สอบคู่ขนานมีประโยชน์! แนะให้กลไก ‘กมธ.’ ร่วมลุยปม ‘ทักษิณ-ชั้น 14’

18 ธ.ค. 2567 - 07:30

  • ‘พริษฐ์’ ชี้ ‘ป.ป.ช.’ สอบปม ‘ทักษิณ-ชั้น 14’ ประชาชนสนใจ ต้องทำอย่างเที่ยงตรง

  • แนะให้กลไก ‘กมธ.’ สอบคู่ขนาน จะเป็นประโยชน์

  • พร้อมแนะ ‘รัฐบาล’ ยื่นร่างแก้ไข รธน.โยง ‘สสร.’ ประกบ ‘ฝ่ายค้าน’

  • ดักคอ ‘ไม่รักษาสัญญา’ ระวังเจอประชาชนแสดงออกผ่านเลือกตั้งครั้งหน้า

Parit-Wacharasindhu-mentioned-the-NACC-and-the-investigation-Thaksin-case-SPACEBAR-Hero.jpg

ปมร้อนกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะไต่สวนกรณีการพักรักษาตัวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 กำลังถูกจับตามองจากทุกฝ่าย

เรื่องนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มองว่า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประชาชนให้ให้ความสนใจ และมีกรรมาธิการฯ ที่มี สส.ของพรรคเราเป็นประธาน หรือสมาชิกที่เป็นแกนนำในเรื่องดังกล่าว นำเรื่องเข้าหารือในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มาแทนที่การทำงานของ ป.ป.ช. และต้องการเห็นการเดินหน้าดังกล่าว ดำเนินการอย่างเที่ยงตรงอย่างเป็นธรรม

บทบาทของ กมธ.เข้ามาตรวจสอบคู่ขนานกันก็จะมีประโยชน์ ช่วยแก้ไขข้อสงสัยที่ประชาชนมีกับกรณีต่างๆ การที่ประเทศไทยมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นในนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ

แนะ ‘รัฐบาล’ ยื่นร่างแก้ไข รธน.โยง ‘สสร.’ ประกบ ‘ฝ่ายค้าน’

ส่วนประเด็นพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พิจารณาเสร็จแล้วนั้น

พริษฐ์ ระบุว่า สิ่งที่จะต้องพิจารณากันในวันนี้ คือ การเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ของกรรมาธิการร่วมฯ ซึ่งเป็นร่างเดียวกันที่ถูกแก้ไขโดยวุฒิสภา ที่เสนอเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือปฏิเสธร่างดังกล่าว เพื่อรอเวลอีก 180 วัน และยืนตามร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอให้ใช้เสียงข้างมาก 1 ชั้น

เข้าใจว่า เสียงของสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่น่าจะเห็นชอบกับทางเลือกที่ 2 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาต่อการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โจทย์ที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้กรอบเวลาไม่กระทบต่อความเป็นไปได้ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทางรัฐบาลได้สัญญาไว้ต่อประชาชน ทางออกที่ผมเสนอ คือ การลดจำนวนครั้งในการทำประชาชมติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง เพื่อให้กรอบเวลาลดลง ในช่วงเวลา 180 วัน ที่รอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ผ่าน 3 วาระของรัฐสภาคู่ขนานกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ

เผย ‘วันนอร์’ นัดถก 23 ธ.ค.นี้ เชื่อผนึกร่วมมือมากเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

การผลักดันให้สำเร็จต้องผ่าน 2 ด่าน คือ ทำอย่างไรให้ประธานสภาฯ บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ สสร. ที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย เคยยื่นไปตั้งแต่ต้นปี และประธานสภาฯ ไม่บรรจุครั้งนี้ ทางพรรคประชาชนจะยื่นร่างดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ ในวันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา หากทางคณะกรรมการได้เห็นถึงคำวินิจฉัยรายบุคคล หวังว่าการวินิจฉัยจะออกไปในทิศทางที่มองว่าการทำประชาชมติ 2 ครั้งเพียงพอ ซึ่งทางประธานสภาฯ ได้นัดหารือในเรื่องดังกล่าววันที่ 23 ธ.ค เวลา 10.00 น.  

ด้านที่ 2 ถึงแม้ประธานสภาฯ จะบรรจุแล้วสามารถเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา โจทย์ต่อไป คือ จะต้องทำอย่างไรให้รัฐสภาเห็นชอบด้วย จึงต้องไปดูรอยร้าวของทั้ง 2 รัฐสภาว่า เป็นรอยเดียวกันกับรอยร้าวของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ บุคคลที่จะยุติรอยร้าวคือนายกฯ เป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้นายกฯ แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ รวมทั้งแสดงความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรรับประกันว่าเราจะสำเร็จผ่าน 2 ด่านนี้

เชื่อว่า ยิ่งคณะรัฐมนตรีให้ความร่วมมือในการพยายามฝ่าฟันเท่าไหร่ โอกาสสำเร็จก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ทางที่ดีควรเสนอร่างในลักษณะเดียวกันเข้ามาประกบกับร่างของพรรคประชาชน

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ดักคอ ‘ไม่รักษาสัญญา’ ระวังเจอประชาชนแสดงออกผ่านเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อถามถึงกรณีที่ทางรัฐบาลระบุว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ทันในรัฐบาลสมัยนี้ แต่จะตั้งสสร.ให้ได้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐบาลยอมแพ้และปรับลดเป้าหมายเร็วเกินไป ยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร.จะเสร็จทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากสามารถลดจำนวนการทำประชามติสำเร็จ

