การประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระแรก วันที่สอง โดยมีพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
‘ปารมี ไวจงเจริญ’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ในร่างพ.ร.บ.งบฯ 68 เป็นปีแรกที่กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณครั้งแรกในหลายปี ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบให้ 800 ล้านบาท จากเดิมที่เสนอขอทั้งสิ้น 1.9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ กยศ.ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หากไม่ได้งบประมาณอีก อาจต้องตัดเงินกู้ยืมของนักเรียนที่เข้าโครงการ ไม่มีเงินเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ที่อาจทำให้นักเรียนถูกตัดออกจากระบบการศึกษา ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้สภาฯ พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.กยศ. เพื่อแก้ปัญหา จากที่รัฐสภาชุดที่ผ่านมา แก้ไขเนื้อหาลดอัตราดอกเบี้ย และไม่มีการฟ้องร้อง จนทำให้เกิดปัญหา
ปารมี อภิปรายด้วยว่า ขณะนี้มีปัญหาการขาดแคลนครูในชนบท เนื่องจากครูในชนบทต้องรับภาระงานจำนวนมาก ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนถึงภารโรง แต่ได้เงินเดือนเท่ากับครูในเมือง ดังนั้นจึงทำให้ครูชนบทขอย้ายไปในเมือง และประเด็นดังกล่าวทำพบการทุจริต ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ กิโลเมตรละ 1แสนบาท โดยเป็นการวัดระยะทางจากโรงเรียนเก่าไปโรงเรียนใหม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า
ขณะที่ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ รมช.คลัง ชี้แจงด้วยว่า การบริหารจัดการของ กยศ. นั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวงเงินของกองทุน และการชดใช้หนี้จากเด็กที่จบการศึกษา จึงจัดสรรงบให้ที่ 800 ล้านบาท แต่หากงบไม่พอ มีกลไกอื่นๆ รองรับ คือ งบกลาง ที่รองรับได้ โดยยืนยันว่า ไม่มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาแน่นอน ทั้งนี้ในปีการศึกษา กยศ. ตั้งเป้าให้กู้ยืม ได้ 6.2 แสนราย แบ่งเป็นกลุ่มกู้ยืมเก่า 75% และกลุ่มใหม่ 25% นอกจากนั้นแล้วยังมีประเด็นที่ต้องบริหารจัดการคือ การคืนเงินให้กับผู้กู้ยืมเงิน คิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขเรื่องเบี้ยปรับที่ลดลง จาก 18% เป็น 0.5% ทำให้ต้องคำนวณเงินชำระคืนใหม่ เแต่อยู่ในกรอบบริหารจัดการได้
“กยศ.กลายเป็นเป้าสุดท้ายที่ผู้กู้จะมาคืน เพราะไม่โดนฟ้อง ไม่มีค้ำ และดอกเบี้ยถูกสุด ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ การบริหารจัดการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีมีแนวคิดปรับแก้กฎหมาย เพราะรัฐสภาปรับแก้มา ดังนั้นต้องรับภาระมาบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้กู้ โดยได้การมอบนโยบายหหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาวิธีจูงใจให้ชำระคืนเงินกู้ กยศ. โดยพูดคุยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธนาคารของรับ เช่น ชำระดีกับ กยศ.ถือเป็น ลูกหนี้ที่สามารถได้สิทธิกู้เงินสถาบันการเงินอื่น” จุลพันธ์ ชี้แจง