การเมืองแบบ ‘ผลัดใบ’ คนรุ่นใหม่ใต้ปีก ‘วัยลายคราม’ ?

27 มีนาคม 2567 - 10:21

Political-Transition-of-pheuthai-party-and-Bhumjaithai-Party-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านปรากฏการณ์ ‘เพื่อไทย - ภูมิใจไทย’ ผลัดใบ ‘วัยลายคราม’ สู่ห้วยเวลาของ ‘คนหนุ่มสาว’ กับแนวคิด ‘ไม้ประดับทางการเมือง’ และ ‘การถ่ายเทของคืนวัน’ กับ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

นับถอยหลังไม่เกิน 5 วัน มีความเคลื่อนไหวบนถนนการเมืองมากมาย เห็นได้จากข่าวสารที่ไหลบ่า ไม่ต่างน้ำป่าหน้าฝน นอกจากวาระการเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภา เพื่อให้นายกฯ และ ครม. ได้แถลงข้อเท็จจริง ในการบริหารราชการแผ่นดิน แบบไม่ลงมติ ที่ถูกพูดถึงแล้ว ปรากฏการณ์จากระดับพรรคการเมือง ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของ ‘พรรคภูมิใจไทย’ รอบนี้สร้างเซอร์ไพส์ เพราะปรากฎ 15 รายชื่อ ที่เป็น ‘วัยรุ่นเซาะกราว’ ทายาทตระกูลการเมืองสำคัญๆ ขึ้นคุมเก้าอี้ระดับนายกอง นำโดย ‘ไชยชนก ชิดชอบ’ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ‘พ่อเนวิน’ ขึ้นรั้งตำแหน่ง ‘แม่บ้านพรรค’ แทนคุณอา ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ หลังแสดงความรับผิด ลาออกจากเก้าอี้ จากกรณีถือครองหุ้นห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชัน 

ต่อมาก็มี ข่าวใหญ่ประจำสัปดาห์ เป็นวาระการคืนสู่เหย้า ‘พรรคเพื่อไทย’ ของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ วานนี้ (27 มีนาคม 2567) ซึ่งการปรากฎตัวของผู้นำทางจิตวิญญาณ จะไม่ถูกพูดขยายความไปไกล หากสื่อมวลชนและประชาชนไม่จับสังเกต ท่าทีของ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ลูกสาวคนเล็ก ในช่วงการให้สัมภาษณ์หลังมหกรรมกำลังเข้าสู่ช่วงปัจฉิมบท

"นายทักษิณ เป็นที่ปรึกษาดิฉันมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เด็ก ปฏิเสธไม่ได้ การจะบอก พ่อลูก แล้วมาครอบงำ คงไม่ใช่"

ถกกันแบบคอการเมือง หลายคนเชื่อว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับทั้งสองพรรค เข้าตำรับการทำการเมืองแบบ ‘กตัญญุตา’ หรือการเปลี่ยนผ่านแบบ ‘รุ่นสู่รุ่น’ ตามฉบับม้วนหนังเก่าของกลุ่มบ้านใหญ่ หรือกลุ่มตระกูลการเมืองใช้กันในอดีต 

จนเกิดความสงสัยว่า ‘เปลี่ยนไป’ จริงหรือเปล่า

Political-Transition-of-pheuthai-party-and-Bhumjaithai-Party-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: 'แพทองธาร' ตอบคำถามสื่อหลัง 'ทักษิณ' เดินทางกลับพรรคเพื่อไทย

ความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง ‘เพื่อไทย’ และ ‘ภูมิใจไทย’

เคยมีกูรูการเมืองหลายท่าน พูดถึงจุดกำเนิดของ ‘การเมืองแบบบ้านใหญ่’ ว่ามาจากความล้มเหลวของระบบราชการ ที่ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง บังเกิดกลุ่มคนที่มากพร้อมด้วยทุนทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่น เข้ามาเป็นที่พึ่งพิงให้กับชาวบ้านแทนกลไกของภาครัฐ ซึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง ตระกูลเหล่านี้ย่อมมีภาษีที่ดีกว่าคู่แข่งเสมอ มีการส่งต่อ ‘ทายาท’ มาจนถึงบัดนี้

