parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo00.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo01.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo02.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo03.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo04.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo05.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo06.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo07.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo08.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo09.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo10.jpg

Photo Story: ถก ‘แก้ รธน.’ ล่มตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

13 ก.พ. 2568 - 06:51

  • สภาฯ ถกแก้ รธน.สุดวุ่นวาย! หลัง สว.เปรมศักดิ์ ยื่นญัตติด่วนส่งศาล รธน.วินิจฉัยอำนาจแก้รธน. ทำสมาชิกโต้กันเดือด เลื่อน-ไม่เลื่อนญัตติขึ้นก่อนวาระ สุดท้าย เจอเกมชิงเชิงช็อตต่อช็อต! มติรัฐสภา 275 เสียงพลิก ‘ไม่เลื่อน’ ญัตติส่งศาลรธน.วินิจฉัยอำนาจแก้รธน. เดินหน้าถกรื้อแก้กติกาประเทศต่อ

  • ขณะที่ ‘สว.พิสิษฐ์’ ลุกแจงย้ำ ขอไม่ร่วมสังฆกรรม วอร์คเอาท์ออกจากห้องประชุม พร้อม สว.หลายคน เมินร่วมสังฆกรรม เจอ ‘สว.นันทนา’ โวย ‘วอร์คเอาท์’ เพื่อแสดงความไม่พอใจในผลมติ เป็นเรื่องพินาศของภาพลักษณ์รัฐสภา

  • ด้าน ‘สุทิน’ โชวหล่อ! บอก เพื่อไทยเห็นด้วยต่อการเสนอเรื่องไปศาลฯ หากเดินหน้าแก้ รธน.แล้วไม่ชนะ ก็จะตกไป จึงอยากให้ร่างยังค้างในสภาฯ แล้วตั้งหลักสู้

  • ระหว่างนั้น ที่ประชุมสภาฯ ยังวุ่นไม่หยุด! มีการเรียกร้องให้ สส.แสดงตนเป็นองค์ประชุม และยังประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ‘ประธานรัฐสภา’ เดินหน้าการแสดงตนเป็นองค์ประชุม ผลปรากฎว่า มีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.04 น.

parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo00.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo01.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo02.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo03.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo04.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo05.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo06.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo07.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo08.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo09.jpg
parliament-13feb2025-SPACEBAR-Photo10.jpg

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายหลังจากพักการประชุมเป็นเวลาประมาณ 20 นาที เพื่อให้สมาชิกไปศึกษาเอกสารในญัตติด่วนเพื่อขอให้รัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา210 (2) ตามที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอ เนื่องจากมีการเสนอเข้ามาเป็นเวลากระชั้นชิด 

วันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงขั้นตอนจากนี้ว่า การรับญัตติด่วนดังกล่าวของ นพ.เปรมศักดิ์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม พร้อมให้ นพ.เปรมศักดิ์ เสนอญัตติเพื่อให้เข้าใจตามเอกสาร แต่ไม่ใช่เป็นการอภิปราย จากนั้น จะถามมติที่ประชุมว่า จะอนุญาตให้นำญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติอื่นที่บรรจุระเบียบวาระไว้แล้วหรือไม่ ในกรณีที่อนุญาต ก็จะเปิดให้สมาชิกอภิปรายตามสมควร จากนั้นจะลงมติว่า สมควรส่งให้ศาลฯ วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา210 (2) หรือไม่ ส่วนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง2ญัตติ ของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ที่บรรจุในระเบียบวาระก่อนหน้านี้ ก็จะต้องพักไว้ก่อนจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัยลงมาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้าน ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ไม่ติดใจว่าจะลงตราประทับรับญัตติในเวลาใด แต่ญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ยื่นเข้ามาเป็นหนังสือ เมื่อบรรจุระเบียบวาระ ต้องเป็นระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 3 ตามหลังญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ดังนั้น คิดว่า ต้องพิจารณาเป็นเบื้องต้นว่า เห็นควรหยิบยกญัตติด่วนของนพ.เปรมศักดิ์ ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ซึ่งประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า เป็นไปตามที่ชี้แจงไปก่อนหน้า

ณัฐวุฒิ จึงกล่าวว่า หากมีเลื่อนญัตติด่วนฯ ขึ้นมาพิจารณาจริง ไม่ได้หมายความว่า เรื่องด่วนที่ 1 และ2 เป็นอันตกไป จึงอยากให้ประธานฯ วินิจฉัยให้ชัดว่า หากมีการเลื่อนการพิจารณาญัตติด่วนของนพ.เปรมศักดิ์ จะไม่ใช่เป็นข้อยุติหรือตัดสิทธิ์การอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังสามารถเดินหน้าอภิปรายรัฐธรรมนูญต่อได้ทั้ง 2 วัน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาพักการประชุม เนื่องจากสมาชิกหลายคนเตรียมข้อมูลที่จะอภิปรายมานาน เพียงแต่หากมีการเลื่อนแล้วมีมติให้ส่งศาลฯ วินิจฉัยตรงนั้นเองที่จะยังไม่สามารถลงมติรับหลักการได้

