ยุบก้าวไกล : กรรมการที่แท้จริง ในสนามเลือกตั้ง คือ ‘ประชาชน’

8 ส.ค. 2567 - 10:06

  • วิเคราะห์คำวินิจฉัยแบบอำนาจนำนิติศาสตร์ ‘ยุบก้าวไกล’ และแนวทางใหม่ที่ ‘พรรคส้ม’ ต้องเรียนรู้ เพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ในการเลือกตั้ง 2570 กับ ‘โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

Political-Scenario-After-the-Dissolution-movefroward-Party-SPACEBAR-Hero.jpg

“ถึงแม้เขาจะตัดสินผมไป แต่เขาตัดใจผมจากประชาชนและประเทศไทยไม่ได้” 

หนึ่งในคำพูดบนเวทีก้าวไกลไปต่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่วันนี้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณ ‘อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล’ อย่างเต็มตัว ท่าทีของเขาในวันที่ ‘พรรคถูกยุบ’ และ ‘ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง’ ยังคงเข้มแข็ง แม้ในระหว่างการปราศรัยจะมีน้ำตาอยู่บ้าง แต่มวลชนหลายคนนิยามว่าเป็น  ‘น้ำตาลูกผู้ชาย’ 

มันแปลกแต่สังเกตได้ คือบรรยากาศที่เหมือนและแตกต่างกับกรณี ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ เพราะภาพความขมขื่นดูเจือจางเบาบางกว่าปี 2563 กลับกลายเป็นท่าทีของการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ที่มาพร้อมคีย์เวิร์ดสำคัญอย่าง ‘ไปต่อ’ แสดงให้เห็นถึงการเตรียมใจมาแล้วระดับหนึ่ง ผนวกกับการวาดฉากทัศน์การเลือกตั้งปี 2570 ไว้แล้ว ในฐานะความหวังใหม่ ‘พรรคตัวแทน’ อนาคตใหม่ - ก้าวไกล 

‘อำนาจนิยมสมบูรณ์’ ของศาลรัฐธรรมนูญ

“ทิศทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มันคือการนำแนวคิดทางการเมืองมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาคำอธิบายในเชิงนิติศาสตร์ เข้ามารองรับเหตุผลเพื่อยุบพรรคก้าวไกล ”

ความเห็นของ ‘ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่วิเคราะห์ท่าทีการพิจารณาของ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ต่อคดี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ว่าเป็นการใช้หลักทาง ‘รัฐศาสตร์’ (อำนาจ) นำหลัก ‘นิติศาสตร์’ (กฎหมาย) เห็นได้จากการประติดประต่อข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาพิจารณา เพื่อให้เห็นว่ามี พรรคมีแนวคิดที่จะล้มล้างการปกครอง  

เรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงจากชัยชนะของพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งปี 2566 ได้ เพราะถือเป็นสถาปนาอำนาจที่เป็นปฏิปักต์ ต่อกลุ่มชนชั้นนำไทยหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะฝ่ายจารีต ทุนผูกขาด กองทัพ ข้าราชการ นักธุรกิจการเมือง ซึ่งหนกำจัดที่มีน้ำหนักมากที่สุดคือ นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  

ตามหลักการศาลรัฐธรรมเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการวินิจฉัย ว่าอะไรขัดหรือไม่ขัดกับกฎหมายสูงสุด แต่สำหรับประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญมีโครงสร้างมาจาก ‘อำนาจนิยมสมบูรณ์’ คือมีการออกกฎหมายพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งการมีกฎหมายรองรับ ที่มาจากอำนาจพิเศษ ในการ ‘ตัดสิน’ หรือ ‘ตัดสิทธิ์’ จนเกิดข้อถกเถียงเชิงหลักการว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินให้ ‘ยุบพรรค’ ได้หรือไม่  

ดังนั้นจึงจะเห็นบทบาท 2 ด้านของศาลรัฐธรรมญจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น 1) มีอำนาจในการวินิจฉัยได้ว่าขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้องค์กรทางการเมืองบริหารบ้านเมืองต่อได้ และ 2) มีอำนาจในการพิพากษาได้ด้วย 

ปัจฉิมบทของการเสนอแก้ไข ม.112 ? 

