‘ปธ.กมธ.กิจการสภาฯ’ แจงทำ ‘โรงหนัง4D’ เอาไว้ฉายประวัติศาสตร์ให้ ‘ปชช.’ ดู

9 พ.ค. 2568 - 09:06

  • ‘ประธาน กมธ.กิจการสภาฯ’ แจงหวังสร้าง ‘โรงหนัง4D’ ให้ ปชช. ดูประวัติศาสตร์การเมือง

  • แจงได้ไอเดียจากดูงาน ‘กฟผ.’ ย้ำอยากให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แบบเปิด

  • ขออย่าดรามาโยงลาม ‘เอ็นเตอร์เทนฯ-การพนัน’ เตรียมแถลงรายละเอียด 13 พ.ค.นี้

ประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ระบุถึง การเสนอสร้างโรงภาพยนตร์ 4D ในอาคารรัฐสภา ว่า ต้องการให้สภาเป็นสภาที่เปิดเต็มรูปแบบ หมายถึงให้สภาเป็นศูนย์การเรียนรู้ของพี่น้องประชาชน รัฐสภาสร้าง ด้วยเม็ดเงินมหาศาล 2-3 หมื่นล้านบาท จึงอยากให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ ถือเป็นจุดประสงค์หลัก

หากเปิดมาแล้ว ต้องการสร้างแรงจูงใจให้คนได้เรียนรู้ในรูปของมิติ ทั้งการฉายสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศ ทำเป็นลักษณะนี้ด้วย ก็เลยมีการอธิบาย เขียนคำของบประมาณออกมาในรูปแบบของ 4D ซึ่งส่วนตัวก็เพิ่งเห็นข้อมูลบางเรื่อง


“จริงๆ แล้วจุดประสงค์มันคนละเรื่องเลย เราตั้งใจให้ประชาชนที่เขามาสภาฯได้เรียนรู้ ถ้าเป็นโรงภาพยนตร์จะเป็นลักษณะของการเอ็นเตอร์เทนมากกว่า สนุกสนานเพลิดเพลิน แต่อันนี้จะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง และโลกอนาคต”

ประเสริฐ กล่าว

ประธาน กมธ.กิจการสภาฯ ยังยอมรับว่า นำรูปแบบมาจากการไปดูงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) วันนั้นเราไปทั้ง กมธ. โดยให้คณะอนุฯที่มี นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ไปดำเนินการ ไปดูว่าถ้าเป็นลักษณะนั้นจะทำได้หรือไม่ ถ้าเราเปิดมาแล้วจะเป็นสถานที่เรียนรู้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเมืองและประชาธิปไตย เราอยากให้สภาเป็นของพี่น้องประชาชนจริงๆ


“กรมเจ้าท่าเขาก็บอกว่าจะทำท่าเรือให้ประชาชนขึ้นมายังรัฐสภา เราถึงบอกว่าถ้าเป็นท่าเทียบเรือแล้ว เวลาคนมาทัศนศึกษาทางน้ำตอนกลางคืน เราก็จะปรับรูปแบบสภาของเราให้สง่างามเหมาะสม เป็นองค์กรหนึ่งที่เป็นเสาหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่วนรายละเอียดต่างๆผมจะแถลงข่าวในวัน13พ.ค.นี้”

ประเสริฐ กล่าว

ส่วนกรณีที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า ประธาน กมธ.กิจการสภา ระบุ อยากให้เด็กกรี๊ดเวลามาดูงานที่รัฐสภา ประเสริฐ ชี้แจงว่า ในรูปแบบหนึ่งคือการสร้างแรงจูงใจ ต้องยอมรับความจริงเรื่องหนึ่งว่าการที่คนเข้ามาศึกษาดูงานในสภา เข้ามาแล้วเรียงแถวจากชั้นที่ 1 ขึ้นไปห้องประชุมที่ สส.และ สว.ประชุมอยู่ เข้าไปนั่งนิดหนึ่งยืนคำนับแล้วจบ 

จากนั้นก็เดินเรียงแถวออกมา ผมบอกว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ แรงบันดาลใจต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทางการเมืองเขาอาจจะไม่มีแรงดึงดูด ซึ่งผู้ที่มาศึกษาดูงานที่สภาฯมีทั้งนักเรียนชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย จึงมีแนวคิดลักษณะนี้

เมื่อถามว่า นอกจาก กฟผ.แล้ว ได้โมเดลจากต่างประเทศ เช่น ฟินแลนด์ ด้วยหรือไม่ ประเสริฐ  ระบุว่า ฟินแลนด์เป็นเรื่องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่า มันสืบโยงกันหลายเรื่อง สภาของเราเป็นสภาใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก มีมูลค่าในการสร้างสูงมาก ซึ่ง ตอนเสนอผมไม่ทราบว่ารูปแบบในการพิจารณาเป็นอย่างไร เช่น ผลประกอบการ การดำเนินการต่างๆ ดูแล้วลักษณะคือก่อสร้างยังไม่สมบูรณ์มากกว่า แต่รูปแบบอื่นยังไม่มีรายละเอียด

เมื่อถามว่าสาเหตุที่ต้องมีระบบ 4D เพราะเด็กๆ ที่มาทัศนศึกษาจะได้ไม่ต้องดูแค่เฉพาะ สส.ตีกันใช่หรือไม่ ประเสริฐ กล่าวว่า เป็นลักษณะนั้น รูปแบบของการทำระบบจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์การเมือง เป็นการสร้างแรงจูงใจ


“ถ้ามีคนไปบรรยาย ถามจริงๆ ความสนใจของคน จะดึงได้ถึงขนาดไหน บอกว่ามีการปฏิวัติรูปแบบ ล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตย ทำไมถึงเป็นลักษณะนั้น หรือเป็นการฉายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์การเมือง เราจะเน้นในลักษณะนี้ ไม่ใช่จะบอกว่าเอาหนังมาฉายเป็นเอ็นเตอร์เทน บางคนก็ไม่เข้าใจ ไปแปลเป็นลักษณะของการพนันมากกว่า ผมเลยบอกว่าเราต้องเรียนรู้ อย่าไปดราม่า เราเรียนรู้ความเป็นจริงด้วย”

ประเสริฐ กล่าว


เรื่องเด่นประจำสัปดาห์