วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะผู้ยื่นเรื่องให้กรรมการตรวจสอบเรื่องข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำธุรกรรม และการชำระภาษีเกี่ยวกับการซื้อหุ้นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาทของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีการเชิญ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และอธิบดีกรมสรรพากร เข้าให้ข้อมูลด้วยว่า ประเด็นสำคัญคือการส่งเรื่องให้ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร วินิจฉัยกรณีของ แพทองธาร ที่ใช้ตั๋ว PN ไม่มีดอกเบี้ย และกำหนดการชำระเงิน สร้างรูปแบบการซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัว ว่าเข้าข่ายการหลีกเลี่ยงหรือทำนิติกรรมอำพราง ภาษีการรับให้หรือไม่
ซึ่งตนได้ย้ำไปกับทางผู้แทนกรมสรรพากร ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลาง ถามในเรื่องภาษีการรับให้ ไม่ใช่เรื่องรายได้ของบุคคลธรรมดา แต่ก็ต้องตกใจ เพราะปรากฎว่าคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรยังมีองค์คณะไม่ครบ ยังขาดผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ 3 คน ซึ่งต้องแต่งตั้ง โดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง หมายความว่าหากองค์คณะกรรมการชุดนี้ไม่ครบ ก็จะวินิจฉัยกรณีของ แพทองธารไม่ได้
ซึ่ง สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. จะเร่งทำหนังสือไปถึง พิชัย เพื่อเร่งการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ครบองค์คณะอย่างเร่งด่วน และขอทราบถึงระยะเวลาการแต่งตั้ง และเข้าใจว่าคณะนี้มีวาระ 3 ปี แต่ไม่มีกำหนดว่าจะต้องตั้งเมื่อไหร่
"ผมกังวลว่าถ้ามีการเตะถ่วง ไม่แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ทาง พิชัย จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้" วิโรจน์ กล่าว
ส่วนการแต่งตั้งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน วิโรจน์ กล่าวว่า ทาง กมธ. ก็ได้สอบถามไป ผู้อำนวยการกองตรวจสอบภาษีกลางก็ตอบว่า อยู่ในช่วงรวบรวมข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้เวลานานที่สุดเท่าไหร่ และพยายามขอไม่ตอบ เรื่องกรอบระยะเวลา
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ตนได้ตั้งคำถามระหว่างนี้หากมีประชาชนทั่วไปต้องการจะโอนหุ้นให้กับลูกที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เกิน 20 ล้านต้องเสียภาษีการรับให้ และดำเนินการตามรูปแบบ ของ แพทองธาร คือการใช้ตั๋ว PN มาแลก ทางสรรพกร จะเข้าไปจัดเก็บภาษีการรับให้หรือไม่ ก็ไม่ได้คำตอบ
ตอบแค่ว่าอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนจะเสียประโยชน์อย่างมาก คนที่ต้องการโอนหุ้นให้ลูกต้องเสียภาษี 5% ไปก่อนใช่หรือไม่ เมื่อถึงเวลาหากมีการวินิจฉัยว่ากรณีของ แพทองธาร ทำได้ สรรพากรจะไม่คืนส่วนนั้นให้กับประชาชนใช่หรือไม่ ตนจึงเสนอว่าสามารถออกระเบียบหรือออกประกาศ ว่าระหว่างดำเนินการ จะไม่เข้าไปเรียกตรวจ
ส่วนกรณีที่เข้าไปเรียกตรวจประชาชนก็สามารถอ้างได้ว่า ขอให้รอคำวินิจฉัยกรณีของ แพทองธาร ก่อน ทางผู้แทนของกรมสรรพากรก็ตอบกรรมาธิการว่า ไม่ชอบเรื่องสมมุติ เอาข้อเท็จจริง กรรมาธิการจึงถามต่อว่า ไม่ต้องสมมุติเพราะข้อเท็จจริงมีคนโอนหุ้นให้ลูกตลอด แต่ไม่ได้คำตอบ
วิโรจน์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ จะทำหนังสือ 3 ฉบับคือ
1. จะทำหนังสือถึงนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการใช้อำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรให้ครบองค์คณะ ซึ่งหากทำไม่ได้ก็จะนำไปสู่หลักฐานที่ชี้ว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ร้องต่อ ป.ป.ช.ได้
2.ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ถึงกรอบเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริง และจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรเมื่อไหร่ เช่น กรอบเวลาอย่างช้าที่สุด ที่จะนำไปร้องต่อ ป.ป.ช. ได้ และถามว่า หากประชาชนใช้โมเดลของนายกรัฐมนตรี กรมสรรพากรจะไม่ไปกล่าวหาว่าประชาชนทำความผิดใช่หรือไม่ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค
3. มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำหนังสือ เพราะปัจจุบันกรมสรรพากรยังไม่มีระเบียบในการทำงานเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี กรณีใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นใด หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะเกิดความเสียหายต่อการจัดเก็บภาษีเสียหายต่อราชการ เสียหายต่อประชาชน ซึ่งหากพบว่ามีการละเว้นหรือเตะถ่วงในหน่วยงานใด มีการยกกรณีคุณหญิงเบญจา หลุยเจริญ มาชี้เห็น ถึงโทษอาญาและจำคุกที่จะตามมา
“เพราะการลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย หรืออย่างน้อยสุญญากาศของกฎหมาย ประชาชนไม่รู้ว่า ถ้าทำตามนายกฯแพทองธาร จะได้รับการปฏิบัติในการดึงระยะเวลา เหมือนกับที่ นายกฯ ได้รับจากกรมสรรพากรหรือไม่” วิโรจน์ กล่าว