ทำไม ‘อันวาร์’ นิยาม ‘ทักษิณ’ เป็น ‘รัฐบุรุษ’

17 ธ.ค. 2567 - 09:11

  • วิเคราะห์พลังคอนเนคชัน ‘ทักษิณ - อันวาร์’ การให้นิยาม ‘รัฐบุรุษ’ ดาบสองคม ‘รัฐบาลไทย’

Political-analysis-of-Thaksin-Shinawatra-and-Seri-Anwar-Ibrahim-SPACEBAR-Hero.jpg

กลายเป็นประเด็นร้อนทันที สำหรับกรณีที่ ‘เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม’ นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันรัฐมาเลเซีย ได้ลงนามแต่งตั้ง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะของ ‘บิดา’ ของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ เป็น ‘ที่ปรึกษาส่วนตัวประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ หรือ ‘ที่ปรึกษาประธานอาเซียน’ เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อมาเลเซียรับตำแหน่งในปีหน้า 

หนึ่งในคำกล่าวของ ‘อันวาร์’ ที่กลายเป็นกระแสเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คือ การยกย่องคุณสมบัติของอดีตนายกฯ ทักษิณ ระหว่างการแถลงข่าวเนื่องในเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ ‘แพทองธาร’ ในฐานะแขกของรัฐบาลมาเลเซีย มีใจความว่า

“ขอบคุณที่ตกลงตามนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษท่านนี้”

‘ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกับทั้งการให้บทบาท ‘ทักษิณ’ และผลสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับภูมิภาคนั้น เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญในระดับของแกนนำซึ่งเป็นเรื่องปกติ อย่างโดยเฉพาะกับประเทศที่มีผู้นำดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  

แต่สิ่งที่มาเลเซียกำลังดำเนินการแต่งตั้งผู้นำ - อดีตผู้นำ ในประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นภาคีในลักษณะของที่ปรึกษา สามารถจำแนกใจความสำคัญได้ 3 ประการ 

ประการที่ 1 มาเลเซียต้องการยกระดับตัวเอง ในฐานะของประเทศสำคัญของนานาชาติ โดยเฉพาะการประกาศนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ รวมถึงการเพิ่มบทบาทตนเอง ในฐานะประเทศมุสลิมระดับโลก อย่างการเสนอเข้าแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ฉนวนกาซา และพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ  

ประการที่ 2 มาเลเซียต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคอาเซียน โดยหลักๆ คือเหตุการณ์ความรุนแรงในสหภาพเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ต่างก็ล้มเหลวในการเข้าไปมีส่วนร่วมยุติสงคราม รวมถึงประเด็นข้อพิพาทแถบทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กับกลุ่มประเทศอาเซียน  

ประการสุดท้าย การร่วมแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ต้องจับตา เพราะหากยึดตามหลักข้อเท็จจริง มาเลเซียคือแหล่งพักพิงอย่างเป็นทางการของแกนนำผู้ก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม แม้ที่ผ่านมาจะยื่นมือเข้าเป็นตัวกลางในการประสานเจรจากับรัฐบาล-หน่วยงานความมั่นคงไทย แต่ก็ยังไม่สำเร็จสักทีเดียว ดังนั้นการที่ ‘ทักษิณ’ เข้าไปมีตำแหน่ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ให้สำเร็จ รวมถึงการพัฒนาเรื่องคุณภาพชีวิตตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น 

อย่างไรเสีย หากมองในมิติการเมือง มาเลเซียทางตอนเหนือ (ติดกับสามจังหวัดชายแดนใต้ไทย) ถือเป็นฐานเสียงหลักให้ ‘อันวาร์’ ดังนั้นจึงต้องติดตามเรื่องการผลักดัน ภายใต้มิติที่ซับซ้อน ว่าจะการเชื่อมโยงถึงการแก้ปัญหาจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ปณิธาน เชื่อว่า ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากจุดตั้งต้นเรื่องผลประโยชน์ของมาเลเซียเป็นหลัก และหากอดีตนายกฯ ทักษิณ เข้าไปต้องทำหน้าที่อย่างระมัดระวัง อย่าให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายสำคัญของมาเลเซีย คือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และการปักหลักทางอุตสาหกรรม แถบพื้นที่ชายแดนติดกับไทย  

