ถกเถียงกันมาหลายสิบปี สำหรับเรื่องการวาง ‘ผังเมือง’ ในพื้นที่ ‘กรุงเทพมหานคร’ กรณีกำหนดการใช้งานที่ดิน แต่ละประเภท ที่ดูไม่เหมาะสม หรือสอดคล้องกับการพัฒนาเมือง อย่างประเทศที่เจริญแล้ว จนหลายฝ่ายเชื่อว่า อาจเป็นต้นเหตุของปัญหาคาราคาซัง อย่าง จราจรหนาแน่น ความเจริญในรูปแบบกระจุกตัว หรือแม้กระทั่งการออกแบบเมืองเพื่อให้เป็นไปตามอย่างที่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ ‘นายทุน’ สามารถปรับใช้ได้ตามต้องประสงค์
อย่างการตั้งข้อสังเกตของ ‘ศุภณัฐ มีนชัยนันท์’ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ออกมาจุดประเด็น 10 ประการ ให้หน่วยงานอย่าง ‘กทม.’ ทบทวนใหม่ กรณีจัดทำแผนผังเมืองฉบับใหม่ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ ‘การกำหนดผังสี’ แบบ ‘เอื้อนายทุน’


‘สส.แบงค์’ มองว่า กทม.ทำโดยไม่มีหลักการและไร้ทิศทาง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงผังเมืองกรุงเทพฯ ในร่างปรับปรุงครั้งนี้ เป็นเพียงการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้า และการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่การวางผังเพื่อชี้นำความเจริญและกำหนดอนาคตเมือง แต่เป็นการวางผังหลังจากที่เมืองเจริญไปก่อนแล้ว และปรับผังตามการเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทาง ซึ่งการ ‘กำหนดพื้นที่สีแดง’ (พื้นที่สำหรับการพาณิชย์) อย่างไม่มีหลักการ ทำให้เห็นภาพการปะปนกระจายตัวอยู่บนพื้นที่ของ ‘นายทุน’ ไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อย ของบรรดาผุ้ประกอบการ SME
สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ กลุ่ม 'เครือข่ายภาคประชาชนคว่ำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร' ที่ออกมาแสดงทัศนะ คัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อรูปแบบการจัดการ ในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ได้จัดทำมาทั้งหมด เพราะมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการพัฒนาจนเกินสมดุล ขัดต่อเจตนารมณ์สำคัญ อย่าง 'คุณภาพชีวิตของประชาชน' ทุกระดับ แต่การจัดทำร่างผังเมืองใหม่ (ครั้งนี้) ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ กลุ่มนายทุน - อสังหาฯ ในการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกจากรัฐที่อาจงอกเงย ตามที่ 'กรณ์ จาติกวณิช' ที่แสดงความกังวล ว่าอาจเกิดการอำนวยสิทธิ์ให้กลุ่มทุนสร้างตึกสูงเพิ่มขึ้น
กระแสแรงขึ้นจนสื่อมวลชนจับจ้อง และลงพื้นที่สำรวจกันจ้าละหวั่น ‘กทม.’ ในฐานะตำบลกระสุนตก จึงต้องออกมาชี้แจง ถึงข้อวิจารณ์ในวันนี้ (9 มกราคม 2566) ตั้ังโต๊ะแถลงนำโดย ‘วิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ‘รศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์’ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ‘ชูขวัญ นิลศิริ’ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง

รองฯ วิษณุ โต้แย้งผู้วิจารณ์ว่า เนื่องจากเมืองมีการพัฒนา ฟื้นตัว และมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับนโยบายหลักที่อยากทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เมืองที่ไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ฯลฯ การปรับผังเมืองจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะนำสิ่งที่อยากให้มีบรรจุในผังเมืองใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนกลุ่มใด หากมีการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับผังสี จะต้องแบ่งส่วนหนึ่งของพื้นที่ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์สาธารณะ
พร้อมกล่าวขยายรายละเอียดว่า ปัจจุบัน ‘ผังเมืองรวม’ กรุงเทพมหานครใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน - การปรับผังเมืองใหม่ ในทุก 5 ปี และการดำเนินงานครั้งนี้ กทม.กรุงเทพมหานครโดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ได้ดำเนินการทำ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2562 เพื่อวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป
จนเกิดพระราชบัญญัติการผังเมืองใหม่ ในปี 2562 กำหนดให้ผังเมืองรวมมีรายละเอียดเพิ่มเติมจาก 4 แผนผังเป็น 6 แผนผัง จึงต้องมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ให้มีองค์ประกอบครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
“ถามว่าการปรับผังสี มันเอื้อไหม ไม่ใช่เอื้อนายทุนแต่ทุกคนได้ประโยชน์หมด แต่การได้ประโยชน์จากการสร้าง คุณต้องแบ่งประโยชน์ส่วนหนึ่งมาสู่ประโยชน์สาธารณะ เรื่องตึกก็มีกฎหมายควบคุมอาคารอยู่ไม่ให้แออัดเกินไป”
‘วิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
วิศณุ ระบุต่อว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขั้นตอนที่ 5 คือได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนมาแล้ว 7 ครั้ง พร้อมเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยจะขยายระยะเวลาการยื่นหนังสือได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 (จากเดิมสามารถยื่นได้จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567)
ภายหลัง กทม. แถลงข่าวเสร็จไม่กี่ชั่วโมง ‘สส.แบงค์’ ยังคงตั้งคำถามต่อในแอพลิเคชัน X ถามหาถึงหลักเกณฑ์พิจารณา การอนุมัติผังเมืองสีแดง และลุกลามไปถึงบริษัทปรึกษาที่อยู่เบื้องหลังการร่างผังเมือง ซึ่งศุภณัฐ ระบุว่าบริษัทดังกล่าว ได้รับการว่าจ้างทำผังเมืองอยู่ 100 กว่าล้านบาท
เรื่องนี้คงไม่ใช่คลื่นกระทบฝั่ง ที่มาแล้วจากไปโดยเร็ว แต่อาจเข้าขั้น ‘มหากาพย์’ เพราะดูแล้วก้าวไกลเองก็กัดไม่ปล่อย…