุเรียนเราเหมือนเดิม งั้นเรามาลองหันมาดูประเทศอินเดียสิ น่าขายของให้ไหม และรู้หรือไม่ว่า SMEs ที่เราส่งเสริมตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขายเครื่องหอม และเครื่องทำความหอมในห้องน้ำให้กับอินเดียเป็นรายได้มหาศาลอย่างน่าตกใจ
“เรายืนว่า รัฐบาลนี้จะสนทนาทั้งสหรัฐฯและจีน อย่างเลยอารมณ์ชั่ววูบ ยกตัวอย่างที่เราเคยทำสำเร็จในการเป็นพื้นที่หลักในเจรจาเพื่อสันติภาพในหลายครั้งของภูมิภาคนี้ เพื่อยุติความขัดแย้ง จนกระทั่ง “เปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า” ได้สำเร็จมาแล้ว”
“การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โครงสร้างที่ว่าไม่ใช่อิฐ หิน ปูน ทราย ต้นไม้ หรือถนน แต่โครงสร้างที่ว่า คือ สิ่งที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อสินทรัพย์ที่มีอยู่” พันศักดิ์กล่าวปิดท้าย