อ่านฉากทัศน์การเมือง หลัง 'พิธา' กลับเข้าสภาฯ

25 ม.ค. 2567 - 11:58

  • อ่านฉากทัศน์การเมือง หลัง 'พิธา' กลับเข้าสภาฯ คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ‘เพื่อไทย’ ในฐานะรัฐบาลต้องปรับตัวอย่างไร กับการวิเคราะห์แง่มุมจากสองนักรัฐศาสตร์ 'รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต' และ ‘รศ.ยุทธพร อิสรชัย’

Pitha-Move-forward-Party-parliament-SPACEBAR-Hero.jpg

นับตั้งแต่วินาทีที่ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยคืนสมาชิกภาพ สส. ให้แก่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ถือเป็นการหวนคืนสู่รัฐสภาอีกครั้ง หลังหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวมากว่า 189 วัน  

หลายคนเลือกหยิบประเด็นนี้มาสัมพันธ์ กับเรื่องคะแนนนิยมของพรรคก้าวไกล ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะช่วงจังหวะการตั้งไข่ของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ อาจไม่ได้ซู่ซ่าอย่างที่คิด เป็นผลมาจากการขาด ‘หัวเรือ’ ที่เปรียบดั่งศูนย์รวมใจของชาวด้อม (ส้ม) และความถดถอยจากมรสุมภายใน ที่ก่อตัวเป็นคลื่นหลายระลอก คอยซัดถาโถมสร้างความบอบช้ำ บั่นทอดแรงศรัทธามาโดยตลอด 

แม้บางคนจะบอกว่ายังไม่ถึงขั้นหืดขึ้นคอ เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง ‘รัฐบาล’ โดยเฉพาะ ‘พรรคเพื่อไทย’ ก็ยังดูลุ่มๆ ดอนๆ เดินเป๋ไปเป๋มา และมีแวว ‘กินแห้ว’ ทำนโยบายหาเสียงสำคัญไม่สำเร็จ โดยเฉพาะ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ยังไม่มีทีท่าจะออกสตาร์ตได้ 

คะแนนนิยม ‘ก้าวไกล - เพื่อไทย’ กำลังสวนทางกัน  

การคัมแบ็กของ ‘หนุ่มทิม’ รอบนี้จึงดูเข้าที เพราะนอกจากการกู้วิกฤติศรัทธาของกองเชียร์แล้ว ยังสามารถเป็นกลไกสำคัญ ในการสร้างจุดสนใจในฐานะ ‘ฝ่ายค้าน’ ทำให้ประชาชนสนใจตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น เฉกเช่นความเห็นของ 'รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต' ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ที่ให้ความเห็นว่า การกลับคืนสู่การทำหน้าที่ในรัฐสภาของ ‘พิธา’ ด้านหนึ่งทำให้การทำงานของฝ่ายค้านมีพลังมากขึ้น ในการตรวจสอบการทำนโยบายของรัฐบาล และสร้างความน่าสนใจ ดึงดูดให้สาธารณชนติดตาในลักษณะการเฝ้าระวังทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งในอีกแง่มุมอาจสร้างความหวั่นไหวให้กับรัฐบาลเช่นเดียวกัน 

“เมื่อฝ่ายค้านมีการตรวจสอบอย่างแหลมคม ควบคู่ไปกับมีผู้คนติดตามเป็นจำนวนมาก ย่อมทำให้โอกาสที่รัฐบาลเกิดการเพลี่ยงพล้ํา ไม่สามารถตอบคำถามหรือสร้างความชัดเจนให้แก่สังคมได้ มันก็จะส่งผลต่อคะแนนนิยมที่มีต่อพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วย แต่จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้มีพาวเวอร์ถึงขนาดทำให้เห็นได้ชัดเจนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ”

พิชาย ยกตัวอย่าง กรณีการตรวจสอบนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่ก่อนหน้านี้มี ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ เป็นหัวหอกอยู่ แต่เมื่อมีพิธาเข้ามาช่วยเสริมในด้านการสื่อสาร อาจจะทำให้ผู้คนหันมาสนใจติดตามมาก ช่วยให้ สส. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบทำงานง่ายขึ้น แต่ต้องจับตาดู การแถลงแผนการทำงานพรรคก้าวไกลต่อจากนี้ (กำหนดการคือแถลงวันที่ 26 มกราคม 2567) จะทิศทางอย่างไร