ตามความเห็นของ ‘รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว’ รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  มองว่า ไม่ว่าจะพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องใช้ ‘บารมี’ หรือ ‘บุคลากรเก่า’ ในการช่วงชิงฐานเสียงอยู่ 

แม้การเลือกตั้งปีที่ผ่านมา จะแสดงให้เห็นภาพของการเมืองยุคใหม่ ที่ ‘คนรุ่นใหม่’ มีส่วนสำคัญ ต่อการขับเคลื่อนนโยบายให้ตอบสนองความต้องการของโหวตเตอร์ ที่เป็นนิวเจนเนอร์เรชัน แต่การจะสู่กับ ‘พรรคก้าวไกล’ การเลือกใช้วิธี ‘ผลัดใบ’ ส่งต่อ ‘ทายาท’ อาจทำให้ได้ทั้งแรงดึงดูดจากฐานแฟนคลับเดิม รวมถึงฐานเสียงใหม่ที่เป็นวัยแสวงหา  

ทว่าในความเหมือนตรงนี้ มีจุดตัดที่แตกต่างตรงที่ ตำแหน่งหน้าที่การบริหารภายในพรรค หากมองในมุมของพรรคเพื่อไทย แม้จะมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมองคาพยพอยู่จำนวนที่ค่อนข้างเยอะ แต่ลักษณะที่เป็นอยู่ไม่ต่างอะไรกับ ‘ไม้ประดับทางการเมือง’ เพราะอำนาจการบริหารทั้งหมด ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของ ‘คนรุ่นใหญ่’ 

ต่างกับพรรคภูมิใจไทย ที่พยายามปรับตัว โดยการดัน ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ขึ้นมาทำหน้าที่สำคัญ อย่าง ‘สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ’ ทายาทบ้านใหญ่ศรีสะเกษ และสองพี่น้องบ้านใหญ่อ่างทอง ‘ภราดร - กรวีร์ ปริศนานันทกุล’ ซึ่งเชื่อได้ว่า ไม่ได้ถูกคัดเลือกมา เพื่อเป็นนอมินีให้ผู้เฒ่า ที่มีบารมีในพรรค

“ของภูมิใจไทยเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในตระกูลการเมืองจริง แต่ทั้งหมดมีประสบการณ์ทางการเมืองมาแล้ว ขณะที่คนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทยยังไม่มีประสบการณ์ เพียงแต่วางปูทางให้ครอบครัว จะสู้ภูมิใจไทยไม่ได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวะคนรุ่นใหม่ทั้งพรรคนี้ คงยังไม่ถึงขั้นสามารถสร้างความนิยม แบบคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกลได้”

โอฬาร ถิ่นบางเตียว กล่าว

โอฬาร ได้กล่าวเตือนพรรคภูมิใจไทย ให้ระวังเรื่องการวางตัวของ ‘วัยลายคราม’ ในเรื่องการแทรกแทรงงานบริหาร หรือการขับเคลื่อนต่างๆ ประเด็นต่างๆ ภายในพรรค มิฉะนั้นอาจไม่ต่างอะไรกับพรรคอื่นๆ ที่มองคนรุ่นใหม่เป็นเพียงเครื่องมือ ในการประดับตกแต่งให้พรรคดูทันสมัยขึ้น แต่หากภูมิใจไทย สามารถทำได้จริงอย่างที่มีการนำเสนอ ย่อมจะเป็นตัวอย่างและนิมิตรหมาย ตามสาระทางการเมืองของ ‘พรรคอนุรักษ์นิยม’ ในการค่อยๆ ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป

Political-Transition-of-pheuthai-party-and-Bhumjaithai-Party-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: 'อนุทิน - ไชยชนก' นำทีมคณะกรรมการบริหารพรรค 15 คนแถลงข่าว วันที่ 24 มีนาคม 2567

