เซีย จำปาทอง สส.พรรคประชาชน อภิปรายถึงนโยบายของรัฐบาลว่า ไม่มีเรื่องแรงงาน ใน 10 นโยบายเร่งด่วน แต่ตอนที่หาเสียงนโยบายแรงงานเป็นนโยบายเรือธง จึงขออภิปราย เตือนความทรงจำ และตรวจสอบนโยบายขายฝันที่พรรคเพื่อไทยเคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนเอาไว้ พร้อมยกสโลแกนที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท 1 ครอบครัว 1 Soft Power สร้างงานใหม่กว่า 20 ล้านตำแหน่ง ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เป็นต้น ยังจำได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงเทคนิคที่มาหลอกให้ผู้ใช้แรงงานลงคะแนนให้เท่านั้น นอกจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว ยังไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรที่ได้ทำตามสัญญาให้กับพี่น้องแรงงาน ไม่รู้ว่า ลืม แกล้งลืม หรือเกรงใจกลุ่มนายทุนเจ้าสัว และสาเหตุที่ไม่เลือกกระทรวงแรงงานไว้ในกับกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่สามารถทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ได้ใช่หรือไม่ หรือคนมีอำนาจ ยิ่งใหญ่จากสวรรค์ชั้นไหนมาสั่ง หน้าตาคณะรัฐมนตรี ถึงออกมาเป็นเช่นนี้ แบบนี้มีแต่เจ็บ เจ๊า และเจ๊ง แต่สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือ เราได้รัฐมนตรีคนเดิมที่มาจากพรรคการเมืองที่ไม่มีนโยบายแรงงาน แม้แต่นโยบายเดียว 1 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับพี่น้องแรงงาน
พร้อมกันนี้ ยังเปิดข้อมูลว่า โรงงานปิดตัวไป 1,519 แห่ง และถูกเลิกจ้าง จากการปิดโรงงานไปทั้งสิ้น 41,103 คน นี่ไม่ใช่การบริหารงานที่ควรเป็น รัฐบาลแบบไหนที่หาเสียงว่า จะสร้างงานเพิ่มขึ้น แต่บริหารงานจนโรงงานปิดตัวมากมาย มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมากขึ้นและถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกลอยแพ ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่คุ้มครองสิทธิ์ของแรงงาน ทำเหมือนสมรู้ร่วมคิดเอาเปรียบลูกจ้าง นอกจากนี้ จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานก็ลดลง ที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนโยบายหรือกิจกรรมส่งเสริมสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ นายกฯ ได้แถลงนโยบายว่า จะเร่งเจรจา ข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA และเตรียมเข้าเป็นสมาชิกองค์การ OECD ประเทศไทยจะลงนามเมื่อไหร่
ดังนั้น จึงอยากถามนายกรัฐมนตรีว่า เรื่องค่าแรงขั้นต่ำตกลงจะเอาอย่างไร เพราะนอกจากไม่มีในคำแถลงนโยบายแล้ว ซึ่งในรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน ได้ชี้แจงว่า จะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทโดยเร็วที่สุด แต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจึงไม่แน่ใจว่าโดยเร็วนี่เมื่อไหร่ ชาตินี้หรือชาติหน้า หรือชาติไหน ต่อมามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่ปรับเฉพาะบางจังหวัด เฉพาะโรงแรม 4 ดาวและมีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป และล่าสุดรัฐมนตรีได้ออกมาบอกว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทแค่บางกลุ่มอาชีพ บางไซส์ของสถานประกอบการ แต่ก่อนหน้านี้เคยบอกว่า จะปรับเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ บริหารแบบนี้บอกได้เลยว่า 3 ปีไม่มีเจ๊า มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
“ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้าง หากมีเสียงวิจารณ์รัฐบาลในทางลบ ก็จะอ้างว่าเป็นมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง แต่พอปรับขึ้น กับเคลมว่าเป็นผลงานของตัวเอง ตกลงเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน หรือเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี หากเป็นอำนาจของคณะกรรมการไตรภาคี คือจริงท่านอย่าได้เสนอหน้าให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ก่อน ที่จะมีการประชุมและได้ข้อสรุปร่วมกัน ถ้าพวกท่านไม่สามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ควรพิจารณาตัวเองด้วย ก่อนที่ประเทศจะเจ๊งไปมากกว่านี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทจะขึ้นได้ไหม ขึ้นได้กี่โมง ค่าครองชีพขึ้นไปไกลแล้ว” เซีย กล่าว
เซีย กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมาศูนย์เปล่าไปกับคำพูดขายฝัน ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มิหนำซ้ำยังปล่อยให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้นอีก แล้วเกิดขึ้นต่อเนื่องและอีก 3 ปีที่เหลือ เราจะหวังอะไรจากรัฐบาล ส่วนเรื่องกฎหมายลาคลอดตอนนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญจริงๆ ก็ขอให้บอกลูกค้าของพรรคฝั่งรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายด้วย ดังนั้น หวังว่านายกรัฐมนตรีจะให้คำตอบที่ชัดเจน พี่น้อง แรงงานจะได้รู้ว่าจริงใจ กับแรงงานอย่างที่เคยสัญญาไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก พี่น้องแรงงานสาปแช่ง และเป็นตราบาปติดตัวไปตลอด หลอกลวงให้พี่น้องแรงงานลงคะแนนให้ แต่กลับไม่สนใจเมื่อมีอำนาจ หากไม่ทำตามที่สัญญาไว้พี่น้องแรงงานจะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ได้อย่างไร
ขณะที่ สหัสวัต คุ้มคง สส.พรรคประชาชน อภิปรายในประเด็นเดียวกันถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เช่น อุตสาหกรรม EV อุตสาหกรรม Semi-conductor และในส่วนของอุตสาหกรรม Soft power ที่พูดกว้างๆ เรื่องวัฒนธรรมโดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักว่า จะเน้นด้านไหน นอกจากนี้ แผนการพัฒนาแรงงานของรัฐบาลนั้น ขาดแผนที่ชัดเจน ขาด Master plan ทำให้การพัฒนานั้น อาจจะเป็นไปไม่ได้ ตามเป้าหมายใหญ่โตที่พูด ทั้งนี้ รัฐบาลมีฐานข้อมูลกลางหรือไม่ว่าแรงงานอิสระส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมไหน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ขาดข้อมูลกลาง ก็จะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างสะเปะสะปะ แรงงานอิสระมีความหลากหลายสูงมาก มีทั้งแรงงานตามฤดูกาล รับจ้างทั่วไป แรงงานในการผลิต แรงงานก่อสร้าง แรงงานในภาคบริการ แต่ว่าแต่ละคนอยู่ในอุตสาหกรรมไหนกันบ้าง เรากลับไม่มีข้อมูลเลย
“ผมไม่อยากจะปรามาสโครงการ Soft Power ผมเห็นว่า สิ่งเหล่านี้นั้นดีและควรที่จะต้องมีคนทำให้ดี แต่ที่ผมอยากจะเน้นย้ำคือ ท่านต้องอย่าลืมว่า ประเทศที่เขาเริ่มส่งออก Soft Power หรือมี Soft Power ที่แข็งแกร่งนั้น Soft Power เองก็เป็นเศรษฐกิจรองที่หนุนเศรษฐกิจหลักอีกทีหนึ่ง” สหัสวัต กล่าว
สหัสวัต ยังกล่าวว่า รัฐบาลเองไม่เข้าใจปัญหาของแรงงานโดยเฉพาะในมิติการพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่ได้ทำนโยบายโดยตั้งอยู่บนข้อมูล เมื่อไม่มีข้อมูล ก็ไม่สามารถออกนโยบายที่เหมาะสมและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มองไม่เห็นความเป็นไปได้ เป็นนโยบายที่คิดเองเออเอง ไม่ใช่คิดใหญ่ทำเป็น แต่คิดใหญ่ ทำไม่ได้ เพราะไม่มี Master plan ค่อยๆ คิดๆ ค่อยๆ ทำ แล้วสุดท้ายผลก็จะออกมาสะเปะสะปะ ส่วนตัวอยากเห็นแผนพัฒนาฝีมือแรงงานที่ชัดเจนที่จะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้จริง จากอุตสาหกรรมเก่าที่กำลังจะตาย มาสู่อุตสาหกรรมใหม่ มีความมั่นคงทางรายได้ มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ไม่เคยสอดคล้องกัน ทั้งนโยบาย งบประมาณ และการปฎิบัติ แบบที่เป็นมา หากการพัฒนาฝีมือแรงงานล้มเหลวและไม่เกิดขึ้นจริง อาจทำให้มีคนตกงานเพิ่มนับล้านคน และเราต้องนำเข้าแรงงานมีฝีมือจากที่อื่นมาแทน นั่นเป็นเรื่องที่ไม่อยากให้เกิดที่สุด