“มันต้องเกิดการเปรียบเทียบกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายใหญ่ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการแบบไม่สามารถได้เลยของพรรคเพื่อไทย กับนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่นำเสนอมุมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง ผมคิดว่ากระแสตอนนี้คนจำนวนมาก เขาไม่สนใจเมกะโปรเจกต์ใหญ่ๆ แต่เขาสนใจแผนงานที่สามารถแก้ไขปัญหาฐานรากให้เกิดอย่างยั่งยืนในระยะสั้นและระยะยาว หากพรรก้าวไกลทำแผนดี ใช้ความกล้าหาญเข้าสู้สิ่งที่เพื่อไทยไม่มี ย่อมเป็นคุณต่อเรื่องคะแนนนิยม ช่วงขณะที่คนกำลังเสื่อมศรัทธาในตัวพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้น”

รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวทิ้งท้าย

‘พิธาคัมแบ็ก’ ไม่มีผลต่อความนิยมแบบมีนัยสำคัญ 

แต่ในมุมของ ‘รศ.ยุทธพร อิสรชัย’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กลับมองว่า การกลับมาทำหน้าที่ สส. ของ ‘พิธา’ อาจไม่ได้ส่งผลต่อความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคเพื่อไทย อย่างเป็นนัยสำคัญ เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาล ย่อมถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว ในฐานะเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่จะเป็นคุณต่อพรรคก้าวไกล ในช่วงจังหวะที่พรรคขาด ‘แม่เหล็ก’ โดยเฉพาะในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งถัดไป ก้าวไกลจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการทำการเมืองนอกสภาฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขา (พิธา) เคลื่อนไหวได้ดีมาโดยตลอด  

“ผมคิดว่าบริบทของพรรคเพื่อไทยตอนนี้ต่างกับอดีต ดังนั้นการที่พิธาหวนคืนสู่แกนนำฝ่ายค้าน จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลมากนัก หากเทียบองคาพยพที่มาจากหลายพรรค และมีอิทธิต่อการจัดตั้งรัฐบาล ประการนี้ย่อมสำคัญกว่า อีกทั้งทุกวันนี้หลายหน่วยงานจดจ่อต่อการเฝ้าตรวจสอบรัฐบาลเข้มข้นอยู่แล้ว ทำให้ภาพของก้าวไกลเป็นเพียงตัวแปรอย่างหนึ่งของเครือข่ายทั้งหมดเท่านั้น เรื่องคะแนนเสียงอย่างมากก็ดึงกันไปมา ตามแบบฉบับของพรรคที่มีแฟนคลับใกล้เคียงกัน แต่พิธาไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญขนาดนั้นในระยะสั้น”

ยุทธพร อธิบายต่อว่า ในห้วงแรกของการกลับมาของพิธา อาจไม่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านคะแนนเสียงมากนัก เพราะขึ้นอยู่กับการทำนโยบายของพรรคเพื่อไทยด้วย ว่าจะสามารถทำสำเร็จแล้วรักษาฐานเสียงได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากในระยะยาวพิธา ไม่ประสบกับอุบัติเหตุการเมืองใด ก็อาจสร้างความกังวลให้กับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพราะเดิมทีก็เป็นขวัญใจของประชาชนอย่างมากอยู่แล้ว ถ้ายังดำรงฐานะเป็น สส. อยู่จนครบวาระก็อาจมีผลต่อแรงศรัทธาที่อาจผันแปรได้ทุกเมื่อ 

ส่วนกระแสของพิธาตอนนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการลดภาพปัญหาความวุ่นวายภายในหรือไม่  ยุทธพรมองว่า อาจพออุดช่องโหววอันเป็นจุดอ่อนของพรรคได้บ้าง แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ขึ้นอยู่กับพรรคต้นสังกัดในการบริหารจัดการคน ซึ่งสิ่งที่อยากให้ทุกคนโฟกัสต่อจากนี้ คือการทำหน้าที่เป็น ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ มากกว่ากระแสความปรีดาที่ออกมาในลักษณะผิวเผิน

“ต้องยอมรับว่ากระแสการกลับคืนสู่ สส. ของคุณพิธา เป็นเรื่องที่พูดกันอย่างคึกคักในเชิงแม่เหล็กดูดความนิยม แต่ประชาชนไม่ควรปล่อยผ่าน เรื่องการทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ที่กล้าตรวจสอบประเด็นในทุกมิติของสังคม เพราะทุกคนจับตาคุณอยู่ มันจึงเป็นบทพิสูจน์ที่แท้จริงของพรรคก้าวไกลและคุณพิธาต่อจากนี้ครับ”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์