การประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)อุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณาเรื่องการขนกากแร่อุตสาหกรรมแคดเมียม โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล อาทิ ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวอุตสาหกรรม จุลพงษ์ ทวรศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก วรญัฑฐ์ หนูริต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นต้น
โดยอัครเดช ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ในเรื่องการขนย้าย เห็นว่า ควรจะมีตู้คอนเทรนเนอร์มาบรรจุ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายระหว่างขนย้ายแคดเมียม เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนที่อาศัยบริเวณโดยรอบ โดยจะมีการเสนอให้ซีล 2 รอบ และใส่ไปในตู้คอนเทรนเนอร์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแล้วค่อยขนย้ายไป จ.ตาก โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้รัฐก็ต้องออกงบประมาณดำเนินการไปก่อน แล้วไปฟ้องร้องค่าใช้จ่ายกับผู้ประกอบการทั้งหมด หากจะรอให้ผู้ประกอบการพร้อม ตนคิดว่าไม่ทันและจะเป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชน
เมื่อถามว่า ทางกมธ. ได้รับเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่อย่างไรบ้าง อัครเดช กล่าวว่า กมธ.ได้มีการสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้ลงพื้นที่จริง แต่เรามีแผนที่จะลงไปติดตามการฝังกลบแคดเมียมที่ จ.ตาก เดิมวางไว้ประมาณต้นพฤษภาคม แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการกำหนดการขนย้าย ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ก็ต้องมาหารือในที่ประชุมกมธ.กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจริงๆ แล้ว จะสามารถขนย้ายได้เมื่อไหร่ เพราะเดิมทราบจากระทรวงอุตสาหกรรมการว่า จะเริ่มมีการขนย้ายประมาณวันที่ 17 เมษายน 2567 จึงต้องสอบถามเหตุผลจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาชี้แจงว่าทำไมจึงเลื่อนเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม 2567
เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ที่ทางกมธ.ระบุว่า มีข้อมูลเชิงลึกในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ว่าได้ข้อมูลมาทางไหน อัครเดช กล่าวว่า เราทราบเหตุการณ์นี้ เพราะมีคนมาร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่รัฐรับผลประโยชน์ในเรื่องของการย้ายกากแร่แคดเมียม ทาง กมธ.จึงได้มีการตรวจสอบประมาณเดือนมกราคมเรายังไม่รู้ว่าเป็นกากแร่อะไร จนรับทราบเบื้องต้นว่า ต้นทางอยู่ที่จ.ตาก จนมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดย กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวช้องมาสอบ ซึ่งครั้งแรกเราพุ่งเป้าไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นพื้นที่เหมืองแร่สังกะสีเก่า แต่ได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนการประชุมนัดที่ 4 เราถึงทราบและแถลงข่าวให้รัฐบาลไปดำเนินการ และให้รปะชาชนเฝ้าระวัง ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่เราเจอเร็ว ไม่ใช่ให้ประชาชนล้มป่วยก่อนเหมือนในต่างประเทศ แล้วเราค่อยมาสืบหากันว่าประชาชนล้มป่วย เสียชีวิตเพราะอะไร