โอฬาร กล่าวว่า แม้หลายคนจะเข้าใจว่าเหตุยุบพรรคก้าวไกลมาจากการเสนอให้แก้ไข ม.112 จนนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง แต่หากวิเคราะห์จากคำวินิจฉัย จะพบว่าศาลไม่ได้ปิดประตูตาย และสามารถกระทำได้ แต่ต้องทำผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ 

อย่างไรก็ดี คิดว่าพรรคการเมืองที่จะมารองรับ อดีตสส.ก้าวไกล ยังคงจำเป็นต้องทำต่อ ในเรื่องการเสนอแก้ไข ม.112 เพราะเป็นนโยบายเรือธง แต่ต้องทำอย่างระมัดระวัง สุขุมคัมภีรภาพ รอบครอบมากยิ่งขึ้น ผ่านการสกัดให้ออกมาเป็นงานวิชาการมากขึ้น อาทิ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ อภิปรายถกเถียง เพื่อให้คนเข้าใจในหลักการที่ถูกต้อง และต้องไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับกิจกรรมที่ล่อแหลม เพราะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของการพิจารณาคดียุบพรรคครั้งนี้ มาการที่ศาลมองจากการดำเนินกิจกรรมของร่วมกับกลุ่มมวลชน โดยมองว่าคณะกรรมการบริหารพรรคไม่ได้กำกับสมาชิก 

นักรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า การยุบพรรคที่เกิดขึ้น ทำให้กราฟความนิยมทางการเมือง ที่ดูหยุดนิ่งภายหลังจาก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ บริหารประเทศ ฟื้นฟูขึ้น แต่พรรคใหม่ (แทนที่พรรคก้าวไกล) จำเป็นต้องเพิ่มระดับการผลักดันนโยบายอื่นๆ ที่สังคมเห็นพ้องร่วมกันด้วย อาทิ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา เพื่อรักษาและขยายฐานเสียง 

ส่วนบุคลากร ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง หลังจากนี้จำเป็นต้องทำงานคู่ขนานกับพรรคอยู่นอกสภา เพื่อบำรุงคะแนนนิยมในห้วงที่สังคมกำลังตั้งความหวัง ขณะเดียวกันบุคคลที่ยังเป็น สส.อยู่ต้องทำหน้าที่ในฐานะ ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’ จริงๆ เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร  

หัวเรือคนใหม่ควรเป็นคนแบบไหน  

ในมุมมองของโอฬาร เชื่อว่า การเริ่มต้นใหม่ของ ‘ชาวก้าวไกล’ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์ แม้วันนี้จะยังไม่ทราบว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นใคร แต่หากเป็น ‘ผู้ชาย’ ซึ่งมีรายงานว่าอาจเป็น ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ หรือ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ที่มีความแข็งกร้าวตามลักษณะทางกายภาพ อาจสร้างความกังวลเรื่อง ม.112 แต่หากเปลี่ยนโทนมาเป็น ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ ที่เป็น ‘ผู้หญิง’ ผู้มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ และเศรษฐกิจปากท้อง สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ ก็จะชูภาพความรุนแรงให้เบาบางลงขึ้น และเพิ่มภาพผู้หญิงที่มีความสามารถ ในสนามการเมืองได้เด่นชัดขึ้น

“หากคุณไหมขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะเป็นคู่เทียบทางการเมืองกับคุณอุ๊งอิ๊งด้วย แล้วมาดูกันว่าในบทบาทผู้หญิงกับผู้หญิงใครแกร่งกว่ากัน ใครมีกึ๋นมากกว่ากัน ซึ่งมันจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองอกมาในทางกระตุ้นให้ผู้หญิงได้มีบทบาทสูงขึ้น ถือเป็นมิติที่ดีต่อการพัฒนาทางการเมือง”

โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ดี ฉากทัศน์การเลือกตั้งปี 2570 ยังคงต้องรอดูต่อไป เพราะวันที่ ‘อนาคตใหม่ถูกยุบ’ ตรงกับช่วงการบริหารงานของ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ กระแสจึงไหลบ่าสู่คู่ขัดแย้งอย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ แต่ต่อจากนี้ทุกอย่าง คงขึ้นอยู่กับการวางยุทธศาสตร์ ของ ‘บ้านใหม่ก้าวไกล’ ว่าจะสร้างคะแนนนิยมให้กลับมาเหมือนเฉกเช่น การถือกำเนิดใหม่ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะท้ายที่สุด กรรมการที่แท้จริงในสนามเลือกตั้ง คือ ประชาชน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์