ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาร่วมของรัฐสภา ในปลายเดือนนี้ ที่รัฐบาลส่งสัญญาณพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการยุบพรรคและจริยธรรมของนักการเมือง ว่า มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมาบ้าง ทั้งการยุบพรรคและการตรวจสอบจริยธรรม เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการพูดคุยกันก็รู้ว่าผิดหลักประชาธิปไตย
แต่เข้าใจในแต่ละพรรค ที่จะมีจุดยืนใด ๆ ในนามพรรค ก็คงต้องมีการพูดคุยกันอย่างละเอียดภายในพรรคก่อน
แต่ในเบื้องต้น สส. เกือบทั้งสภาฯ เห็นร่วมกันหมดแล้วว่า หลักการประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการตั้งพรรคและการยุบพรรค กระบวนการควรจะเป็นแบบไหน พรรคการเมืองควรตั้งง่ายและยุบยาก
อย่างไรก็ตาม คงมีการพูดคุยกันในแต่ละพรรคการเมืองอีกครั้ง และร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขก็ถูกบรรจุไปหลายร่างแล้ว ที่เสนอโดยพรรคประชาชน แต่อาจจะมีเพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจจะต้องแยกกันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะการยุบพรรคจะอยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะ
เมื่อถามถึงการประเมิน สว.ชุดใหม่ ที่จะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้นหรือไม่ ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับชุดที่แล้ว คิดว่าอย่างไรก็ง่ายขึ้น
แต่จะง่ายแค่ไหน ก็ต้องบอกตามตรงว่า ยังไม่เคยร่วมประชุมกับ สว.ชุดใหม่เลย ก็อาจจะประเมินยาก แต่หากประเมินโดยทั่วไปแล้ว สว.ชุดใหม่ ง่ายกว่าชุดที่แล้วแน่นอน 100% แต่คงต้องพูดคุยกับ สว.ในระดับวิปก่อน
ส่วนกรณีที่บุคคลนิรนาม ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยุบพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ครอบงำ’ นั้น ปกรณ์วุฒิ ก็ยืนยัน ไม่เห็นด้วยกับการที่ใครก็ตาม ยื่นยุบพรรคการเมืองด้วยข้อหาแบบนี้
โดยหลักแล้ว ด้วยข้อหาใด ๆ ก็ตาม การยุบพรรคควรเกิดจากประชาชนไม่เลือกพรรคนั้น ผมคิดว่าการที่บุคคลภายนอกมีอิทธิพลกับพรรคใด ๆ ก็ตาม เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ และสามารถตัดสินได้ผ่านคูหาเลือกตั้ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือผู้นำพรรคนั้นจะบริหารประเทศด้วยตัวเองหรือถูกชักจูงจากคนอื่น ก็เป็นสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนจะตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ ชอบหรือไม่ แต่ต้องไม่ใช่การให้คนไม่กี่คนมาตัดสินว่าผิดกฎหมาย แล้วให้คนไม่กี่คนไปยื่นยุบพรรค
ขณะที่การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นั้นฝ่ายค้านก็ทำไปตามกระบวนการปกติที่เคยทำ
ไม่ว่าจะตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อย่างไร เราก็ทำไปตามนั้น และดูว่าผลงานที่ออกมากับสิ่งที่สัญญากับประชาชนตรงกันหรือไม่ และนำพาประเทศไปสู่ทางไหน เรื่องบุคคลภายนอก ผมคิดว่าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ
กกต.รับรอง ‘พรรคประชาชน’ แล้ว
ปกรณ์วุฒิ ในฐานะรักษาการประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยด้วยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองพรรคประชาชน เป็นพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว หลังรอมานานกว่าเดือนครึ่ง
เบื้องต้น กกต.ได้ส่งหนังสือแจ้ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเตรียมข้อมูลด้านเอกสาร ป้ายชื่อ สถานะของ สส. และจากการตรวจสอบฐานข้อมูลของ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พบว่าได้มีการเปลี่ยน สถานะของ สส.พรรคก้าวไกล เป็นพรรคประชาชนแล้ว
คอนเฟิร์มเก้าอี้ ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ต้องเป็น ‘หัวหน้าเท้ง’ รอแต่งตั้งหลัง ‘รัฐบาล’ แถลงนโยบาย
เมื่อถามถึงตำแหน่ง ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภาผู้แทนราษฎร ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต้องเป็นชื่อของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน อย่างแน่นอน
ส่วนขั้นตอนการนำรายชื่อเสนอเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้รับประสานงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า เป็นช่วงหลังจากที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้
‘ประชาธิปัตย์’ แจ้งยังไม่เข้าร่วมรัฐบาล ยัน ‘ฝ่ายค้าน’ เดินหน้าต่อ
ส่วนกระแสข่าวพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล จะทำให้กระทบกับการทำงานของฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ปกรณ์วุฒิ เผยว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมประชุมฝ่ายค้าน ก็ทราบข้อมูลว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งแล้วว่ายังไม่มีการเทียบเชิญใด ๆให้เข้าร่วมรัฐบาล ดังนั้น จึงยังไม่มีกระบวนการใด ๆ อย่างเป็นทางการ และพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่มีการนัดประชุมเพื่อพูดคุยกันในเรื่องนี้
คิดว่าควรจะต้องรอข้อเท็จจริงถึงจะตัดสินได้ แต่หากในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลจริง ๆ ก็ไม่มีปัญหาในการทำงานของพรรคฝ่ายค้าน เพราะเราก็ต้องเดินหน้าต่อ ไม่มีปัญหา
ส่วนหากพรรคพลังประชารัฐ ต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องกลายมาเป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาชนจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หากเกิดเหตุการณ์ 1 พรรค 2 ระบบ ไม่แน่ใจในกระบวนการว่า สามารถนับเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านได้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะกลุ่มใด พรรคใดก็ตาม มีความประสงค์แล้วแจ้งมาว่าจะทำงานเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราก็เปิดรับทุกพรรค
โดยอาจจะต้องมีการพูดคุยการทำงานว่า เรื่องไหนไปด้วยกันได้ จะเอาอย่างไร เพราะยืนยันมาตลอดว่า โดยสภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ พรรคที่ไม่ถูกเชิญไปร่วมรัฐบาล ดังนั้น ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกัน
ที่ผ่านมา ผมก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว เรื่องไหนที่ผมเห็นว่า บางพรรคอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ผมก็จะไม่ขอมติจากพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ จะเป็นการพูดคุยกันของแต่ละพรรค ยกเว้นวาระที่สำคัญ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จำเป็นต้องใช้มติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลัก
เมินถูกโดดเดี่ยวในสภาฯ เหตุยังมี ‘ไทยก้าวหน้า-เป็นธรรม’ ร่วมอุดมการณ์
เมื่อถามถึงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการลอยแพพรรคประชาชน ให้เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว ปกรณ์วุฒิ ก็บอกว่า “ไม่หรอกครับ” เพราะในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยเห็นมาแล้ว อาจจะมีสภาวะที่เป็นฝ่ายค้านแทบจะพรรคเดียว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีพรรคเป็นธรรม และพรรคไทยก้าวหน้า ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่
ส่วนพรรคไทยสร้างไทย เขาก็ยังยืนยันว่า ในอนาคตยังอยากที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายค้านอยู่ และไม่ได้มีความคิดจะไปร่วมรัฐบาล ส่วนในอนาคตก็ต้องดูกันต่อไป