การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี ภราดร ปริศนานันทกุล รอบประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา จำนวน 2 ญัตติ 1.ญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบกรณีการขาดอายุความของคดีตากใบและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความชอบธรรมของรัฐและการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจับหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอโดย รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ 2.ญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาหาทางออกกับสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กรณีคดีสลายการชุมนุมเหตุการณ์ตากใบขาดอายุความ (วันที่ 25 ตุลาคม 2567) เสนอโดย กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ
โดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายว่า เราแทบไม่ได้รับคำตอบ และไม่ได้เห็นถึงความจริงใจอะไรเลยของรัฐบาลชุดนี้ในการที่จะแก้ปัญหาดับไฟใต้อย่างจริงจัง ในการที่จะทวงความยุติธรรมให้กับผู้เสียหาย ผู้สูญเสีย จากเหตุการณ์ตากใบแม้แต่น้อย ไม่ใช่คำถามที่จะได้รับคำตอบเท่านั้น แต่รวมไปถึงความชัดเจน ความจริงใจ ที่ประชาชนซึ่งอยู่นอกสภาฯจะได้รับด้วย และรวมไปถึงโอกาสของรัฐบาล ที่จะได้พิสูจน์ตัวเองว่า มีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาอย่างที่พูดเอาไว้ตลอดเวลา
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่ไม่ได้หมายความว่า คำพูดคือสิ่งที่ไม่มีความสำคัญเลย ถ้าเราดูในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าการพูดเรื่องของคดีตากใบ จากรัฐบาลนี้ในหลายโอกาสนั้น อย่างคำพูดของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่บอกว่า ตากใบไม่สำคัญ น้ำท่วมสำคัญกว่า เข้าใจดีว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญ แต่เราไม่ควรจะต้องเลือกว่า เหตุการณ์ใดสำคัญกว่าเหตุการณ์ใด เพราะสำหรับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เขากำลังเจอล้วนสำคัญ รัฐบาลมีการส่งสัญญาณถึงความจริงใจบ้างหรือไม่ มากไปกว่านั้น แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ก็พูดเป็นนัยว่า ทำไมมาฟ้องเอาตอนนี้ คดีใกล้จะหมดอายุความ ทำตัวเป็นเหยื่อ และคนที่สูญเสีย กลายเป็นแพะ ถูกตราหน้าจากสังคม จนเป็นคนที่ถูกโยนบาป ว่าพวกเขามีจุดมุ่งหมายทางการเมืองบางอย่างที่จะทำลายรัฐบาล นี่หรือคือความจริงใจที่รัฐบาลกำลังจะมอบให้กับกรณีตากใบ
“เหตุการณ์ที่ขึ้นเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น แม้จะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตีกอล์ฟอยู่ ผมเข้าใจว่าคนธรรมดาก็ต้องมีการพักผ่อนกันบ้าง แต่ตลอดเหตุการณ์ตั้งแต่การชุมนุมไปจนถึงการที่รถขนคนเที่ยวสุดท้าย ลากยาวตั้งแต่ตอนเช้าถึงเวลาตีหนึ่งนั้น ท่านไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มันผิด เป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และท่านในฐานะนายกฯในเวลานั้น ไม่รู้สึกว่าจะต้องทำเลยหรือ แม้เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว ตั้งแต่นายกฯ ผู้พ่อ มาสู่นายกฯ ผู้ลูก เราจะส่งสัญญาณถึงการละเลยความเจ็บปวดของประชาชนเหมือนเดิมอีกหรือ" รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องตอบ 3 คำถามที่ขอฝากไว้ให้ คือ 1.วันนี้ต้องตอบให้ชัดว่า เหตุการณ์ตากใบที่เกิดขึ้น ตอนที่อดีตนายกฯเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น ทำไมถึงไม่ใช้อำนาจหน้าที่ของท่าน และในระยะเวลายาวนาน ทำไมถึงปล่อยให้เกิดขึ้นได้ 2.