ถึงแม้ว่าการแต่งตั้ง ‘ทักษิณ’ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนจะเป็นไปอย่างชอบธรรม แต่การที่ ‘อันวาร์’ ยกย่องให้อดีตนายกฯ ไทยขึ้นเป็น ‘รัฐบุรุษ’ ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงนิยามการใช้ในเชิงรัฐศาสตร์ - การทูต ปณิธาน แสดงความเห็นว่า ในส่วนของผู้นำมาเลเซีย อาจมีความเห็นอกเห็นใจทักษิณ ในฐานะที่ส่วนตัวเคยถูกดำเนินคดีทางการเมืองมาก่อน (เป็นที่รู้กันว่าเกิดขึ้นที่เมืองไทย) ซึ่งการพยายามยกบทบาทของอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเป็นให้รัฐบุรุษ เป็นในมุมยกย่องส่วนตัวของอันวาร์เท่านั้น

“ถ้าร่วมกันได้จนทำให้สถานการณ์ภาคใต้คลี่คลาย และเราสามารถจัดแจงเรื่องระเบียบชายแดนได้จริง เราก็ได้ประโยชน์ แต่ทุกคนก็ไม่มั่นใจ เพราะอดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ถูกครหาเรื่องการจัดการพื้นที่ 3 ชายแดนใต้มาตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันในรัฐบาลแพทองธาร ก็ยังไม่สำเร็จ ถูกมองว่าไม่สนใจถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยซ้ำ ก็คงต้องดูต่อไปว่าต่อจากนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน”

ปณิธาน กล่าว

ส่วนสมมติฐานที่หลายฝ่ายเชื่อกันว่า ‘ทักษิณ’ และ ‘รัฐบาล’ กำลังเดินเกมเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ผ่านมิติของการใช้เครื่องมือของภูมิภาค เข้ามาสร้างภาพลักษณ์ให้กับตนเองและพรรคการเมือง นักวิชาการด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองว่า มันเป็นการได้และสมประโยชน์ ระหว่างผู้นำ - อดีตผู้นำระดับประเทศอยู่แล้ว 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น อาจฉายภาพความไม่พร้อมของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ในมิติการแก้ปัญหาความไม่สงบต่างๆ (โดยเฉพาะชายแดนภาคใต้) ทั้งการกำหนดแนวทางการพูดคุยสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งการที่ทักษิณได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาอาเซียน มุมหนึ่งอาจเป็นการสร้างคุณในส่วนของการเข้าสู่ฐานเสียงของคนภาคใต้ได้ง่ายกว่าเดิม เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มีฐานเสียงที่มั่นคงในภูมิภาคดังกล่าว จึงอาจมองว่าเป็นการอุดช่องว่างผ่านการทำงาน - สัมพันธ์ร่วมที่ดีต่อกันกับรัฐบาลมาเลเซีย

“การยกให้เป็นรัฐบุรุษ อาจเป็นความเห็นใจที่มีต่อคุณทักษิณ และเป็นการแสดงให้นานาชาติรับรู้ว่าทั้งเขา (อันวาร์) และอดีตนายกฯ ไทย มีลักษณะใกล้เคียงกันคือถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ข้อเท็จจริงคุณทักษิณถูกดำเนินคดีและมีคำตัดสินว่ามีความผิด มันก็ไม่สามารถไปลบล้างอะไรได้ ซึ่งมาเลเซียจะยกให้ใครเป็นรัฐบุรุษก็ได้ แต่ก็เป็นแค่มุมเขาเราไม่ได้ยก แต่ความสัมพันธ์หลังจากหมดยุคของรัฐบาลเพื่อไทยไปแล้ว ก็อาจจะมีปัญหาแรงกว่าเดินหลังจากนี้”

ปณิธาน กล่าวทิ้งท้าย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์