การเมืองนอกสนามของ 'พิธา - แพทองธาร'

1 พ.ย. 2566 - 05:48

  • วิเคราะห์การเมืองนอกกระดาน ผ่านการรุกคืบของ ‘พิธา - แพทองธาร’ สู่ฉากทัศน์การคืนสู่อำนาจของ ‘ทักษิณ’ ในมุมมองของ ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’

Political-advantage-between-Phae-Thongthan-and-Pitha-SPACEBAR-Hero.jpg

ฉากหน้าซีกรัฐบาล ‘เสี่ยนิด’ เศรษฐา ทวีสิน เปรียบเป็น ‘เบอร์ 1’ กุมอำนาจบริหารครบวงจร ขณะที่ ‘กุนซือต๋อม’ ชัยธวัช ตุลาธน ผู้รั้งตำแหน่ง ‘หัวหน้าพรรค’ และ ‘แกนนำฝ่ายค้าน’ ต่อจาก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ในภาวะพรรคตกต่ำ   

ยิ่งเป็นช่วงที่สปอตไลต์ฉายจับจ้องไปที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ผู้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง ‘กัปตันเพื่อไทย’ มากเท่าไหร่ ฉากหลังที่ฉายเป็นเงาตามตัวเป็นทอดๆ จากคนสู่อีกคนได้ไม่ยาก จึงอย่าลืมชื่อ ‘หนุ่มทิม’ ที่กล่าวไปด้วย เพราะกำลังจะเอามาผสมโรง เทียบเคียงดีกรี ในฐานะ ‘ผู้เล่นนอกสนาม’  

การเมือง : นอกสังเวียน 

เมื่อพรรคเพื่อไทยตัดสินใจปรับทัพครั้งใหญ่ยก ‘อุ๊งอิ๊งค์’ บุตรสาวคนเล็กของ ‘พ่อแม้ว’ ขึ้นเป็น ‘แม่ทัพ’ สลัดคราบ ‘พ่อทัพ’ คนก่อนๆ ที่เป็นชายวัยลายคราม กระโดดเข้าเกมกระดานเยี่ยงนารีขี่ม้าศึก เข้าประหัดประหารในสังเวียน ‘คนรุ่นใหม่’ ขณะเดียวกันก็ฉายภาพเป็น ‘ร่างจำแลง’ ของตำนานคนดัง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ควบคู่ไปกับตำแหน่งเป็นบอร์ดงานสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา  

ขณะที่ฟากฝั่งพรรคก้าวไกล ที่แม้จะพบกับความผิดหวังตั้งแต่ ‘พิธา’ ตกเก้าอี้ ‘เบอร์หนึ่งไทยคู่ฟ้า’ และพรรคไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่บทบาทของเขาในฐานะ ‘แม่เหล็ก’ ยังคงทำหน้าที่ได้ดีอยู่ เรียกให้สวยหรูก็มิต่างอะไรกับ ‘ผู้นำทางจิตวิญญาณ’ ของด้อมส้ม ล่าสุดร่วมงานกาล่าดินเนอร์ หลังติดลิสต์ TIME100 Next 2023 ก็แต่งหล่อเดินโฉบกลางนิวยอร์กซิตี้ ทำเอาสาวแก่แม่มjาย กรีดกรายไปตามๆ กัน 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะแพทองธาร หรือพิธา ทั้งคู่ต่างมีสถานะเดียวกัน คือ  

1) เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ที่ไม่ได้เป็น ‘นายกฯ’  

2) ทั้งคู่ไม่ได้เป็น ‘สส.’ และไม่มีบทบาทอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐสภา  

แต่ทั้งคู่มี ‘โจทย์ใหญ่’ ในการพาต้นสังกัดคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบหน้าบทบาทนอกสังเวียน จึงเป็นที่จับตาอยู่ไม่น้อย… 

ว่าด้วยตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทยป้ายแดง ก็ได้รับบทบาทสำคัญจาก ‘นายกฯ นิด’  ยกเก้าอี้ ‘รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์’ และ ‘ประธานบริหารขับเคลื่อนยกระดับบัตรทอง’ ที่มองได้หลายแง่มุมว่า ‘ให้ชิมลางการเมือง’ และ ‘สร้างผลงานไปในตัว’  

อีกทั้งยังปลุกใจค่ายแดงให้ฮึกเหิม โดยการประกาศภารกิจ โดย 1 ใน 4 ่ข้อนั้น มีนัยที่น่าสนใจ อย่างคำเชิญชวนให้สร้างเครือข่ายครอบครัวเพื่อไทยให้มั่นคงแข็งแรง และผลักดันให้มีทุกพื้นที่ของประเทศ ประหนึ่งเรียกระดมพลเบี้ย เข้ากรำศึก 

ณะที่ฟากฝั่งของพรรคก้าวไกลก็ใช่ย่อย เพราะมีข่าวติดๆ กันออกมาว่า มีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคจำนวนกว่า 4,000 คน ในรอบ 1 เดือน  

งานนี้แข่งกันระดมแฟนคลับกันตั้งแต่ไก่โห่ มีมากกว่าความได้เปรียบในอนาคตย่อมเป็นต่อ 

แล้วใครภาษีดีกว่ากัน ?  