ขณะที่ พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.พยายามจะแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการประชุมรัฐสภาครั้งนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประธานฯ ปิดไมค์ แล้วชี้แจงว่า ขอให้ไปชี้แจงในช่วงที่เปิดให้มีการอภิปรายถึงเหตุผลต่างๆในญัตติ แต่พิสิษฐ์ ยืนยันว่าจะอภิปรายตอนนี้ หากไม่ได้ชี้แจงตอนนี้ ก็จะไม่ชี้แจงแล้ว เพราะจะไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ทั้งนี้มีผู้ที่ลุกขึ้นประท้วงพิสิษฐ์ เนื่องจากยังไม่ได้เข้าสู่ญัตติ วันมูหะมัดนอร์ จึงชี้แจงอีกครั้งว่า ขอให้ไปอภิปรายในช่วงของญัตติด่วน เอาเป็นว่าตอนนี้พิสิษฐ์ ไม่เห็นด้วยกับการประชุมฯ ส่วนเหตุผลค่อยไปชี้แจงในช่วงการพิจารณาญัตติ โดยจะอนุญาตทันที แต่พิสิษฐ์ ไม่ยอม พร้อมกล่าวว่า ขอขอบคุณประธานฯ และตนอนุญาตลาการประชุม

จากนั้น วันมูหะมัดนอร์ ได้เปิดให้นพ.เปรมศักดิ์ ลุกขึ้นชี้แจงเฉพาะหลักการและเหตุผลในญัตติ โดยไม่ต้องอภิปราย โดย นพ.เปรมศักดิ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลญัตติตอนหนึ่งว่า ญัตติดังกล่าว เสนอโดยสส.และสว.รวม 60 คน โดยเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 นั้นขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 อีกทั้งมองว่าประธานรัฐสภาไม่สามารถบรรจุเข้าสู่วาระได้ จึงเกิดปัญหาว่ารัฐสภามีอำนาจพิจารณาและลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 4/2564 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญปกป้อง หากรัฐสภาจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ หากประชามติเห็นชอบจึงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่แล้วเสร็จต้องทำประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง

“จากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ก่อนการเสนอรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา หลังจากที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติม และหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดำเนินการแล้วเสร็จ การที่ประธานรัฐสภาบรรจุก่อนการออกเสียงประชามติ ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐสภาไม่มีอำนาจพิจารณา ขณะที่ผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าทำได้ จึงถือเป็นความขัดแย้งต่ออำนาจและหน้าที่ จึงขอส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ารัฐสภาสามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ก่อนมีการทำประชามติหรือไม่”

นพ.เปรมศักดิ์ อภิปราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภานั้น พบว่า มีการแบ่งความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดย ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒนสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายว่า พรรคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ เพราะการบรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภายังมีหน้าที่โดยแท้ต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

“ผมมองว่า เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ยื่นเรื่องถามศาลรัฐธรรมนูญ ที่เชื่อว่าเป็นการขัดต่อการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้หากสมาชิกรัฐสภาไม่กล้าทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ต้องเสนอตัวเป็นตัวแทนของประชาชน”

ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ขณะที่ ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า สนับสนุนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ แต่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของญัตติดังกล่าว เพราะประธานรัฐสภามีอำนาจบรรจุวาระประชุม ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเห็นชอบกับการทำหน้าที่ก็ดีไป ทั้งนี้ สส.ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล รวมถึงสว. ไม่มีอำนาจชี้ว่า ชอบหรือไม่ เมื่อมีปัญหาต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ หากจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญอาจจะมีปัญหาหรือสุญญากาศ ดังนั้น จึงเห็นชอบต่อการเลื่อนญัตติดังกล่าว

ส่วน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสนับสนุนการเลื่อนญัตติที่เสนอโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในประเด็นที่เป็นปัญหา โดยไม่ทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียของ และซ้ำรอยเหตุการณ์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเหมือนปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่การอภิปรายของสว. มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่ายเช่นเดียวกับ ทั้งนี้หลังจากที่มีการอภิปรายแล้วเสร็จ ในเวลา 11.20 น. ได้ลงมติว่า จะเลื่อนญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเสียงข้างมากเห็นด้วย 247 เสียง ไม่เห็นด้วย 275 เสียง จากนั้น จึงได้เข้าสู่การอภิปรายตามระเบียบวาระต่อไป โดยที่ประธานรัฐสภาแจ้งว่า ญัตติที่เสนอโดยนพ.เปรมศักดิ์นั้นยังอยู่ในวาระและจะพิจารณาต่อจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

แต่ สว.พิสิษฐ์ ที่ก่อนหน้านี้ ได้แจ้งต่อประธานว่า ไม่ขอเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมอีกครั้งว่า ด้วยเหตุผลที่ไม่มีการเลื่อนญัตติในวันนี้ ได้อภิปรายไปแล้วว่าเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องขออภัยประธานฯ และที่ประชุม ขอออกจากที่ประชุม จากนั้นบรรดาสว.ที่นั่งอยู่ด้วยกันบางส่วนได้พากันลุกออกจากห้องประชุมทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมมีความวุ่นวาย หลังจากที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายต่อการแสดงออกของสว.บางส่วนว่า ปกติการเข้าหรือออกจากห้องประชุมสามารถทำได้ ทำไมต้องแจ้งเพื่อขออนุญาตกับประธานรัฐสภา อยากให้ซักซ้อมว่าบางคนไม่เข้าใจ และองค์ประชุมหากครบ ยังเดินหน้าได้ ทำให้ นันทนา นันทวโรภาส สว. อภิปรายสำทับเช่นกันต่อการวอร์คเอาท์ เพื่อแสดงความไม่พอใจผลการลงมติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องพินาศของภาพลักษณ์ของรัฐสภา ทั้งนี้เราอยู่กันในระบอบประชาธิปไตยไม่ยอมกติกา

ทำให้ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงคำพูดดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า เราไม่เห็นด้วยตั้งใจวอร์คเอ้าท์เพื่อบอยคอย ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยและฝั่งที่ลงมติให้เลื่อนญัตติ แม้ว่าจะแพ้ไป ยังอยู่ในห้องประชุม กรณีที่ นันทนา ระบุนั้นทำให้เสียหาย

ทั้งนี้ การประท้วงดังกล่าวยังดำเนินต่อไป จน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เสนอญัตติให้นับองค์ประชุม เนื่องจากพบว่า มีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนวอร์คเอ้าท์จากห้องประชุม ทั้งนี้ ปกรณ์วุฒิ เสนอญัตติให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ แต่ภายหลังได้ถอนออกไป เพราะไม่อยากให้รัฐสภาต้องเสียเวลา ทำให้ต้องใช้การแสดงตนผ่านการกดบัตรแสดงตน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมรัฐสภายังคงเต็มไปด้วยความวุ่นวายมีการประท้วงต่อการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ยอมแสดงตนเป็นองค์ประชุมและมีการระบุว่า ไม่ให้สมาชิกเข้าร่วมการประชุม โดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือว่า พบว่ามีการปิดประตูทางเข้า-ออกของห้องประชุมรัฐสภาบางประตูเพื่อไม่ให้มีการเข้าออก ขอให้ตรวจเช็กเรื่องดังกล่าว และขอให้รอสมาชิกมาแสดงตน เนื่องจากสมัยรัฐสภาที่แล้วมีการรอองค์ประชุมนานถึง 53 นาที

ด้าน สุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยเห็นด้วยต่อการเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นหนทางที่จะแก้ไขได้ หากญัตติค้างอยู่จะยังทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ต่อไป แต่เมื่อมติไม่ชนะ หากจะเดินหน้าก็ตกอีก ดังนั้นจึงต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญค้างในสภา และตั้งหลักสู้ต่อไป จึงออกมาในแนวที่เห็น การเป็นองค์ประชุมหรือเลื่อนหรือไม่ เป็นวิธีการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ไม่ใช่ได้แก้เพื่อบอกประชาชนว่าได้ทำแล้ว

“เมื่อจะแก้ไขได้จริงๆ สถานการณ์วันนี้ บอกตรงๆ ว่าหากลงมติคิดว่าตก หากเดินไปสู่การลงมติจะตก และนำกลับมาสู่การแก้ไขไม่ได้ง่ายๆ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อทางตรงมันติด ต้องจึงขอใช้วิธีทางอ้อม ด้วยการส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ญัตติแก้รัฐธรรมนูญไม่ตกไป หากศาลบอกว่าทำได้ จะได้เดินต่อเพื่อให้เห็นหนทางที่ทำให้สำเร็จ”

สุทิน อภิปราย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการเรียกร้องให้ สส.แสดงตนเป็นองค์ประชุม และมีการประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ วันมูหะมัดนอร์ ย้ำกับที่ประชุมว่า ไม่ให้สิทธิประท้วงใด ๆ และเดินหน้าการแสดงตนเป็นองค์ประชุม ผลปรากฎว่า มีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.04 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนพ.เปรมศักดิ์ ยื่นญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น มีผู้เข้าร่วมลงชื่อรับรอง ทั้งจากฝั่ง สส. และ สว. ซึ่งเป็นที่สังเกตว่า มี สส.ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร่วมลงชื่อด้วย

โดยในรายชื่อมีทั้ง สส.จากพรรค พท. อาทิ สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค, มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ใฐานะ สส.นครพนม, นพ.เชิดชัย ตันติศิรนทร์ สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคกล้าธรรม อาทิ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร, อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา, บุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งหลายคนร่วมลงชื่อกับ สว. แสดงความสนับสนุนให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่า จากที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มี สส. หลายคนทักท้วงเกี่ยวกับญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ดังนั้น จึงเห็นว่าเพื่อความมั่นใจและความสบายใจของทุกฝ่าย ก็ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความให้ชัด เพราะอย่างไรถึงลงมติกันไปร่างแก้ไจรัฐธรรมนูญก็อาจจะไม่ผ่าน อีกทั้งเสียงสนับสนุนจาก สว. ก็คงไม่ครบ เพราะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์