อ่านการเมืองตำรับ ‘ภูมิใจไทย’ อ่านคนได้ ใช้คนเป็น

10 ม.ค. 2567 - 20:29

  • อ่านฉากทัศน์การเมืองของ ‘ภูมิใจไทย’ ผ่านกลยุทธ์บริหารกระทรวงของ ‘อนุทิน’ ที่สอดคล้องกับสำนวนจีนยุคขุนพล ‘อ่านคนได้ ใช้คนเป็น’ กับบทวิเคราะห์จาก ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ และ ‘สติธร ธนานิธิโชติ’

Political-concept-of-bhumjaithai-party-SPACEBAR-Hero.jpg

ว่ากันตามจริง ภาพความเคลื่อนไหวของ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในทุกๆ อิริยาบถ มักกลายเป็นกระแสพูดถึง ถูกนำเสนอในแทบทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ภาพแอคชัน’ ขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับ ‘ข้าราชการ’ หรือ ‘เจ้าหน้าที่อาสาสมัคร’ ภายใต้การนำของเจ้ากระทรวง ‘เสี่ยหนู’ นับตั้งแต่ ‘กระทรวงหมอ’ มาจนถึง ‘กระทรวงคลองหลอด’ 

ย้อนกลับไปช่วงหลังการเลือกตั้ง 2562 จบสิ้น ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่อนุทิน ได้เข้ามาเป็น ‘รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข’ ในเวลาที่ประเทศไทยและโลกสากล กำลังเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แม้จะมีข้อครหาอยู่บ้างในบางเรื่อง อย่าง ความล่าช้าในการนำเข้าวัคซีน หรือการสบประมาทไวรัสในช่วงแรกของการแพร่ระบาด  

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเข้ารูป ตีวงควบคุมจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตได้มากขึ้น ผ่านการใช้ระบบ ‘อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน’ หรือ ‘อสม.’ ที่เข้าช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับบุคลากรทางการแพทย์  ‘หมอหนู’ ก็ได้รับคำชื่นชมยกใหญ่ จากการวางแผนใช้คนอย่างมีประสิทธิภาพ และกล่าวคำอำลาจากกระทรวงหมอได้อย่างไม่เคอะเขิน 

มาถึงวันนี้ ได้รับตำแหน่งสำคัญเป็น ‘รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย’ กระทรวงเกรดเอ เบอร์ต้นๆ ของประเทศ จากโควต้าร่วมรัฐบาล พร้อมเก้าอี้ สส.จำนวน 71 ที่นั่ง อนุทินก็ยังสร้างผลงาน นำทีม ‘เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน’ ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบจับกุม ‘ผับเถื่อน’ ที่ปล่อยให้มีการเสพยาเสพติด และปล่อยให้บุคคลอายุไม่ถึงเกณฑ์กำหนดเข้าสถานบันเทิง จนเกิดภาพ ‘เสี่ยหนูเข้าผับ’ เป็นไวรัลช่วงขณะหนึ่งบนโลกออนไลน์ 

การนี้จึงเห็นได้ว่า เสี่ยหนูถือเป็นนักบริหารมือฉมังค์ สามารถใช้สรรพกำลังที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงได้อย่างเต็มอำนาจ ซึ่งสามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นลำดับดังนี้  

  • หากนับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน อนุทินในฐานะรัฐมนตรี โควต้า ‘พรรคภูมิใจไทย’ สบโอกาสได้คุมกระทรวงใหญ่ ที่มีบุคลากรระดับการปฏิบัติจำนวนมาก และประจวบเหมาะกับสถานการณ์ ‘สร้างวีรบุรุษ’ ผ่านการเลือกใช้เจ้าหน้าที่เข้าทำงานช่วงวิกฤติ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมกับ กรณีที่สังคมอยากให้รัฐแก้ไขอย่างจริงจัง  
  • บุคลากรระดับปฏิบัติการ ที่อยู่ภายใต้สังกัดมีจำนวนมาก และมากด้วยกำลังที่เพียบพร้อม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ อสม. ทั้งประเทศจำนวนประมาณ 1 ล้าน 5 หมื่นคน ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ก็มีขุมกำลังกระจายอยู่ทั่วประเภท จำแนกจำนวนได้หลายระดับ ทั้ง กองอาสาฯ เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยไปจนถึงหน่วยงานรัฐท้องถิ่นต่างๆ  
  • อนุทินในฐานะรัฐมนตรี มีนโยบาย ‘เพิ่มค่าตอบแทน’ และ ‘ให้สวัสดิการ’ กับผู้ปฏิบัติงาน ในลักษณะการเสริมสร้างกำลังใจ อย่าง การขอเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษ อสม. ก่อนอำลาตำแหน่ง หลายฝ่ายมองว่า เครือข่ายอาสาสมัครเหล่านี้ กลายเป็นขุมกำลังในลักษณะ ‘หัวคะแนนจัดตั้ง’ ที่สร้างปรากฏการณ์ให้ภูมิใจไทย ขึ้นรั้งเป็นอันดับ 3 ของการเลือกตั้งใหญ่

