เรียกว่าเป็นการ ‘ต่อลมหายใจ’ ให้กับ ‘พรรคก้าวไกล’ หลังศาล รธน. มีคำสั่งให้ กกต .ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานประกอบคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ภายใน 17 มิ.ย. ก่อนพิจารณาต่อ 18 มิ.ย.นี้ ภายหลัง ‘พรรคก้าวไกล’ ส่งคำชี้แจง 3 หมวดหมู่ 9 ข้อ ให้กับศาล รธน. ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ก่อนศาล รธน. ได้เตือน ‘พรรคก้าวไกล’ งดแสดงความเห็นชี้นำศาล แต่สุดท้าย ‘ก้าวไกล’ ยังคงจัดแถลงต่อสู้คดีฯ เมื่อ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำหรับ 9 ข้อที่ ‘ก้าวไกล’ สู้คดีได้แก่
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้
2. กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. คำวินิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค. 2567 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้
4. การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
5. การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค
6. โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
7. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9. การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับ กก.บห. ในช่วงที่ถูกกล่าวหา
เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดจะพบ ‘ถ้อยความ’ ที่สื่อนัยยะลึกๆ โดยเฉพาะเรื่องการ ‘พิจารณาลงโทษ’ ที่ต้อง ‘ได้สัดส่วน’ สอดคล้องกับที่ ‘ถูกกล่าวหา’ ในแง่หนึ่งก็ถูกตีความว่าเป็นการ ‘ยอมรับ’ อ้อมๆ หรือไม่?
ทั้งนี้ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ทำเรื่อง ‘คำชี้แจง’ ข้อกล่าวหาโดยตรง มองกรณีที่ศาล รธน. ให้ กกต. ยืนหลักฐานเพิ่มว่า ศาล รธน. เห็นประเด็นสำคัญของ ‘คำชี้แจงข้อกล่าวหา’ ของพรรคฯ ที่ส่งไป
แต่ต้องติดตามว่า 18 มิ.ย.นี้ ศาล รธน. จะพิจารณาเปิดไต่สวนหรือไม่ หลังพรรคได้ยื่น ‘บัญชีพยาน’ เพิ่มเติมไป พร้อมขอให้การ ‘ไต่สวน’ เป็นไปอย่างเปิดเผย เพื่อให้ ‘คำวินิจฉัย’ เป็นที่ยอมรับ
สิ่งที่ ‘ชัยธวัช’ ย้ำหนักคือกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แถลงไว้ว่า กกต. ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนกำหนด ให้ผู้ถูกร้องต้องมีโอกาสได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาก่อน
กกต. ยื่นคำร้องยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ซึ่งต้องดำเนินการประกอบกับมาตรา 93 ที่ระบุว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ กำหนด
ในประเด็นนี้ กกต.ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อยื่นยุบพรรคนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งออกมาเมื่อเดือน ก.พ.2566
‘พิธา’ กล่าวว่า ระเบียบดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้งต้องให้พรรคการเมืองมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา และเมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ก็ให้เสนอ กกต. พิจารณา และในกรณีที่ กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียน จึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคได้