“นี่เป็นยุคแรกที่คุณทักษิณมีอำนาจทางการเมืองเต็มมือหลังถูกรัฐประหาร และสามารถใช้นอมินีที่เป็นนายกฯ คุุมงานบริหารได้เบ็ดเสร็จ และการที่ให้ลูกสาวคุมพรรค ถือเป็นทั้งการแก้ปัญหาภายในและภายนอก นี่คือโอกาสที่เขาจะปูทางไปสู่การเลือกตั้งรอบหน้า ภายใต้องคาพยพที่เป็นคุณต่อตนเอง ขณะที่คุณพิธาและพรรคก้าวไกลยังคงมีจุดแข็งเรื่องคะแนนนิยม แต่เหมือนเขากำลังทำลายทุนของเขาเอง ผ่านประเด็นสังคมอื้อฉาวทั้งเรื่องการไม่วิพากษ์วิจารณ์ทักษิณ และเรื่องที่ปกปิดอำพราง สส. คุกคามทางเพศ” 

เป็นความเห็นของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณะบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่วิเคราะห์ถึงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองระหว่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ และ ‘พรรคก้าวไกล’ โดยมองผ่านบทบาทของ ‘แพทองธาร’ และ ‘พิธา’ ณ เวลานี้่ 

‘โอฬาร’ ขยายความให้ฟังว่า ทั้งคู่มีความเหมือนและแตกต่างกัน สิ่งที่คล้ายคลึงกัน มีอยู่เพียงประการเดียว คือการเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของพรรคการเมือง 

ความต่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ไม่พ้นเรื่อง ‘ประสบการณ์’ และ ‘หนทางเข้าสู่การเมือง’ ที่พิธาดูจะมีแต้มต่อที่ก้าวหน้ามากกว่า เนื่องจากเคยเป็น สส. ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ เคยทำงานในสภามาแล้วถึง 4 ปี ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเมือง และสามารถสะสมความมั่นใจของประชาชนมาได้อย่างต่อเนื่อง 

กลับกันสำหรับแพทองธาร ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีบทบาทในการเป็น สส. และหนทางสู่ถนนการเมืองก็ไม่ได้มาในนามของปัจเจกบุคคล แต่มาด้วยการหนุนหลังจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งไม่เคยขึ้นเวทีดีเบตทางการเมืองเลย แม้ในช่วงที่เข้มข้นที่สุด อย่างการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา  

อย่างไรเสีย หากมองในภาคปัจจุบัน สถานะของพิธาและพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะไม่แน่นอน และมีหลายประเด็นที่ดูถดถอยลง ในฐานะของพรรคฝ่ายค้าน ที่ควรจะตรวจสอบกรณีสำคัญหลายประการ แต่กลับดูเพิกเฉยหรืออำพรางอะไรบางอย่าง ไม่ตรงไปตรงมาแบบช่วงหาเสียง อย่างการตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมของนักโทษชายทักษิณ ก็ไม่มีให้เห็นหรือแม้แต่ข่าวลือของขั้นตอนการตรวจสอบ สส. ในพรรค คุกคามทางเพศที่มีลักษณะปกปิดซ้อนเร้น ทั้งๆ ที่พรรคพยายามวางบรรทัดฐานทางสังคมมาโดยตลอด  

“2 กรณีนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคก้าวไกล ขณะที่คุณอุ๊งอิงค์กับพรรคเพื่อไทย สำหรับผมคิดว่ามีโอกาสมากทีเดียวที่จะประสบความสำเร็จ (ที่สูงกว่านี้) คือการได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมประเมินจากทิศทางของชนชั้นนำ ที่ถูกก้าวไกลบังคับให้ต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและแพทองธาร ในการรักษาอำนาจในสมัยหน้า” 