ประเด็นเหล่านี้ มองผิวเผิน คือการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของรัฐมนตรี แต่หากมองในมิติทางการเมือง อนุทินถือว่าเป็นผู้ใช้อำนาจได้อย่างชาญฉลาด เข้าตำรับสำนวนจีนยุคขุนศึก ที่ว่า ‘อ่านคนได้ ใช้คนเป็น’ ใช้อำนาจและทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นผลงานโบว์แดงที่ใครๆ ต่างพูดถึง 

ในมุมมองของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อ่านเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านวิธีเปรียบเทียบการบริหารข้าราชการประจำ จากรัฐมนตรีใน ครม. ชุดนี้ว่า อนุทิน ถือเป็น ‘เบอร์หนึ่ง’ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญและเด่นชัดที่สุด เป็นผลพวงจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ตั้งแต่สมัยเป็นนักธุรกิจ ซึ่งหลายคนมองว่า เขา (อนุทิน) บริหารงานเพื่อประโยชน์ระยะสั้น แต่หากลองพิจารณาตั้งแต่สมัยเป็น รมว.สาธารณสุข ที่สามารถควบคุมองคาพยพ ซึ่งเป็นชนชั้นนำด้านความรู้ อย่าง บุคลากรทางการแพทย์ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สามารถดำเนินตามนโยบายของอนุทินและพรรคภูมิใจไทยได้อย่างไหลลื่น (มัน) คือความสำเร็จที่เข้าได้ในระยะยาว 

หากนำมาเปรียบกับรัฐมนตรี สธ. ยุคนี้ (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) ซึ่งมีภูมิหลังเป็นหมอ ก็ยังไม่ได้ครึ่งของเสี่ยหนูในด้านการบริหารคน (ข้าราชการ) พอมาถึงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ก็สามารถกุมบังเหียนข้าราชการเขี้ยวลากดินในกระทรวงได้อย่างแยบยล 

“ถ้าให้เอาคุณอนุทินมาเปรียบกับหมอชลน่าน ในช่วงจังหวะที่ดูแล สธ. ผมว่าเรื่องการดูแลข้าราชการในกระทรวง คนปัจจุบันก็เทียบได้ไม่ถึงครึ่ง ตอนนี้มาเป็น มท.1 แล้วก็ยังเอาอยู่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงคลองหลอดเปรียบประหนึ่งรัฐซ้อนรัฐ ที่บุคลากรประจำของหน่วยงานมีอำนาจสูง ซึ่งคุณอนุทินก็สามารถมอบนโยบายให้ปฏิบัติตามได้อย่างเคร่งครัด อย่างกรณี ยาเสพติด หรือผับเถื่อน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการปกครองก็ทำงานได้มีประสิทธิภาพ ยิ่งกว่าตำรวจซึ่งขึ้นตรง กับสำนักนายกฯ เสียอีก เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากสำหรับเรื่องนี้”

โอฬาร ขยายความต่อว่า แม้หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะภูมิหลังคล้ายกับ  ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่อดีตเคยเป็นชนชั้นนำด้านธุรกิจมาก่อน แต่สำหรับ ‘นายกฯ’ ต่างกันตรงที่วิธีการแสดงอำนาจ หรือการเทคแอคชันกับข้าราชการประจำในลักษณะ ‘ปีนเกลียว’ จนทำให้หลายครั้งกลายเป็นการ ‘สร้างคลื่นใต้น้ำ’ ให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างไม่รู้ตัว มาจากทำการเมืองแบบไร้ลวดลาย อย่างที่หลายฝ่ายวิจารณ์อยู่ ณ ขณะนี้

“นายกฯ เป็นซีอีโอเจ้าของบริษัท ที่สามารถชี้นิ้วสั่งอะไรก็ได้ แต่ขาดศิลปะในการบริหาร อนุทินแม้จะเป็นซีอีโอเหมือนกัน แต่เขาอาจจะโชคดีกว่าคุณเศรษฐา เพราะเข้าสู่สนามการเมืองและมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน จึงเป็นเหมือนศิลปิน ผู้ใช้อำนาจผ่านงานศิลปะ ดูง่ายๆ อย่างการให้ความร่วมมือของข้าราชการระหว่างนายกฯ กับเสี่ยหนูมันต่างกันมาก เปรียบเป็นมวยก็กระดูกคนละเบอร์ทีเดียว”

โอฬาร กล่าวทิ้งท้าย

โอฬาร เชื่อว่า เมื่ออนุทินได้กระทรวงมหาดไทยเป็นที่มั่นสำคัญ ย่อมจะส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งด้วย ในขณะเดียวกัน ‘พรรคเพื่อไทย’ เองอาจจะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อรักษาฐานเสียงเดิมของตัวเองให้เหนียวแน่น เนื่องจากกระแส และความนิยมต่อรัฐบาลและพรรค เริ่มเสื่อมถอยหลง จากการตระบัตสัตย์พลิกขั้วผสมโรง เพียงเพื่อให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ได้กลับมาเมืองไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรค ณ ปัจจุบัน ไม่ต่างจาก ‘อนุรักษ์นิยมใหม่ ฐานเสียงจึงมีความละม้ายคล้ายคลึงกับภูมิใจไทยอย่างมีนัยยะ ตามจังหวะการเมือง ที่ ‘สองลุง’ ร่วงโรย 