เมื่อถามว่า เจ้าหน้ารัฐที่ถูกร้องเรียนเป็นระดับท้องที่ต้นทาง ปลายทาง หรือกำกับดูแลใบอนุญาต อัครเดช กล่าวว่า ในเอกสารที่มีการส่งมาร้องเรียนเบื้องต้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่มาจากระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนจะเป็นต้นทาง ปลายทาง หรือระดับไหนขอรอให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมกมธ. ก็จะมีการติดตามการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการต้นทาง ปลายทาง หรือส่วนที่จะเตรียมการส่งออกว่า ละเมิดกฎหมายและผิดกฎหมายข้อไหน และเป็นหน่วยงานไหน
เมื่อถามว่า การขนย้ายไปฝังกลบ ที่จ.ตาก มีความเสี่ยงระหว่างขนย้าย รวมทั้งผลกระทบกับพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงจะดำเนินการอย่างไร อัครเดช กล่าวว่า ในอีไอเอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระบุชัดเจนที่เป็นส่วนหนึ่งที่อนุญาต คือ จ.ตากประกอบการทำเหมืองแร่ และถลุงแร่สังกะสี และกากแร่แคดเมียม ซึ่งในใบอนุญาตมีอีไอเอ ที่ระบุไว้ว่าจะต้องมีการฝังกลบ ที่ จ.ตาก ดังนั้นเมื่อมีการละเมิดอีไอเอ เอาออกมานอกพื้นที่ ขั้นตอนเจ้าหน้าที่รัฐได้มีคำสั่งทางปกครองไปแล้วว่า ให้ขนกลับไปเก็บที่เดิมภายใน 7 วัน เป็นมาตรการทางกฎหมายฉะนั้นต้องขนกลับไปเก็บที่เดิมก่อน
ส่วนอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะย้ายที่ฝังกลบหรือจะดำเนินการอย่างไรกับกากแร่แคดเมียมที่วันนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น ก็ต้องไปทำอีไอเอเพิ่ม และต้องศึกษากฎหมายด้วยว่าอนุญาตให้ทำอย่างไร และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านักวิชาการหรือใครอยากให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้มันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายก่อน
เมื่อถามว่า มีข้อมูลทุนจีนเทาเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ ประธานกมธ.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการข่าวทราบว่า ผู้ประกอบการต่างประเทศที่เป็นคนจีน เตรียมส่งออก และมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว มีความเชื่อมโยงกันหมดในตัวละคร ตั้งแต่ต้นทางที่จ.สมุทรสาคร ก็เป็นคนจีน จะมีการขนย้ายไปที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเตรียมส่งออกก็เป็นคนจีน เจ้าของโรงงานที่ไปตรวจพบกากแร่แคดเมืยม ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และเป็นผู้ประกอบการคนจีนที่กมธ.อุตสาหกรรมเคยทำเรื่องนี้ พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมายและให้เจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ไปจับกุมดำเนินคดีมาแล้ว จะเห็นได้ว่าตัวละครที่เป็นคนจีนมีทั้งหมด 3 ตัวละคร ตัวละครสุดท้ายต้นทาง ที่จ.สมุทรสาครที่เป็นโรงหลอม ก็มีผู้ประกอบการคนจีนที่สวมสิทธิ์์หลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.กำลังจะสอบว่าจริงๆ แล้ว มีการกระทำความผิดตามที่ประกอบการโรงหลอมคนไทยร้องเรียนมาหรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 4 ตัวละครที่เป็นคนจีน ซึ่งเชื่อมโยงกันหมดเป็นเครือข่าย
“ผมจึงเรียกร้องให้นายกฯ หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นวาระแห่งชาติในการดำเนินการกับนักลงทุนจีนสีเทาทางด้านอุตสาหกรรมที่ละเมิดกฎหมาย เพราะอ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ทุนจีนก็กระทำความผิดซ้ำซาก ทำให้เกิดผลกระทบกับพี่น้องชาวชลบุรีอย่างต่อเนื่องรุนแรง ซึ่งทางกมธ.เคยสอบสวนและให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินคดีมาแล้ว”
อัครเดช กล่าว