ยิ่งรัฐบาลร่วมมือกับเราเท่าไหร่ โอกาสที่จะสำเร็จจะมากขึ้นเท่านั้น ไม่อยากให้รัฐบาลเร่งปรับลดเป้าหมาย เพราะทุกครั้งที่รัฐบาลสัญญาอะไรไว้ต่อประชาชน หากไม่สามารถรักษาได้ท้ายที่สุดประชาชนจะแสดงออกผ่านการเลือกตั้งครั้งถัดไป

พริษฐ์ วัชรสินธุ

‘ฝ่ายค้าน’ นัดทานข้าวสุมหัวเตรียมการเปิด ‘ซักฟอกรัฐบาล’ ลั่นเดินหน้าตรวจสอบเต็มที่

สำหรับกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน นัดรับประทานข้าวเย็น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรมข้ามรัฐสภา ในวันนี้ จะมีเรื่องพูดคุยใดบ้างนั้น?

โฆษกพรรคประชาชน ให้ความเห็นว่า ความจริงการทำงานในซีกฝ่ายค้าน อาจจะมีความแตกต่างกับความทำงานของซีกรัฐบาล เพราะพรรครัฐบาล คือ พรรคที่ตัดสินใจร่วมกัน ดังนั้น ความคาดหวังเรื่องเอกภาพ ความสอดคล้องของนโยบายจะมีค่อนข้างสูง

แต่ทางฝั่งซีกฝ่ายค้าน ไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่จะมาร่วมฝ่ายค้านอยู่ คือบรรดาพรรคการเมืองที่เหลืออยู่ในสภาฯ ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น ไม่ได้มีความคาดหวังว่าแต่ละพรรคจะมีจุดยืนต่อร่างกฎหมาย แนวทางนโยบาย และการทำงานที่เหมือนกัน

ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกันจำกัดอยู่แค่งานธุรการ โดยเฉพาะเรื่องของการแบ่งสัดส่วนของเวลาในการอภิปราย ดังนั้น วันนี้จะเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการในงานธุรการดังกล่าว และเราในฐานะแกนนำฝ่ายค้าน จะอาศัยโอกาสนี้ให้พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ทราบถึงความประสงค์ ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคประชาชนเดินหน้าเต็มที่ ในฐานะฝ่ายค้าน และฝ่ายค้าน ก็ต้องทำ 2 บทบาทอย่างเข้มข้นคู่ขนานกัน คือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา เห็นว่ามีกรรมาธิการมีความพยายามจะตรวจสอบนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงการใช้กลไกกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี ในทุกสัปดาห์ แม้ว่าบางสัปดาห์จะมาบ้างไม่มาบ้าง อย่างไรก็ตาม เราตั้งใจจะเปิดอภิปรายรัฐบาลในสมัยประชุมนี้ ยืนยันว่าจะความเข้มข้นเหมือนเดิม

ส่วนอีกบทบาท คือ การเสนอร่างกฎหมาย เราเสนอไปแล้วกว่า 80 ฉบับ ซึ่งการเสนอร่างกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการเสนอแก้ไขในแต่ละประเด็นเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่า เป็นกลไกที่ทำให้ฝ่ายค้านสามารถกำหนดวาระของสังคมได้ นั่นคือ หากมีประเด็นอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึง เราก็เสนอกฎหมายเข้าไปและยื่นข้อเสนอของเราอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการดึงให้รัฐบาลต้องมาคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

แม้กระทั่งเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เป็นประเด็นเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างประกบที่ถึงแม้จะถอนออกไป ก็มาจากที่พรรคก้าวไกลเคยยื่นเข้าไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเข้าสู่วาระ 1 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดึงไปศึกษา 60 วัน จึงอาจจะทำให้พรรคการเมืองอื่นเห็นถึงความ จำเป็นในการยื่นร่างประกบด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวอย่างว่า เมื่อเรายื่นร่างกฎหมายเรื่องอะไร เหมือนเป็นการกระตุกให้รัฐบาลมาคิดเรื่องนั้น แม้คำตอบของรัฐบาลอาจจะไม่ตรงกับแกนนำของพรรคฝ่ายค้าน ผมจึงคิดว่าเป็นบทบาทสำคัญที่ฝ่ายค้านสามารถทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชน

พริษฐ์ วัชรสินธุ

โยนถาม ‘ไทยสร้างไทย’ ตกลงมี สส.ร่วมด้วยกี่คน โวแค่  ‘ปชน.’ 140 คน เหลือแหล่

เมื่อถามว่า พรรคไทยสร้างไทยยืนยันจำนวน สส.กับพรรคฝ่ายค้าน กี่คน พริษฐ์ ระบุว่า ต้องถามกับพรรคไทยสร้างไทย น่าจะดีกว่า แต่เข้าใจว่า ที่ผ่านมามีการลงมติในบางครั้งที่ไม่มีความเอกภาพ ย้ำว่าขอให้ถามกับพรรคไทยสร้างไทยจะดีกว่า

ส่วนกรณีที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ได้มีการประเมินเสียงของ สส.ของฝ่ายค้านแล้วหรือไม่นั้น พริษฐ์ ระบุว่า พรรคประชาชนมี สส. 140 คน, คิดว่าแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ในการเปิดอภิปรายทั่วไปและใช้กลไกต่างๆ ของสภาฯ เพื่อตรวจสอบรัฐบาลได้

คิดว่าเรื่องของจำนวนไม่เป็นปัญหา ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร มี สส.เกิน 140 คน ย้ำว่าเพียงพอแน่นอน

พริษฐ์ วัชรสินธุ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์