สอดคล้องกับความเห็นของ ‘ดร.สติธร ธนานิธิโชติ’ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ที่มองว่า ภูมิใจไทยจะสามารถสร้างฐานเสียงได้มากขึ้น ด้วยขุมกำลังของกระทรวง ที่ทำงานอยู่ตามท้องถิ่น ในลักษณะคล้ายกับตอน (อนุทิน) อยู่กระทรวง สธ. แล้วใช้ อสม. ในการผลักดันนโยบาย จนได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งมาลำดับที่ 3   

“เสี่ยหนูแกเป็นผลผลิตจากภูมิใจไทย ซึ่งเป็นทั้งนักธุรกิจและการทำการเมืองแบบบ้านใหญ่ เขารู้ว่าการทำอะไรที่เอาคน (ราชการ) เข้ามามันได้ใจ ตอนนี้อยู่มหาดไทย เขาก็ใช้สรรพกำลังในรูปแบบเดิม แต่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และดูเข้าถึงประชาชนได้มากกว่าที่ผ่านมา คอยขับเคลื่อนนโยบาย ถือเป็นข้อได้เปรียบที่อาจจะเพิ่มฐานเสียงได้มากกว่าปี 2566 ไม่รวมกับการทำงานเชิงพื้นที่ของ สส.ภูมิใจไทย ที่เอาเป็นเอาตายกับการรักษาและเพิ่มฐานเสียง เปรียบกับเกมฟุตบอล ก็เรียกได้ว่าทำงานตลอดฤดูกาล”

สติธร อ่านฉากทัศน์ต่อว่า ความถดถอยของพรรคอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง อย่าง รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์ ทำให้แนวโน้มของประชาชนที่อยู่ปีกขวา หันมาให้ความสนใจกับพรรคภูมิใจไทยมากขึ้น อธิบายง่ายๆ คือคนเสื้อเหลืองที่ไม่มีทางเลือกเพื่อไทย หรือ ก้าวไกล และการขยายฐานเสียงด้วยการใช้มวลชน ที่เป็นเครือข่ายของรัฐย่อมเกิดผลผลิตที่งอกงามได้ไว และมีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ในเรียกแรงสนับสนุนจากกลุ่มประชาชน ที่เชื่อมั่นในระบอบรัฐราชการ 

เมื่อถามว่าทั้งหมดทั้งมวล มาจากการถอดแบบหรืออิทธิพลของ ‘เนวิน ชิดชอบ’ เบอร์หนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่ สติธรมองว่า ก่อนหน้านี้การเดินเกมของภูมิใจไทย มาในลักษณะการถอดแบบ ‘ครูใหญ่’ แต่ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย ซึ่งความไม่เหมือนเดิม ณ ที่นี้หมายถึงการขยายตัวของพรรค นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ที่แปรสภาพจาก ‘พรรคภูมิภาคนิยม’ เป็น ‘สถาบันการเมือง’ ระดับหนึ่ง

“ภูมิใจไทยเหมือนทีมฟุตบอล ที่เมื่อเห็นโอกาสย่อมไขว่คว้า เหมือนทีมที่ขึ้นสู่ดิวิชั่นที่สูงกว่า ก็ต้องฟอร์มทีมให้ชุดใหญ่ขึ้น มีขุมกำลังที่แข็งแกร่งผ่านการซื้อตัวนักเตะ เขามองไกลถึงการเป็นเบอร์หนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยซ้ำ ซึ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความพร้อมจากสรรพกำลังของพรรค และหน่วยงานราชการที่กำลังดูแลอยู่ ยิ่งเป็นช่วงขาลงของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งแล้วด้วย การเข้ามาเป็นพรรคตัวแทน ผ่านการใช้เครือข่ายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมจะมีผลในระยะยาวแน่นอน”

สติธร กล่าวทิ้งท้าย

นี่จึงเป็นข้อการันตีได้ว่า การทำการเมืองตามตำรับ ‘เสี่ยหนู’ ผ่านสำนวน ‘อ่านคนได้ ใช้คนเป็น’ อาจส่งผลต่อมิติทางการเมืองในอนาคตเป็นที่แน่นอน แต่ฉากทัศน์การเมืองล้วนเปลี่ยนได้ตามโชคชะตา จะเป็นใหญ่ในใต้หล้าหรือไม่ ‘กาลเวลา’ และ ‘ความผันแปร’ ของบ้านเมืองจะเป็นข้อพิสูจน์  

มีเพียงฟ้าดินเท่านั้นที่ย่อมรู้…

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์