เมื่อถามถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่จ.สมุทรสาคร จะต้องสอบ หรือไม่ว่าแคดเมียมได้มีการรั่วไหลออกไปแล้วหรือไม่ อัครเดช กล่าวว่า ที่จ.สมุทรสาครได้รับทราบจากจังหวัดว่า มีการตรวจพบคนในโรงงานมีค่าแคดเมียมเกิน ส่วนนอกโรงงานก็มีค่าแคดเมียมเกินเหมือนกัน ในที่ประชุมกมธ.วันนี้จะได้รับทราบจากจังหวัดสมุทรสาครอย่างเป็นทางการว่าค่าแคดเมียมเกินไปเท่าไหร่ และจะดำเนินอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องไปดูแล และผู้ประกอบการที่กระทำความผิดจะต้องรับผิดชอบด้วย
จากนั้น ในการประชุม กมธ.ช่วงหนึ่ง ณัฐพล ได้ชี้แจงว่า แผนการเคลื่อนย้ายกากตะกอนกลับที่เดิม โดยแนวทางการจัดเก็บ ณ สถานที่ที่ตรวจพบ ได้เก็บกากตะกอนทั้งหมดไว้ในอาคาร และมีการทำความสะอาดดูดฝุ่นจากในโรงงาน ส่วนที่อยู่ตามชายคาต้องใช้พลาสติกคลุมทับอีกครั้งให้มีความมิดชิดและไม่ถูกชะล้าง โดยเตรียมการขนย้ายใส่ในรถเปิดแต่ใส่ในถุงซ้อนปิดมิดชิด คลุมด้วยพลาสติกอีกครั้ง จะขนได้ประมาณ 30 ตันต่อคันรถ และใช้รถ 30 คันคาดว่าจะเพียงพอ และในวันนี้(17 เม.ย.)จะทดสอบความแข็งแรงของบ่อว่าพร้อมหรือไม่ ซึ่งตนและผู้บริหารจะลงไปตรวจสอบด้วยตนเอง เมื่อปรับปรุงบ่อเสร็จจะตรวจองค์ประกอบต่างๆ เช่น ตรวจสถานะของกากตะกอนทุกถุงว่าต้องเป็นด่าง ตามที่อีไอเอกำหนดไว้ ปรับระบบบ่อน้ำเสีย โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเวลา ปิดบ่อและดูดฝุ่นทุกวัน รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินทุก 3 เดือน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงต่อว่า ส่วนวันที่ 18 เม.ย.นี้ จะสรุปความเห็นต่อคณะกรรมการ 6 กระทรวง หากมีจุดสุ่มเสี่ยงก็จะดำเนินการให้เหมาะสม และดำเนินการตรวจสอบอย่างเรียบร้อย ขณะที่การสืบหาสาเหตุที่กากตะกอนมาปรากฏที่กรุงเทพฯ ได้นั้น คาดว่าในกรุงเทพฯ เป็นจุดพักของ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการอย่างเต็มที่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ยังได้เสนอให้นำกากตะกอนที่อายัดไว้ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ไว้ก่อน เพราะประชาชนในพื้นที่กังวลเรื่องความปลอดภัย และไม่ควรรอการดำเนินการของภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่ทางกระทรวงฯ ควรของบประมาณดำเนินการจากนายกฯมาก่อนได้ แล้วไปฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ประกอบการแทน
โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงว่า เหตุที่ไม่ใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ เพราะจะมีความยุ่งยากเรื่องการขนย้ายเข้า ออก ขอย้ำกากตะกอนไม่มีกัมมันตภาพรังสี หากไม่มีการฟุ้งกระจายก็สามารถควบคุมได้ แต่ให้เร่งทำถุงซ้อนสองชั้นเพื่อปกคลุมไม่ให้มีการฟุ้งกระจายไปก่อน ซึ่งมาตรการนี้เป็นไปตามมาตรฐานของสหประชาชาติ
ขณะที่อัครเดช ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องขนย้ายในวันที่ 7 พ.ค. โดยไม่ใช่วันที่ 17 เม.ย. ตามที่รมว.อุตสาหกรรมเคยแถลงไว้
โดยอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ ชี้แจงว่า กระบวนการในการขนย้ายกากตะกอนกลับ ต้องมีการอนุญาตและเตรียมดำเนินการ ซึ่งต้องเผื่อระยะเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซมบ่อสำหรับฝังกลบใน จ.ตาก ให้เรียบร้อยก่อน และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เผื่อขนย้ายกากตะกอนที่อยู่ใน จ.ตาก แล้ว ลงบ่อ จากนั้นเป็นการขนย้ายกากตะกอนจากพื้นที่ต่างๆ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญและความพร้อมในการขนส่ง กระบวนการนี้เป็นร่างที่กระทรวงฯ เห็นว่ามีความเหมาะสม โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อรับฟังความเห็นอีกครั้ง