‘อนุกมธ.นิรโทษ’ ไร้วาระถก ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้าน

17 เมษายน 2567 - 09:02

parliament-yingluk-17apr2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘อนุกมธ.นิรโทษ’ ไร้วาระถก ‘ยิ่งลักษณ์’ กลับบ้าน ชี้ ไม่พิจารณารายบุคคล ดู 3 เงื่อนไข เข้าข่ายหรือไม่ ย้ำ ทุจริตจำนำข้าวไม่อยู่ใน 25 ฐานความผิด ยันไม่มีใครส่งสัญญาณ

  • เผย ผลพิจารณา กำหนด 25 ฐานความผิด ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ย้ำมาตรา 112 ยังอ่อนไหว ก่อนส่งไม้ต่ออนุฯ ชุด ‘ยุทธพร’ ลงรายละเอียดตีกรอบนิรโทษ

  • ชี้ช่องมาตรา 21 อาจสั่งไม่ฟ้องคดียุดโควิด-19 เหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงข่าวผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ 

โดยประเด็นแรกคือ นิยามของ ‘แรงจูงใจทางการเมือง’  มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาการกระทำความผิดฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม ซึ่งแรงจูงใจทางการเมืองมีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองหรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง ในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

สำหรับข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม นิกร ระบุว่า จะใช้ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว ต่างจากหน่วยงานอื่นที่ขอไป ซึ่งยังขาดความชัดเจนเพียงพอต่อการนำมาใช้ประกอบเป็นข้อมูลสถิตินำเสนอ ทั้งนี้ ยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่วนฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นการนิรโทษกรรม คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาข้อมูลฐานความผิด โดยนำบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความยุติธรรมทางอาญา พ.ศ. ...(คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความยุติธรรมในคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557) ที่กำหนดความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จำนวน 15 ฐานความผิดมาเป็นหลักในการพิจารณา 

โดยพิจารณาร่วมกับบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสันติสุข พ.ศ. .... (พรรครวมไทยสร้างชาติ เสนอ) กับ ฐานคดีความผิดทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเพิ่มในฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อีก 6 ฐานความผิด เป็น 15 ฐานความผิด และเพิ่มกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมืองอีก 8 ฉบับ จากเดิม 17 ฉบับ รวมทั้งหมดเป็น 25 ฉบับ เพื่อให้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึง 2567

คณะอนุกรรมการฯ ยังรวมฐานความผิดจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งสำคัญ คือ 

1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2551 

2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2553 (รวมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ นปก.) 

3.การชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2557 

และ 4.การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และ 112 ในการศึกษาเดิมของหลายคณะที่ผ่านมา ได้ยกเว้นเรื่องมาตรา 112 ไว้ทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวและเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ จึงไม่ได้รวมไว้ และจากรับฟังความเห็นโดยทั่วไป ก็ยังเห็นว่ามาตรา 110 และ 112 ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่

นิกร ยังหยิบยกประเด็นการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชนตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการพ.ศ. 2553 นั้น คณะอนุกรรมาธิการเห็นว่า เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรม ควรใช้การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 กับ คดีที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนก่อนที่จะมีกฎหมายนิรโทษกรรม 

ขณะที่ข้อมูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งจะเห็นว่า จากข้อมูลสถิติในช่วง พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2567 จะมีคดีประมาณ 73,009 คดี เหตุที่มีคดีเป็นจำนวนมากเพราะ เป็นช่วงเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงควรนำเรื่องการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนมาบังคับใช้

เช่นเดียวกับความผิดตามกฏหมายว่าด้วยจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องนี้พบว่ามีข้อมูลสถิติเป็นจำนวนมากจึงควรแยกส่วนการพิจารณาเป็นการเฉพาะเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการพิจารณาในภาพรวม และยังอาจนำการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องสำหรับคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชนมาบังคับใช้ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับระยะเวลาในการนิรโทษกรรมนั้น คณะอนุกรรมาธิการ เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาควรพิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมครั้งสำคัญคือช่วงเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน 

โดยขั้นตอนต่อไปของรายงานฉบับนี้ คือ จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้พิจารณาพิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2567 นี้

นิกร ยังเผยว่า พรุ่งนี้จะมีการเสนอตั้งคณะนุกรรมการอีกชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาจำแนกเรื่องข้อมูลสถิติ รวมถึงข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการที่พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่ 25 ฐานความผิดเป็นหลักว่าจะรวมฐานความผิดใดบ้าง รวมถึงมาตรา 110 และ 112 หรือไม่ เพื่อจัดทำรายงานให้คณะกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่ลงมติ โดยจะมี ยุทธพร อิสรชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าว

นิกร ยังเชื่อว่า เมื่อเปิดสมัยประชุมสภาฯ กรรมาธิการฯ ชุดใหญ่จะสามารถทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เลย ก่อนจะเสนอไปยังรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่า รวมฐานความผิดใดบ้าง และกรรมาธิการจะยกร่างเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือไม่ หรือเพียงแค่กำหนดกรอบ

นิกร กล่าวถึงกรณีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายถูกนิรโทษกรรมหรือไม่ว่า ในคณะอนุกรรมาธิการไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล ไม่ได้พิจารณาตรงนี้ แต่หากจะพิจารณาต้องดูว่า เข้าเงื่อนไขหรือไม่คือ 1.ระยะเวลา ที่เราเสนอไปตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เพราะหากเกิดก่อนปี 2548 ถือว่าไม่เข้าเงื่อนไข 2.คือฐานความผิดที่ขนาดนี้มีอยู่ 25 ฐานความผิด ก็ไม่ได้มีคดีที่ว่า เพราะไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล 3. มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณา ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการที่มียุทธพรเป็นผู้จำแนกต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า จำนำข้าวไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมใช่หรือไม่ นิกร กล่าวว่า เราไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการของยุทธพรจะลงในรายละเอียด ซึ่งทุกกรณีจะต้องพิจารณาว่าเป็นแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ตามนิยามที่ให้ ต้องดูว่าเป็นฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่มีความเห็นว่ากรณียิ่งลักษณ์ จะเข้าข่าย 25 ฐานความผิดที่จะได้นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะยังไม่ถึงขั้นการลงรายละเอียด

นิกร ยังยืนยันว่า ไม่มีใครส่งสัญญาณมา เราพิจารณามา 3,800,000 คดี ที่เกี่ยวเนื่องทางศาลไม่ได้แยกแยะให้ใช้เวลาอีกประมาณ30วัน

ส่วนหากเป็นเรื่องทุจริตจะไม่เข้าข่ายเลยใช่หรือไม่ นิกร ยังคงยืนยันว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคลในชั้นนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์