สายธารแห่งเวลา กับการเมืองแบบ 'บ้านใหญ่'

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นเรื่องปรากฏการณ์ ‘ทักษิณ’ คัมแบ็กพรรคเพื่อไทย ว่า เป็นเหตุการณ์ที่อาจทำให้กำลังใจของคนในพรรคกระชุ่มกระชวยมากขึ้น แต่หากวิเคราะห์จากพฤติการณ์ทางการเมือง ผ่านการคนรุ่นใหม่ภายในพรรค (โดยเฉพาะแพทองธาร) ย่อมไม่ผิดแผกที่จะเกิดข้อวิจารณ์ ว่ายังอยู่ใต้เงาของ ‘พ่อ’ หรือยังอยู่ภายใต้การอุ้มชูจาก ‘ผู้สูงวัย’ ดูได้จากท่าทีการให้สัมภาษณ์ของเธอเมื่อวานนี้ รวมถึงการถูกประคบประหงมจากคนรอบข้าง (สมาชิกพรรค) จนเกินงาม ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย 

“อีกอย่างคือการให้สัมภาษณ์ของคุณอุ๊งอิ๊งมักจะแสดงท่าทีแบบประชดประชันมากเกินไป มันไม่เป็นผลดีเลยสำหรับการเมืองแบบคนรุ่นใหม่ ที่สังคมอยากเห็นจากพรรคเพื่อไทย เอาเขาจริงในรุ่นลูกเธอก็ได้เปรียบนะเพราะมีบารมีของคุณทักษิณอยู่เยอะ แต่การพึ่งใบบุญจนล้นเกินมันทำให้ตัวเองหายไป เรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยเอง (ไชยชนก) ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี โอฬาร ได้แสดงความกังวลต่อระบบการเมืองแบบไทยๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบกับพรรคพรรคหัวก้าวหน้า อย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ในอนาคตอาจต้องกลับกลายเป็นพรรคการเมืองที่ทำการเมืองแบบ ‘กตัญญุตา’ เสียเอง 

เนื่องจากท่าทีของผู้บริหารภายในพรรคบางคน ที่ต้องการร่วมสังฆกรรมกับตระกูลใหญ่ทางการเมืองหลายนามสกุล ซึ่งการมี ‘บ้านใหญ่' มาเป็นหนึ่งในองคาพยพ ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนั้นจะต้องอ่านคุณสมบัติของตระกูลใหญ่เหล่านี้ให้แตกฉาน

“หาบ้านใหญ่มาเป็นพวกได้ครับ แต่ต้องเป็นบ้านใหญ่ที่ทำเพื่อประชาชนและเพื่ออุดมการณ์ ไม่ใช่สายเจ้าพ่อหรือผู้กว้างขวางในทางอิทธิพล คือการเมืองบ้านเรามันคงหนีไม่พ้นกับความเป็นบ้านใหญ่ แต่คุณจะทำอย่างไรให้บ้านใหญ่เป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้จริง ไม่ใช่แค่หวังกอบโกยหรือทำเพื่ออำนาจ แต่ใครจะไปรู้วันหนึ่งบ้านใหญ่อาจไม่อยู่ในส่วนสำคัญของการเมืองไทยแล้ว วันนั้นพรรคก้าวไกลก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนเหล่านี้ แต่ต้องใช้วิธีการเฟ้นหาบุคคลที่ทำการเมืองเพื่อสาธารณประโยชน์จริงๆ มาเป็นตัวแทนพรรค”

โอฬาร ถิ่นบางเตียม กล่าวทิ้งท้าย

ดูเอาเถิด ว่าการเมืองไทยต่อจากนี้ยากทำนายแค่ไหน แต่สิ่งที่จริงแน่นอน คือ ไม่มีอะไรคงทนสถาพร แม้แต่อำนาจและบารมีทางการเมือง …

Political-Transition-of-pheuthai-party-and-Bhumjaithai-Party-SPACEBAR-Photo03.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์