‘พิธา’ ชี้ รบ.คุมเครือปมเมียนมา จี้แถลงชัดเจนยึดหลักสากล

9 เมษายน 2567 - 09:51

Pita-advises-the-government-to-make-a-clear-statement-on-Myanmar-issues-adhering-to-international-principles-SPACEBAR-He.jpg
  • ‘พิธา’ ชี้รัฐบาลคุมเครือไม่ชัดเจนปมเมียนมา อัดคนออกมาแจง 5 คนพูดไม่ตรงกัน ทำให้เกิดข้อสงสัย

  • จี้แถลงอย่างเป็นทางการยึดหลักสากล สิทธิมนุษยชน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์กรณีท่าทีรัฐบาลต่อการที่ทางการเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด จ.ตาก ว่า อย่างที่ตนได้สื่อสารไปหลายทิศทางว่าอยากเห็นความโปร่งใส และรายงานสถานการณ์ให้กับคนในพื้นที่ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่ก็ได้รายงานมาที่ สส.พรรคก้าวไกล 

นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเพิ่มเติม ซึ่งพอรัฐบาลไม่ได้มีการชี้แจง ทางตนและพรรคก้าวไกลจึงตั้งคำถามให้มีการแถลงเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ตอบสนองมาทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ X ของนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ , แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ , คำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงกลาโหม ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคุมเครือไม่ชัดเจน ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

“หลักของเราก็คือว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามหลักกฏหมายสากล และเรื่องสิทธิมนุษยชน มีความเท่าเทียมกัน แล้วอธิบายได้ ตรวจสอบได้ ถามได้ ผมคิดว่ามันจะคลายข้อสงสัยและเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ เป็นประโยชน์กับทางรัฐบาลเอง”

พิธา กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาพใหญ่ก็อยากจะย้ำสิ่งที่พูดกับนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าอยากให้เข้าสู่ปัญหาอย่างรอบด้านมากขึ้น เพราะกลุ่มในประเทศเมียนมามีหลายกลุ่ม และแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันออกไป ถ้าเข้าสู่ปัญหาไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็จะดูว่าเราทิ้งน้ำหนักไปให้ฝั่งนั้น และจะไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ 

อย่างที่สอง เป็นเรื่อง Inter Agency Myanmar Task Force ในประเทศไทย หรือกองกำลังเฉพาะกิจที่จัดการเรื่องนี้โดยตรง เพื่อจะทำงานในเชิงรุกมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่านายปานปรีย์ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ในเที่ยวบินนั้นไม่มีคนหรืออาวุธ แต่ก็ยังไม่กลับ การให้สัมภาษณ์และแถลงของส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวาน จะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ พิธา กล่าวว่า ก็จะยิ่งไม่มีความชัดเจน บางทีจุดประสงค์ของการแถลงที่กระทรวง ก็เพื่อจะลดข่าวลือ เพื่อจะให้ความมั่นใจกับประชาชนในพื้นที่และคนไทยว่าประเทศไทยจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง

พิธา กล่าวต่อว่า สำหรับการออกมาชี้แจงของรัฐบาลในเรื่องนี้ นายปานปรีย์ก็เป็นคนที่ 5 ที่ออกมาพูดแล้วไม่ตรงกัน ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีสิ่งที่ร่ำลือกันในพื้นที่ว่ามีคนในจังหวัดเมียวดีไปด้วยหรือไม่ มีผู้จัดการธนาคารไปหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้เชื่อ แต่ถ้าจะจบทุกเรื่อง รัฐบาลจะต้องแถลงเป็นเรื่องเป็นราว

ส่วนจะเป็นการชักศึกเข้าบ้านหรือไม่ พิธา กล่าวว่า น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ตามมา ในเชิงการต่างประเทศเราต้องมีช่องทางที่ไม่ให้เกิดสิ่งที่ลุกลาม ซึ่งตนคิดว่านายปานปรีย์น่าจะเข้าใจ ถ้าไม่แถลงให้ชัดเจนก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากกว่านี้ ย้ำว่า รัฐบาลควรต้องต่อสายไปที่คนในพื้นที่ ชนกลุ่มน้อย และกลุ่ม NUG

“เขาเล่าให้ผมฟังว่าติดต่อทางรัฐบาลหลายครั้งแต่ว่าไม่ยอมที่จะเจรจาด้วย ตอนที่อยู่เจนีวา ประชุมรัฐสภาโลก IPU ก็มีคนของทางเมียนมาไปที่เจนีวา เขาก็ได้พูดความในใจของฝั่งเขาว่า พอ Diplomacy ของไทยไม่รอบด้าน สิ่งที่เขาพูดหรือเสนอก็ไม่ได้รับฟัง ผมคิดว่าในเมื่อน้ำหนักมันมาแบบนี้แล้ว มันถึงเวลาที่จะต้องเข้าถึง อย่างน้อยก็ต้องพูดคุยทั้ง 3 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นชาติพันธ์ แต่ละรัฐก็เป็นผู้นำของตัวเอง , กลุ่ม NUG และรัฐบาลทหารในปัจจุบัน” พิธา กล่าว

พิธา กล่าวด้วยว่า ถ้าเราอธิบายให้รัฐบาลทหารฝั่งว่าเราต้องการข้อมูลที่รอบด้าน ครบถ้วน จะทำให้เราเข้าใจในสถานการณ์เมียนมาดีขึ้น ก็จะสามารถวางยุทธศาสตร์ได้มากขึ้น

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติว่าช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะเข้าไปพูดคุยเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะอาจจะเป็นจุดที่เขาอ่อนกำลัง พิธา กล่าวว่า ตนเห็นด้วย แต่ไม่น่าออกสื่อ เรื่องพวกนี้เป็นยุทธศาสตร์การทูต ไม่ควรจะพูดว่าเขากำลังอ่อนแอ แล้วเราจะขอไปคุยกับเขา

“ผมไม่สามารถไปพูดกับเขาได้ว่าตอนนี้รัฐบาลอ่อนแอที่สุด ขอใช้โอกาสนี้ในการพูด” 

พิธา กล่าวด้วยว่า ต่างชาติทั้งในอาเซียนเอง และประเทศมหาอำนาจ ก็รอท่าทีที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ไม่เช่นนั้น ยุทธศาสตร์ 5 ข้อของอาเซียนจะไปไม่ได้ ตอนนี้ก็รอบทบาทไทยร่วมกับอาเซียนอยู่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์