หลังจากนี้ ดคีคงหมดอายุความ ปาฏิหาริย์ที่เราคาดหวังว่า จะมีการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมคงไม่เกิด แต่คำถามสำคัญคือ เราจะมีกระบวนการ หรือนโยบายอย่างไร ที่จะมั่นใจได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของเรา จะไม่เป็นแบบนี้อีกแล้ว เราจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไร ให้ประชาชนสามจังหวัดชายแดนใต้ รู้สึกได้ว่าเขาสามารถพึ่งพากระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้ และ 3.เราต้องยอมรับความจริงว่า แนวทางในการบริหารเพื่อดับไฟใต้ของรัฐบาลนี้ กับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ดังนั้น ช่วยสร้างความแตกต่างได้หรือไม่ ช่วยนำเสนอนโยบายในการดับไฟใต้ ที่จะนำไปสู่การสร้างความแตกต่างให้ประชาชนรู้สึกว่ามีความหวังอีกครั้ง เขาจะได้รู้สึกถึงความจริงใจของรัฐบาล
“ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างความหวัง และความจริงใจให้ประชาชนสามารถรู้สึกได้ ไฟใต้ก็มีแต่โหมกระพือ และสิ่งที่ท่านได้พูดในเวลาที่ผ่านมา มันได้จุดไฟนั้นอีกครั้ง ขอให้ใช้โอกาสนี้แก้ไขในสิ่งที่ผิด อย่าปล่อยให้ไฟใต้ต้องเป็นแบบนี้อีกต่อไป” รังสิมันต์ กล่าว
ด้านจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงรังสิมันต์ว่า ที่บอกว่านายกฯในขณะนั้นไม่รู้สึกอะไรเลยหรือ จากเหตุการณ์ตากใบตั้งแต่การชุมนุมช่วงเช้า จนมีการขนย้ายคนเที่ยวสุดท้ายลากยาวจนถึงดึก แต่หากไปดูย้อนหลัง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นนายกฯขณะนั้น กล่าวขอโทษต่อประชาชนไปแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งหนึ่งพูดขอโทษต่อเหตุการณ์ที่สั่งการให้ใช้กำลังจัดการกับฝูงชนที่อาจรุนแรงเกินไป และครั้งที่ 2 ขอโทษต่อเหตุการณ์การขนคนที่ท่านไม่ทราบเลยว่าเป็นความผิดพลาดร้ายแรง ส่วนที่ รังสิมันต์ ระบุว่า รัฐบาลจะปล่อยให้เป็นแบบนี้หรือไม่ นายกฯ ได้กล่าวขอโทษต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์ตากใบ ถือเป็นเรื่องดีต่อการเริ่มต้นแก้ปัญหา ลดความรู้สึกผิดหวัง ไม่สบายใจของประชาชนลงไปได้บ้าง
“ถามว่าทำไมเพิ่งมาเป็นเรื่องกันตอนนี้ เพราะมีการรื้อคดีขึ้นมาเมื่อปี 2566 ตำรวจภาค 9 ทำคดี เสนอฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ8คน อัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา และญาติผู้เสียชีวิตฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐอีก7คนเป็นจำเลย ศาลฯรับฟ้องเมื่อ 23ส.ค. เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลรับฟ้องอย่างนี้ ก็เป็นความหวังของประชาชาอีกครั้งว่า จะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นบาดแผลระทมขมขื่นมานาน หรือบางคนโกรธแค้นมานาน แต่ปรากฎว่าคดีจะหมดอายุความในวันนี้ โดยจะไม่มีใครขึ้นศาลฯแม้แต่คนเดียว มันเป็นความผิดหวังร้ายแรง อาจนำไปสู่ความรู้สึกโกรธแค้นเคือง เพราะไม่สามารถพึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ ความเชื่อถือก็หมดไป จึงเป็นเรื่องใหญ่” จาตุรนต์ กล่าว
รังสิมันต์ ลุกขึ้นกล่าวว่า ในเหตุการณ์ตากใบ มีคนอีกจำนวนมากสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาจากการชุมนุมจนถึงช่วงที่มีการขนคนที่กินนานขนาดนั้น มันเป็นไปได้อย่างไรที่จะไม่รู้ ถ้าไม่รู้จริงๆมันต้องเป็นความผิดพลาดของระบบบางอย่างที่เกิดขึ้น เราควรคิดกันอย่างจริงจังว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อย่างไร ไม่ว่ารัฐบาล หรือฝ่ายค้านเราไม่อยากสร้างความรู้สึกให้กับประชาชนเขารู้สึกว่าไม่ใช่ไม่รู้ แต่ไม่สนใจ มันเป็นความรู้สึกที่ติดลบ
จากนั้น ในเวลา 13.20 น. ภายหลังสมาชิกได้อภิปรายกันอย่างครบถ้วน และผู้เสนอญัตติได้กล่าวสรุปแล้วนั้น ที่ประชุมจึงมีมติส่งญัตติดังกล่าวทั้ง 2 ญัตติ ไปยังคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลพิจารณา โดยกำหนดระยะเวลาการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน