พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ว่า “ประเด็นที่มีการพูดคุยกันในวิปฝ่ายค้านคงเป็นเรื่องของวาระการประชุมสภาฯ ซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี โดยเป็นเรื่องของกระทู้และญัตติ ซึ่งเราจะได้เห็นกระทู้ถามสดจาก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่ถามถึงประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปิดสมัยประชุมและต้องการคำตอบจากรัฐบาล”
พร้อมเผยอีกว่า “ในส่วนของการประชุมสภาสัปดาห์หน้า ที่จะประชุมเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งสังคมกำลังจับตามอง ภายใต้ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้มีมติถอนร่างดังกล่าวออกจากระเบียบวาระการประชุม หากรัฐบาลยังจะเดินหน้าแบบนี้โดยไม่ถอน ก็จะทำให้ในวันพุธของสัปดาห์หน้า (9 ก.ค.) ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเป็นร่างฉบับแรกที่สภาฯ จะพิจารณา”
‘ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ เป็นบททดสอบเสียง ‘รัฐบาลปริ่มน้ำ’
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า “การที่เป็นคิวแรกก็ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา เพราะรัฐบาลชุดนี้ลงมติเลื่อนกฎหมายฉบับนี้เมื่อเดือนเมษายน 2568 ให้กฎหมายฉบับนี้แซงคิวกฎหมายฉบับอื่นมาอยู่ฉบับแรก ดังนั้น จุดยืนของพรรคประชาชนก็ยังเหมือนเดิม คือไม่เห็นด้วยกับนโยบายและร่างกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน ตัวเลขทางเศรษฐกิจก็ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่มีรายงานการศึกษาที่รอบคอบ ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นผลกระทบทางสังคม เช่น การติดการพนัน ความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินก็ไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่รัดกุมในตัวกฎหมาย และยังไม่ตรงไปตรงมาในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล”
หากรัฐบาลรับฟังข้อทักท้วงของเรา และประชาชนบางส่วนอย่างจริงใจ ก็ควรจะถอนร่างนี้ออก แต่ผมก็ตั้งข้อสังเกตว่าหากไม่ถอน แล้วสภาฯ เดินหน้าพิจารณา ในมุมนึงก็เปรียบเสมือนบททดสอบความไว้วางใจของสภาและประชาชนต่อรัฐบาลเช่นกัน เพราะร่างกฎหมายนี้เป็นของ ครม. เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่ดูเหมือนรัฐบาลจะเร่งมากกว่านโยบายอื่น ไม่ว่าจะเป็นในมิติที่รัฐบาลคุมเสียง สส. ที่ปริ่มน้ำอยู่แล้วในซีกรัฐบาลได้หรือไม่ รวมไปถึงการทดสอบความเห็นของประชาชนต่อแนวทางและทิศทางนโยบายของรัฐบาลด้วย
เมื่อถามว่าหากยังดึงดันต่อกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลเสียแน่นอนใช่หรือไม่? พริษฐ์ กล่าวว่า “ในเชิงความรับผิดรับชอบทางการเมือง เมื่อเป็นร่างกฎหมายของ ครม. โดยธรรมเนียมถ้าร่างกฎหมายไม่ผ่าน หรือถูกคว่ำในที่ประชุมสภาฯ ก็สะท้อนว่ารัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงของซีกรัฐบาลได้แล้ว แม้จะเป็นนโยบายที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นเรือธงของตัวเอง ซึ่งผมคาดหวังว่าจะเห็นความรับผิดรับชอบทางการเมืองของรัฐบาล”
ต้องจับตาดูว่าตกลง ครม. จะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ เพราะว่าตอนแรกมีเสียงมาว่าไม่เดินหน้า ผมก็เลยจับตาดูว่าเมื่อวานมีมติให้ถอนหรือไม่ แต่ก็ไม่มี ถ้าประชุม ครม. สัปดาห์หน้ายังไม่มีอีก และเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็ต้องหารือกันในพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่ามีมุมมองต่อกฎหมายนี้อย่างไร ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ในที่สาธารณะของพรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรค คิดว่าทุกฝ่ายน่าจะเห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วย
เมื่อถามถึงการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 จะต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งใช่หรือไม่? พริษฐ์ กล่าวว่า “เป้าหมายของพรรคประชาชนที่มองว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด คือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลที่มีความชอบธรรมทางการเมือง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน และรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะที่จัดทีมบริหารแก้ไขปัญหาให้กับประเทศได้ ไม่ใช่การจัดทีมบริหารตามโควตาการต่อรอง และถ้าจะมีรัฐบาลที่มีคุณสมบัติแบบนี้ได้ ทางออกเดียวคือเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง”
จี้ ‘รักษาการนายกฯ’ ตัดสินใจ ‘ยุบสภา’