‘โอฬาร’ ขยายความว่า การประเมินชุดนี้เสมือนเป็นการ ‘มองป่าทั้งป่า’ ที่ทักษิณ ชินวัตร พยายามจะใช้โอกาสที่ฟากฝั่งอนุรักษ์นิยม มีความจำเป็นต้องใช้พรรคเพื่อไทย เป็นที่มั่นต่อสู้กับพรรคการเมืองหัวก้าวหน้า และที่สำคัญตัวของทักษิณเอง ก็ทราบดีว่า ตนเองมีอิทธิพลเหนือความคิดพรรคก้าวไกล (บางคน) อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลไม่กล้าตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ และการตั้งแพทองธารขึ้นมาในช่วงจังหวะนี้ ก็เหมาะสมต่อการสืบทอดอำนาจ และการคืนสู่อำนาจที่แท้จริงหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ  

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การแสดงสถานะของ ‘พจมาน ดามาพงศ์’ ที่ก่อนหน้านี้มักจะไม่ปรากฎตัวในสาธารณะเลย แต่เมื่อแพทองธารขึ้นมามีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยแล้ว ‘คุณหญิงอ้อ’ ก็ออกงานอย่างภาคภูมิแบบไม่ได้เห็นมาหลายปี 

ในประเด็นที่แพทองธารได้รับตำแหน่งสำคัญทั้ง ‘บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์’ และ ‘บอร์ด 30 บาทพลัส’ จะเป็นคุณทางการเมืองมากน้อยเพียงใด หากเปรียบเทียบกับบริบทของพิธา ณ ขณะนี้ นักรัฐศาสตร์จาก ม.บูรพา ให้ความเห็นว่า อุ๊งอิงค์ย่อมมีภาษีเหนือกว่า 2 ประการ  

หนึ่ง คือสามารถช่วยฟื้นคืนความทรงจำให้กับผู้คน เพื่อให้นึกถึงความสำเร็จในอดีต เพราะการติดชื่อในบอร์ดสำคัญต่างๆ ล้วนมีความสัมพันธ์กับนโยบายของพรรคไทยรักไทยในวันวานทั้งสิ้น  

สอง แพทองธารสามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ผ่านการสะท้อนศักยภาพของเธอเอง ให้สานต่อจากปัจจุบันไปสู่อนาคต อีกทั้งยังได้เรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดินด้วย ซึ่งแตกต่างกับพิธา ที่ปัจจุบันเดินสายเป็นแม่เหล็ก ทำแต่จะรักษาฐานมวลชน จนผู้คนเกิดความสับสน ว่าสรุปแล้วจะเป็นนักการเมือง ดารา หรือเซเลป กันแน่ 

“พิธาไปถ่ายแบบอย่างงี้ เข้าใจว่าเขาพยายามรักษาคะแนนนิยม แต่ตอนนี้ไม่มีใครเห็นว่า พิธาจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนเลย จริงๆ แม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถทำได้ อย่างคุณอุ๊งอิงค์แม้จะไม่ได้เป็น สส. แต่ก็เริ่มทำแล้ว และมันจะทำให้คนคิดถึงอดีตที่รุ่งโรจน์ของไทยรักไทย พร้อมๆ กับเป็นการปูทางให้พ่อของเธอกลับมาได้อย่างสง่างาม” 

ในประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า พิธาอาจไม่ใช่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอีกต่อไป แต่จะเป็น ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่จะกลับมาเป็นหัวเรือหลัก ในการสู้ศึกเลือกตั้งรอบ โอฬารเชื่อว่าอาจเป็นไปได้  

พร้อมตั้งคำถามชวนมองต่อว่า การเมืองของพรรคก้าวไกลตอนนี้ เหมือนจะมี ‘การเบรก’ อะไรบางประการเอาไว้ อย่างการที่ ‘ชัยธวัช’ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค แล้วถูกโจมตีถึงความเข้มข้นในการตรวจสอบบางอย่าง ที่ดูลดทอนหายไป  

“มันเหมือนเป็นการเบรกเพื่อไม่ให้พรรคก้าวสูงเกินไป เพื่อให้อยู่ในเกมของการต่อรองชนชั้นนำทางการเมือง คือมันสามารถไปได้มากกว่านี้ อย่างที่ผมบอกว่าถ้าก้าวไกลตรวจสอบ 2 เรื่องนั้น ซึ่งทางการเมืองมันไม่มีความบังเอิญ แต่มันเหมือนมีการดึงเบรคมือเอาไว้ให้หยุดอยู่แค่นี้” โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวทิ้งท้าย    

‘หนุ่มทิม - สาวอิ๊งค์’ ต่างคนต่างเดินคนละเส้น วิ่งคนละทาง แต่หากวิเคราะห์ตามมุมนักวิชาการแล้ว คงมีคนหนึ่งรอด คนหนึ่งร่วง  

แต่เกมนี้ยิ่งดูยิ่งสนุก มันซับซ้อนซ่อนเงื่อนจริงแท้ หรือใครจะเถียง โดยเฉพาะประเด็นส่งท้ายบทความ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์