‘เพื่อไทย’ จ่อถกหัวหน้าพรรคร่วม ดันแก้ รธน.ทั้งฉบับ ปัดกดดัน สว.บ้านใหญ่ให้เดินตาม

30 ก.ย. 2567 - 09:48

  • ‘ชูศักดิ์’ จ่อถกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ดันแก้ รธน.ทั้งฉบับให้ชัด หลังวุฒิสภาเตรียมหักสภาฯ กลับไปใช้มติ 2 ชั้น

  • ปัดกดดันส่งสัญญาณ สว.บ้านใหญ่ให้เดินตาม เปรยอาจลดขั้นตอนทำประชามติเหลือแค่ 2 ครั้ง

  • รับกังวลอาจล่าช้า ไม่ทันเลือก อบจ. ต้นปีหน้า

Pheu Thai-pushes-to-amend-the-entire-constitution-Prepare-to-discuss-with-SPACEBAR-Hero.jpg

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภามีแนวโน้มที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยให้ฟื้นการใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวหรือเสียงข้างมากธรรมดา ว่า เราต้องดูว่าท้ายที่สุดมติวุฒิสภาจะเห็นตามกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภาอย่างไรหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากลับมาสองชั้น ก็แตกต่างจากมติของสภาฯ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องเอาข้อบังคับมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งอาจต้องมีหารตั้ง กมธ.ร่วมกัน

ชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ ที่กำหนดให้ทำพร้อมกับการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 68 ซึ่งไม่สามารถทำได้ อาจต้องมีการแยกการพิจารณาทำคนละครั้ง 

ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องคุยกันให้ชัด ว่าการเดินต่อไปควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เราจะทำเลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งแนวทางนี้จะทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้อง 3 ครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการ และใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ตนจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าควรจะเดินไปอย่างไร

เมื่อถามว่า การกลับไปทำประชามติ 2 ชั้นทำให้การผลักดันรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ หรืออาจยากขึ้นใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ จึงต้องหารือว่าเราควรจะเดินอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง

เมื่อถามว่า การคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง จะส่งผลไปถึง สว. หรือไม่ ในการปรับการแก้ไขจาก 2 ชั้นให้เหลือเพียงชั้นเดียวตามที่สภาฯ เคยเห็นชอบ ชูศักดิ์ กล่าวว่า ตรงนั้นเกินไทม์ไลน์ไปแล้ว ต้องปล่อยเป็นดุลพินิจของ สว. แต่สมมติว่าสถานการณ์เป็นอยู่แบบนี้ โดยวุฒิสภากลับมาใช้เกณฑ์ลงมติ 2 ชั้น ในฐานะรัฐบาลก็มีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็มาเริ่มต้นพูดคุยกันดีหรือไม่ ว่าท้ายสุดควรจะเดินไปอย่างไร จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น และนโยบายรัฐบาลก็ยังมีอยู่โดยได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว แต่ขั้นตอนคือควรพูดคุยแก้ไขปัญหากันอย่างไรเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้

เมื่อถามว่า การพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องการให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลต่อ สว.ด้วยใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดแบบนั้นมันไม่ดี เอาเป็นว่าตนขอเสนอให้มานั่งจับเข่าคุยกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ว่าถ้า สว.เดินไปแบบนี้แล้วรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร 

เลื่อนถกร่าง กม.นิรโทษกรรม ‘ชูศักดิ์’ หวังฟังความเห็นหัวหน้าทุกพรรคก่อน

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 3 ตุลาคม นี้ ว่า ร่างกฎหมายจะสำเร็จเป็นกฎหมายได้ ก็เป็นเรื่องของ สส. และ สว. ที่จะต้องเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะเป็นอย่างไร 

ส่วนตัวคิดว่าทางออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ เพราะพรรคการเมืองบางส่วนได้เสนอร่างกฎหมายขอให้มีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง บางส่วนบอกว่าหากนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแล้ว ก็ให้รวมกับคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่ขณะนี้ร่างกฎหมายทั้งหมดรวมถึงรายงานของกมธ.วิสามัญนิรโทษกรรมฯ ชุดที่ตนเป็นประธานก็ยังค้างอยู่ในสภาฯ กำลังรอการพิจารณา 

“ผมคิดว่าเพื่อให้เป็นไปได้ดีที่สุดและละมุนละม่อมที่สุด ควรนำเรื่องทั้งหมดไปหารือกับหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเพื่อให้ตกผลึก แต่ท้ายที่สุดแล้วพรรคการเมืองจะมีความเห็นอย่างไร พร้อมจะเสนอร่างกฎหมายด้วยหรือไม่ ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในสภาฯ ฉะนั้น หากเราไม่ฟังกันเมื่อมีการเสนอและพิจารณากันแล้วก็จะคล้ายกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ผมจึงได้ปรึกษานายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) อยากให้เลื่อนวาระออกไปเพื่อรอฟังความคิดเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งไม่น่าสายเกินไป” ชูศักดิ์ กล่าว 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีบางพรรคออกมาบอกว่าไม่ขอรวมการนิรโทษกรรมมาตรา 112 ชูศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นต้องให้เขาตกผลึกมาว่าเป็นเช่นนี้ เวลามาพิจารณากันก็จะเห็นภาพและตัดสินใจได้ถูก ซึ่งตนทราบดีว่าบางพรรคต้องการและบางพรรคไม่ต้องการ เพราะตนเป็นประธาน กมธ.มาก็ทราบดี เพราะได้มีการพูดคุยกันใน กมธ.เพียงแค่ไม่ได้มีการเชิญพรรคต่างๆ มาพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ ฉะนั้น จึงคิดว่าฟังหัวหน้าพรรคการเมืองดีที่สุดว่าเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ เพื่อเดินหน้าต่อไปจะได้ถูก 

เมื่อถามว่า จะต้องมีการคุยอย่างเป็นทางการหรือไม่ หรือตีกรอบไว้เมื่อไหร่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้นายวิสุทธิ์เป็นคนทำหน้าที่ ซึ่งอาจจะพูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นัดหัวหน้าพรรคมาพูดคุย และในการพูดคุยอาจจะรวมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปด้วย เพราะถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องคุยกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์