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า “การจะไปถึงการเลือกตั้งได้ก็ต้องให้รักษาการนายกรัฐมนตรีฟังเสียงพรรคประชาชน และตัดสินใจยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน หรือหากรักษาการนายกฯ ยังไม่ตัดสินใจยุบสภา พรรคประชาชนก็จะหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อใช้กลไกสภานำไปสู่การเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งในวันพรุ่งนี้หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันว่าจะใช้กลไกดังกล่าวหรือไม่ แต่เมื่อมีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก็อาจจะเกิดความซับซ้อน เพราะหากยื่นตามมาตรา 151 ทางประธานสภาจะบรรจุวาระหรือไม่ เพราะสุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของประธานสภา”
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนเรียกร้องยุบสภาเพียงอย่างเดียว แต่เกมการเมืองหลังจากนี้อาจจะพลิกเกมเปลี่ยนขั้วจับกับพรรคฝ่ายค้านตั้งรัฐบาลได้หรือไม่? พริษฐ์ กล่าวว่า “พรรคประชาชนจะไม่ร่วมรัฐบาลกับใครในสภาชุดนี้ และคิดว่ารัฐบาลที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ ท่ามกลางสถานการณ์นี้ จะต้องเป็นรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง และผมยืนยันว่าไม่มีสถานการณ์ไหนที่พรรคประชาชนจะร่วมรัฐบาล”
เมื่อถามถึงกรณีที่ แพทองธาร ชินวัตร ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกฯ แต่ยังมีตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรมอยู่ จะมีความชอบธรรมในการทำงานหรือไม่? พริษฐ์ กล่าวว่า “ในเชิงกฎหมายมีการถกเถียงกันอยู่ ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง ถ้าทางกฎหมายบอกว่า แพทองธาร สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.วัฒนธรรมได้ ก็มีความสนใจเวลาตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ที่ผ่านมา 2 ปีไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรม แสดงว่า แพทองธาร จะเข้ามาตอบกระทู้สดในฐานะ รมว.วัฒนธรรม ใช่หรือไม่ เพราะไม่สามารถมอบหมายใครได้แล้ว เนื่องจากไม่มี รมช. ซึ่งพรรคประชาชนจะทำงานเต็มที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารทุกคน ทุกกระทรวง ดังนั้นต้องรอความชัดเจนว่า แพทองธาร จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ รมว.วัฒนธรรมได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะเดินหน้าตรวจสอบ ซึ่งเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เป็นสิ่งที่ แพทองธาร พูดเอง”
มีคนบอกว่าเราค้านไม่จริง ออมมือเกรงใจใครบ้าง ผมยืนยันอีกรอบหนึ่ง ว่าพรรคประชาชนทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลทุกคน ทุกกระทรวง ทุกพรรค สื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ผมหน้าห้องวิปฝ่ายค้านก็น่าจะทราบ ว่าพรรคประชาชนเป็นพรรคเดียวที่ยืนอยู่ในซีกนี้มาโดยตลอดของสภาชุดนี้ที่ทำงานมา เรามีบางพรรคที่ตอนแรกร่วมประชุมฝ่ายค้านด้วย มีท่าทีขึงขังที่จะวิปตรวจสอบบางเรื่อง แต่อีกสักพักก็ไปร่วมรัฐบาล ตอนนี้มีเลขาธิการพรรคที่ปกป้องรัฐบาลมากกว่าโฆษกรัฐบาลด้วยซ้ำ เรามีบางพรรคที่อาจจะเคยอยู่ในรัฐบาล และมีบางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ในซีกฝ่ายค้าน ดังนั้นผมคิดว่าในฐานะพรรคประชาชน เราทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่แน่นอน และยังคงยืนยันจุดเดิม และเราใช้อาวุธทุกอาวุธภายใต้กลไกของสภาที่เรามีในการตรวจสอบรัฐบาล แต่เราต้องระมัดระวังในการไม่เลือกใช้อาวุธ เพราะสุดท้ายจะกลายมาเป็นการหักล้าง เซาะกร่อนประชาธิปไตย
โต้ ‘จตุพร’ ยัน ‘ปชน.’ ทำหน้าที่ ‘ฝ่ายค้าน’ เต็มสูบ
ส่วนกรณีที่ จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน ระบุว่าพรรคประชาชนไม่เด็ดขาดในการยื่นตรวจสอบถอดถอนนายกฯ จนทำให้ สว. ทำหน้าที่ถอดถอนเอง? พริษฐ์ กล่าวว่า “จุดยืนของพรรคประชาชนในเรื่องนี้ ถ้าเป็นกลไกสภา เราใช้ทุกกลไก กระทู้สด อภิปรายไม่ไว้วางใจ กรรมาธิการ ถ้าในส่วนขององค์กรอิสระ เรายินดีใช้หากมีกรณีการทุจริต”
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า “ส่วนกรณีตั๋วสัญญาการใช้เงิน หรือตั๋วพีเอ็น (P/N) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ก็ดำเนินการผ่านกรมสรรพากร อยู่ในการตรวจสอบ ท้ายที่สุดปลายทางของเรื่องนี้อาจไปจบที่ ป.ป.ช. ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จก็ได้ แต่ถ้าเป็นในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม เราระมัดระวังในการใช้อาวุธนี้ เพราะต่างฝ่ายนิยามไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจกระทบหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ ดังนั้นยืนยันว่าไม่ได้ออมมือให้ใคร ดำเนินการกับผู้มีอำนาจทุกฝ่าย และขอย้อนถามกลับไปว่า ถ้าคิดว่าการอภิปรายเรื่องตั๋วพีเอ็นมีน้ำหนักมาก และวันนั้นพรรคใดบ้างที่ยกมือไว้วางใจนายกฯ อยู่”
ผมเห็นคุณจตุพร พาดพิงพรรคเรา และเหมือนจะไปชื่นชมอีกพรรคการเมืองหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าพรรคการเมืองนั้นหลังการอภิปราย ก็ยังยกมือให้กับคุณแพทองธารให้เป็นนายกฯ ต่อ ฉะนั้นต้องถามกลับไปที่พรรคการเมืองที่ยกมือให้กับคุณแพทองธารในวันนั้น และพรรคที่ยังคงค้ำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในวันนี้ดีกว่าหรือเปล่า