เป็นหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนดเป็นระเบียบออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ และ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ยังไม่มีระเบียบนี้ออกมา ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่เคยมีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง หรือนำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการของ กกต. เพราะฉะนั้นการยื่นคำร้องในคดีนี้ขัดกับระเบียบที่ กกต. ตราขึ้นเอง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย พอเป็นมาตรา 92 ต้องลงมาที่นายทะเบียนพรรค ไม่ได้หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้วฟ้องได้เองเลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงมาตรา 93 กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าว 9 มิ.ย.67
ล่าสุด ‘ชัชธวัช’ สำทับเพิ่มว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกลจะไปยื่นบัญชีเอกสารเพิ่มเติม เป็นคำให้สัมภาษณ์ของประธาน กกต. เอง ซึ่งเราเห็นว่านี่เป็นการยอมรับโดยตัว กกต. เองว่าตัวเองไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ กกต.กำหนด ในการยื่นยุบพรรค ตามมาตรา 92 และ 93 ที่ประกอบด้วยระเบียบที่ กกต. เป็นคนกำหนดกฏเกณฑ์ออกมา เราเองก็จะไปยื่นเพิ่มเติมเหมือนกัน เพื่อประกอบข้อต่อสู้
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์เช่นนี้ ‘พรรคก้าวไกล’ ก็ต้องมี ‘แผนสำรอง’ ผ่านการหา ‘พรรคสำรอง’ ให้ สส. ย้ายพรรคไป หากสุดท้าย ‘พรรคก้าวไกล’ ถูกยุบ จะมีเงื่อนไขทางเวลาที่ สส. ต้องสังกัดพรรคใหม่ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันถุกยุบพรรค ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่า ‘ถูกขับออก’ ที่ต้องสังกัดพรรคใหม่ภายใน 30 วัน
แต่ปัญหาในขณะนี้มี 2 ส่วน ในส่วนแรก สส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็น ‘กรรมการบริหารพรรค’ ที่อาจถูกตัดสิทธิการเมือง จะชิง ‘ลาออก’ จากเก้าอี้ สส. หรือไม่ เพื่อเปิดทางให้มีการ ‘เลื่อนลำดับ’ สส.บัญชีรายชื่อ ขึ้นมา ทำให้เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อ ตามจำนวนที่ ‘พรรคก้าวไกล’ มีอยู่ ไม่ถูกตัดออก-เสียสิทธิ เฉกเช่นเมื่อครั้ง ‘อดีตพรรคอนาคตใหม่’ ที่เก้าอี้ สส.บัญชีรายชื่อ หายไปเลย
ส่วนที่ 2 คือ สส.บัญชีรายชื่อ สส.เขต ที่ไม่ได้เป็น กก.บห. จะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ทันหรือไม่ ที่ในขณะนี้ใน ‘ทางลับ’ อยู่ระหว่างการหาพรรคใหม่ ที่ต้องมีความพร้อมไปถึง ‘สาขาพรรค’ ที่ในขณะนี้ยังติดขัด จึงต้องจับตาว่าจะมีการ ‘เทคโอเวอร์’ พรรคใดหรือไม่ หรือนำไป ‘ฝากเลี้ยง’ ไว้ที่พรรคใดก่อน เพราะมีกระแสข่าวว่ามี ‘บุคคลในตำนาน’ เสนอยื่นมือมาช่วยหาพรรคใหม่ให้ เปรียบเป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ในขณะนี้
อย่าลืมว่า ‘ก้าวไกล’ ก็ประกาศจุดยืนไว้ชัด จะไม่ยอม ‘ข้ามขั้ว’ มาเป็นรัฐบาล มิเช่นนั้นจะเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์’ จึงต้องจับตาว่า ‘ก้าวไกล’ จะมี ‘เทคนิคการเมือง’ อย่างไร? เพื่อไม่ให้ ‘เสียคำพูด’ แบบโจ่งแจ้ง เพราะรองรับ สส. ที่ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ และรับสภาพ สส. ที่จะย้ายไปพรรคอื่น ที่ไม่ใช่พรรคที่วางแผนเอาไว้
ซึ่ง ‘ขั้วอนุรักษนิยม’ ก็ได้สัญญาณในเรื่องนี้ ทำให้เกิด ‘ความหวาดระแวง’ ต่อบุคคลในตำนานดังกล่าว อีกทั้งทำให้สถานการณ์ ‘การเมืองอึมครึม’ ในหลายเรื่อง ที่อยู่ในช่วง ‘ยื้อเวลา’ เพื่อทำการ ‘เจรจาต่อรอง’ ที่ส่งผลเป็น ‘ลูกโซ่การเมือง’ เกี่ยวโยงกันทั้งหมด