ย้อนเหตุการณ์ ‘เศรษฐา’ VS ‘แบงก์ชาติ-ป.ป.ช.’

8 ก.พ. 2567 - 07:41

  • พาไปย้อนเหตุการณ์ ‘เศรษฐา’ VS ‘แบงก์ชาติ-ป.ป.ช.’ ที่สุดท้าย ‘นายกฯ’ ต้องรับสภาพ?

pm-srettha-nacc-national-bank-digitalwallet-SPACEBAR-Hero.jpg

ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ สำหรับ นายกรัฐมนตรีที่มีชื่อว่า ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นับตั้งแต่นโยบายไฮไลท์ของพรรคเพื่อไทยอย่าง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่แม้ว่า นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จะเข้าหารือกับ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่ 6 ก.ย.2566 พร้อมมีคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล แต่ก็ได้ย้ำเตือนถึงการวางแผนเกี่ยวกับระบบการเงินการคลังระยะกลางและระยะยาวของประเทศ เช่น ตัวเลขหนี้สาธารณะจะขึ้นลงอย่างไร หากดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 

จากนั้น 16 ก.ย.2566 ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยแนะว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ควรเป็นรูปแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มากกว่า เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องการเงิน 1 หมื่นบาท เนื่องจากสิ่งที่ขาดจริงๆ อาจไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการลงทุนมากกว่า และสิ่งที่สำคัญในการทำนโยบาย จะต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดเจน เช่น ภาพรวมรายจ่าย หนี้การขาดดุล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเรื่องวินัยการคลัง การบริหารภาพรวมฐานะการคลังให้อยู่ในกรอบในทุกมิติ เข้าใจว่า รัฐบาลต้องมีนโยบายตามที่แถลงไว้ แต่ต้องดูว่า จะทำอย่างไรที่จะไม่กระทบต่อเสถียรภาพมากจนเกินไป

ย้อนเหตุการณ์-‘เศรษฐา’-&-‘แบงก์ชาติ-ป.ป.ช.’.jpg

ผ่านไป 1 เดือนจากการพบกันครั้งแรก ในวันที่ 2 ต.ค.2566 ‘นายกฯ เศรษฐา’ ใช้เวลา 45 นาที ปิดห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือส่วนตัว กับ ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ เป็นครั้งที่ 2 แม้นายกฯ จะออกมายืนยันว่า เป็นการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจและการเงินทั่วไป แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การเรียกตัวเข้าพบครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 ซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศหรือไม่?

ในระหว่างนั้น ก็มีความเคลื่อนไหวจากฟาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 27 ต.ค.2566 พล.ต.อวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา และดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จำนวน 31 คน โดยมี ‘มือปราบจำนำข้าว’ อย่าง ‘สุภา ปิยะจิตติ’ เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักความเป็นกลาง เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการทุจริต อีกทั้ง นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อน ดังนั้น ป.ป.ช. จึงมีเป้าหมายศึกษาให้รวดเร็วควบคู่กับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

นี่เองทำให้การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ข้อท้วงติงจากฝ่ายอื่นๆแล้ว ป.ป.ช.ยังถึงขั้นตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจัง แต่ในระหว่างรอความเห็นของ ป.ป.ช. ‘นายกฯ เศรษฐา’ ก็ต้องแก้ปัญหาเศรษฐาให้ประชาชนไปพลางๆ โดยเรียกคุย ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ในวันที่ 10 ม.ค.2567 เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีรายงานว่า มีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างนายกรัฐมนตรี กับแบงก์ชาติ ในกรณีแบงก์ชาติส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ

ต่อมา 6 ก.พ.2567 รัฐบาลออกมากดดันอย่างหนัก พร้อมกระทุ้งไปถึงแบงก์ชาติ ขอให้ลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือ 2.25% โดยนายกฯ เศรษฐา มองว่า เงินเฟ้อกับดอกเบี้ยเป็นเรื่องใหญ่ เชื่อว่าพื้นที่ในการลดดอกเบี้ยมีอีกเยอะ เราได้พูดคุยกันชัดเจนอยู่แล้ว คงเป็นเรื่องความเห็นต่างหรือเรื่องทิฐิก็ไม่ทราบ

“เรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝากไว้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีการประชุมกัน” นายกฯ เศรษฐา ทิ้งท้าย

แต่แล้ว ข้อท้วงติงของ ‘เศรษฐา’ กลับไม่เป็นผล เพราะในวันรุ่งขึ้น 7 ก.พ.67 ‘กนง.’ ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดยให้เหตุผลว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบัน ไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ ราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 

นอกจากถูกเมินข้อทักท้วงแล้ว ในวันเดียวกัน  ป.ป.ช.ยังออกมาแถลงเตือน 8 ข้อเสนอแนะ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ถึง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ พร้อมชี้ว่า มีความเสี่ยงต่อการทุจริตและผิดกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อีกทั้งการต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 เป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งแม้ว่า ป.ป.ช. ป.ป.ช.จะไม่มีอำนาจยับยั้ง แต่ก็ออกตัวแรงไปแล้วว่า ‘ไม่อยากเป็นลูกหนี้ร่วม’

ลำพังแค่ปม ‘อัตราดอกเบี้ย’ ก็สะเทือนรัฐบาลไม่ใช่น้อย และการจะแตะต้อง ‘ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ’ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมี พ.ร.บ.ธปท.ตีกรอบป้องกันเอาไว้ หาก ครม.จะมีมติให้ออกจากตำแหน่ง จะต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความประพฤติที่เสื่อมเสียอย่างร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ แต่ก็ต้องผ่านด่านคณะกรรมการ ธปท. ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะแตะต้อง

แล้วสุดท้ายชะตากรรม ‘เศรษฐา’ บนเก้าอี้นายกฯ จะเป็นอย่างไร? จะถึงขั้นทำอะไรไม่ได้ จนต้องรับสภาพหรือไม่?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์